svasdssvasds

งานศึกษาชี้ AstraZeneca บูสเตอร์เข็ม 4 ป้องกันโอไมครอนสูง 73%

งานศึกษาชี้ AstraZeneca บูสเตอร์เข็ม 4 ป้องกันโอไมครอนสูง 73%

การศึกษาการใช้จริงในประเทศไทย เผยว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ AstraZeneca มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อโควิดโอไมครอนสูงถึง 73% หลังการฉีดเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ 4

ผลการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยทีมวิจัยจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่และคณะ พบว่าวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อโควิดโอไมครอน หลังการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ 4 (บูสเตอร์โดส)

หลักฐานการใช้จริงจากทั่วโลกแสดงให้เห็นว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ AstraZeneca มีประสิทธิผลของวัคซีน (Vaccine Effectiveness, VE) อยู่ที่ 73% (95% ช่วงความเชื่อมั่น [CI] 48-89%) ในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนที่สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว เมื่อได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ 4 โดยไม่ขึ้นกับชนิดของวัคซีนที่ได้รับก่อนหน้า โดยผู้วิจัยระบุว่า ผลการศึกษานี้เป็นข้อมูลชุดแรกที่ประเมินประสิทธิผลของวัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบสูตรไขว้ (Heterologous) สี่เข็ม

งานศึกษาชี้ AstraZeneca บูสเตอร์เข็ม 4 ป้องกันโอไมครอนสูง 73%

ผลการวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์แบบฉบับ preprint ใน Research Square

ผลการวิจัยใหม่แสดงให้เห็นว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มกระตุ้นที่ 4 (บูสเตอร์โดส) ทุกชนิดที่ทำการศึกษามีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนสูงถึง 75% (VE 75%, 95% CI 71-80%) โดยประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 ของ AstraZeneca นั้นอยู่ที่ 73% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับใกล้เคียงกับวัคซีน mRNA อื่น ๆ ที่ทำการศึกษาในงานวิจัยนี้ซึ่งมีค่าประสิทธิผลอยู่ที่ 71% (VE 71%, 95% CI 59-79%) โดยประสิทธิผลของวัคซีนดังกล่าวถูกปรับเพื่อขจัดอิทธิพลจากตัวแปรต่าง ๆ ได้แก่ อายุ เพศ เวลาการรับวัคซีนตามปฏิทิน และประเภทของสูตรวัคซีนที่ได้รับก่อนหน้า

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ดร.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า "การศึกษานี้ได้แสดงให้เห็นถึงข้อมูลที่สำคัญว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มกระตุ้นที่ 4 ไม่ว่าจะเป็นชนิดใดก็ตาม มีประสิทธิผลในการช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิดโอไมครอนที่สามารถระบาดได้อย่างรวดเร็ว การสร้างภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่องด้วยการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจึงเป็นสิ่งสําคัญอย่างยิ่งสําหรับประชากรกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังสนับสนุนประสิทธิผลของการฉีดวัคซีนในแบบสูตรไขว้ต่าง ๆ หรือแบบ 'มิกซ์แอนด์แมตช์' (Mix & Match) ซึ่งสามารถช่วยสนับสนุนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครอบคลุมมากขึ้นในประชากรทั่วไป"

จอห์น แอล เปเรซ (John L. Perez) รองประธานอาวุโส หัวหน้าฝ่ายพัฒนาขั้นสุดท้ายฝ่ายวัคซีนและภูมิคุ้มกันบำบัด (Late Development Vaccines & Immune Therapies) ของ AstraZeneca ระบุว่า "ข้อมูลล่าสุดนี้ช่วยเพิ่มความเข้าใจของเราเกี่ยวกับความสําคัญของวัคซีนบูสเตอร์โดสในการป้องกันโควิด-19 ในสายพันธุ์ที่แตกต่างออกไป จากประสิทธิผลของวัคซีน AstraZeneca ในการป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง และการเสียชีวิต"

"ตอนนี้เราทราบแล้วว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ AstraZeneca สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อโอไมครอนได้ดีพอสมควร เมื่อได้รับเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ 4 ซึ่งจะให้ประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 สูงกว่าหลังจากรับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ 3" จอห์น แอล เปเรซ กล่าว

นอกจากนี้ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นจากโรงพยาบาลรายงานประสิทธิผลของวัคซีนต่ออาการป่วยรุนแรงจากโควิด-19 (ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นในการใช้เครื่องช่วยหายใจ) และการเสียชีวิตในช่วงการระบาดหนักของโควิดโอไมครอน ระหว่าง ก.พ. - มี.ค. 2565 พบว่าการได้รับวัคซีนแบบสูตรไขว้สามเข็ม สามารถป้องกันการติดเชื้อรุนแรงหรือการเสียชีวิตได้ 98% ในประชากรทุกช่วงอายุที่ศึกษา และมีการเสียชีวิตเพียงรายเดียวในผู้ป่วยที่มีโรคประจําตัวหลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 4 ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงประสิทธิผลในระดับสูงมากของวัคซีน โดยการวิเคราะห์ข้อมูลชุดนี้กําลังอยู่ในขั้นตอนการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง และจะมีการรายงานผลสรุปทั้งหมดในภายหลัง

