svasdssvasds

ดร.สามารถ เผย ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ทั้งโลกมีผู้รับเหมาผลงานครบแค่ 2 ราย

ดร.สามารถ เผย ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ทั้งโลกมีผู้รับเหมาผลงานครบแค่ 2 ราย

ดร.สามารถ เผย การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกจะต้องผ่านด่านโหด 2 ด่านทั้งโลกมีผู้รับเหมาที่มีผลงานครบแค่ 2 รายเท่านั้น หากผ่านด่านนี้ได้ก็จะต้องพบกับด่านคะแนนด้านเทคนิค ซึ่งถูกปรับให้สูงขึ้น ถ้าผู้ยื่นข้อเสนอไม่มีผู้รับเหมาระดับบิ๊กร่วมด้วย ก็ยากที่จะผ่าน

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เผย ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ทั้งโลกมีผู้รับเหมาผลงานครบแค่ 2 ราย โดยมีรายละเอียดดังนี้

การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกจะต้องผ่านด่านโหด 2 ด่าน เริ่มด้วยด่านผลงานด้านโยธา ซึ่งผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีผลงานครบทั้ง 3 ประเภทตามที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. กำหนด ปรากฏว่าทั้งโลกมีผู้รับเหมาที่มีผลงานครบแค่ 2 รายเท่านั้น หากผ่านด่านนี้ได้ก็จะต้องพบกับด่านคะแนนด้านเทคนิค ซึ่งถูกปรับให้สูงขึ้น ถ้าผู้ยื่นข้อเสนอไม่มีผู้รับเหมาระดับบิ๊กร่วมด้วยก็ยากที่จะผ่าน !

1. ใครจะคว้าชัย ?

ขณะนี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำลังเปิดประมูลหาเอกชนมาร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) และเดินรถตลอดสายทั้งช่วงตะวันตกและตะวันออก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) ดังนั้น ผู้ยื่นข้อเสนอจึงต้องประกอบด้วยผู้เดินรถไฟฟ้าและผู้รับเหมา

ผู้เดินรถไฟฟ้าที่มีขีดความสามารถใกล้เคียงกันก็คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ผู้สนใจทั่วไปเข้าใจว่าการประมูลครั้งนี้จะเป็นการแข่งขันกันอย่างตื่นเต้นระหว่าง BEM กับ BTS แต่ผมไม่คิดเช่นนั้น เพราะคิดว่าโอกาสที่ BTS จะคว้าชัยแทบเป็นศูนย์ ! เนื่องจาก BTS คงไม่สามารถฝ่าด่านโหด 2 ด่านได้

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม.

บทความที่เกี่ยวข้อง

2. ด่านที่ 1: ผลงานด้านโยธา

รฟม. กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการก่อสร้างงานโยธา “โดยมีสัญญาที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทยที่แล้วเสร็จภายในช่วงระยะเวลา 20 ปี ครบทั้ง 3 ประเภทตามที่กำหนด” ประสบการณ์ด้านงานโยธา 3 ประเภท มีดังนี้

(1) งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินด้วยหัวเจาะ มูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท

(2) งานออกแบบและก่อสร้างสถานีใต้ดิน หรือสถานียกระดับของระบบขนส่งมวลชน มูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท

(3) งานออกแบบและก่อสร้างทางวิ่งพร้อมรางที่สาม แบบไม่ใช้หินโรยทาง มูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท

การกำหนดให้มีผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทยที่แล้วเสร็จภายในช่วงระยะเวลา 20 ปี ครบทั้ง 3 ประเภท

ปรากฏว่าผู้รับเหมาทั้งโลกที่มีผลงานครบทั้ง 3 ประเภท มีเพียง 2 รายเท่านั้น ซึ่งทั้ง 2 รายนี้เป็นผู้รับเหมาไทย คือบริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD

แต่ BTS คงไม่สามารถเชิญให้ CK หรือ ITD มาร่วมยื่นข้อเสนอกับตนได้ เพราะเชื่อว่า CK จะต้องร่วมกับ BEM อย่างแน่นอน เนื่องจาก CK เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ BEM ส่วน ITD ก็คงไม่มาร่วมกับ BTS ตามที่พอคาดเดากันได้

ดังนั้น BTS จะต้องเชิญผู้รับเหมารายอื่นที่มีผลงานด้านโยธา 1-2 ประเภท ตามที่ รฟม. กำหนด จำนวน 2-3 ราย มาร่วมยื่นข้อเสนอกับตนเพื่อทำให้มีผลงานด้านโยธาครบทั้ง 3 ประเภท ซึ่งเป็นเรื่องยาก เนื่องจากผู้รับเหมาไทยที่มีผลงาน 1-2 ประเภท ก็มีอยู่น้อย และคาดว่าคงปฏิเสธที่จะมาร่วมกับ BTS ส่วนผู้รับเหมาต่างชาติที่มีผลงาน 1-2 ประเภท แม้จะพอมีอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นผลงานในประเทศไทยนานมาแล้ว ถึงเวลานี้ไม่รู้ว่าผู้รับเหมาเหล่านั้นยังคงทำงานด้านนี้อยู่อีกหรือไม่ ?

ด้วยเหตุนี้ นับว่า BTS เจอด่านโหดด่านแรก และแม้ว่า BTS จะสามารถผ่านด่านนี้ไปได้ ก็อย่าหวังว่าจะคว้าชัย เพราะยังมีด่านโหดด่านที่ 2 รออยู่

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม.

3. ด่านที่ 2: คะแนนด้านเทคนิค

รฟม. ได้ปรับเพิ่มคะแนนผ่านเกณฑ์เทคนิค โดยเพิ่มคะแนนจากการประมูลครั้งที่ 1 ที่ถูกยกเลิกไป ดังนี้

(1) คะแนนด้านเทคนิคในแต่ละหัวข้อจะต้องได้ไม่น้อยกว่า 85% โดยได้ปรับเพิ่มขึ้นจากการประมูลครั้งที่ 1 ที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 80%

(2) คะแนนด้านเทคนิครวมทุกหัวข้อจะต้องได้ไม่น้อยกว่า 90% โดยได้ปรับเพิ่มขึ้นจากการประมูลครั้งที่ 1 ที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 85%

ดังนั้น แม้ว่า BTS จะสามารถหาผู้รับเหมา 2-3 ราย มาร่วมกับตนได้เพื่อทำให้มีผลงานด้านโยธาครบทั้ง 3 ประเภท แต่ก็คงไม่สามารถฝ่าด่านคะแนนด้านเทคนิคไปได้ เพราะคงได้คะแนนด้านเทคนิคในแต่ละหัวข้อน้อยกว่า 85% และ/หรือได้คะแนนรวมทุกหัวข้อน้อยกว่า 90%

4. สรุป

ท่านผู้อ่านคงพอมองเห็นว่า ในที่สุดจะเหลือผู้ยื่นข้อเสนอที่จะได้รับการพิจารณาข้อเสนอด้านผลตอบแทนหลังจากผ่านด่านโหด 2 ด่าน มาแล้วเพียงไม่กี่ราย ทำให้การแข่งขันในการเสนอผลตอบแทนให้ รฟม. ลดลง ส่งผลให้ รฟม. เสียโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนสูงสุด

ทั้งหมดนี้ ด้วยความหวังดี ไม่อยากให้การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกต้องหยุดชะงักลงอีกครั้งถ้ามีการฟ้องร้องกันอีก อย่าลืมว่ามีคนจำนวนมากกำลังรอใช้รถไฟฟ้าสายนี้อยู่ !

หมายเหตุ : ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ตนและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง

ที่มา : ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte

related