การศึกษาดังกล่าวรายงานประสิทธิผลจากการใช้จริงของวัคซีน AstraZeneca , วัคซีน CoronaVac และวัคซีน mRNA โดยใช้ข้อมูลจากเครือข่ายการเฝ้าระวังจากหน่วยตรวจเชิงรุกในพื้นที่ ซึ่งช่วยให้สามารถเปรียบเทียบข้อมูลผู้ป่วยในพื้นที่ได้ทั้งในช่วงเวลาที่มีอัตราการระบาดสูงของทั้งสายพันธุ์เดลต้าและสายพันธุ์โอไมครอน

จนถึงวันนี้ AstraZeneca ได้ส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วกว่า 3 พันล้านโดส โดยนับตั้งแต่ วันที่ 8 ธ.ค. 2563 ถึง 8 ธ.ค. 2564 ซึ่งช่วยปกป้องชีวิตผู้คนกว่า 6 ล้านชีวิตจากโควิด-19

เกี่ยวกับผลการศึกษา

การศึกษานี้ เป็นการศึกษารูปแบบ Test-negative Case Control Study โดยมีกลุ่มผู้ป่วยและกลุ่มควบคุม จากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ภาคเหนือของประเทศไทย โดยใช้ข้อมูลจากระบบการเฝ้าระวังการจัดหน่วยตรวจหาเชื้อโควิดเชิงรุกในพื้นที่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ เม.ย. 2564 ต่อเนื่องมาจนถึง เม.ย. 2565  ข้อมูลจากระบบการลงทะเบียนเพื่อใช้ติดตามผู้ป่วยโควิด-19 ทุกรายในเชียงใหม่ และใช้ข้อมูลประวัติการได้รับวัคซีนจากระบบฐานข้อมูลสรุปผลการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข (MOPH IC) เพื่อมาใช้ในการประเมินประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 (โควิด-19)

การศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลช่วงการแพร่ระบาดรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์เดลต้าในประเทศไทย (1 ต.ค. - 31 ธ.ค. 2564) และช่วงการแพร่ระบาดรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน (1 ก.พ. - 10 เม.ย. 2565) โดยมีวัตถุประสงค์

เพื่อประเมินประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 แบบต่างชนิดกันสามเข็มในช่วงระยะเวลาที่สายพันธุ์เดลต้าแพร่ระบาด รวมถึงการฉีดวัคซีนแบบสูตรไขว้ในวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 และเข็มที่ 4 ในช่วงระยะเวลาสายพันธุ์โอไมครอนแพร่ระบาด

จากผลการวิเคราะห์ผู้เข้ารับบริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 27,301 คน ในช่วงการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า (ผู้รับบริการ 2,130 คน มีผลตรวจเป็นบวก และ 25,171 คน มีผลตรวจเป็นลบ) และผู้เข้ารับบริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 36,170 คน ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดโอไมครอน (ผู้รับบริการ 14,682 คน มีผลตรวจเป็นบวก และ 214,881 คน มีผลตรวจเป็นลบ)

ผลการประเมินเบื้องต้นจากระบบการคัดแยกผู้ป่วยในโรงพยาบาล แสดงให้เห็นการวิเคราะห์เชิงพรรณาของผลลัพธ์จากการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เข็มที่ 3 และเข็มที่ 4 ต่อการเจ็บป่วยที่มีอาการรุนแรง และการเสียชีวิตที่เกิดจากการติดเชื้อโควิด-19

วัคซีนโควิด-19 ของ AstraZeneca (ChAdOx1-S [Recombinant] ชื่อเดิม AZD1222)

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า (ChAdOx1-S [Recombinant])  คิดค้นโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (AstraZeneca) วัคซีนดังกล่าวพัฒนาโดยการนำส่วนของสารพันธุกรรมที่ใช้ในการถอดรหัสการสร้างหนามโปรตีนผิวเซลล์ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ใส่ในโครงของอะดีโนไวรัสซึ่งก่อให้เกิดโรคไข้หวัดทั่วไปในลิงชิมแปนซีที่ถูกทำให้อ่อนแรงลงและไม่สามารถแบ่งตัวได้ โดยหลังจากฉีดวัคซีนเซลส์ในร่างกายมนุษย์จะตอบสนองโดยการสร้างโปรตีนที่มีลักษณะเดียวกันกับหนามโปรตีนผิวเซลล์ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในกรณีที่ได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายในภายหลัง

วัคซีนโควิด-19 ของ AstraZeneca เป็นวัคซีนชนิด 'ไวรัลเวคเตอร์' หรือ 'ไวรัสพาหะ' ซึ่งหมายถึงการนำเชื้อไวรัสที่ไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของวัคซีน ซึ่งจะทำให้ร่างกายเรียนรู้ว่าจะต่อสู้กับเชื้ออย่างไรหากสัมผัสกับไวรัสจริงในภายหลัง โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนวิธีนี้ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เพื่อต่อสู้กับโรคติดเชื้ออื่น ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ซิกา อีโบลา และเอชไอวี เป็นต้น

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ AstraZeneca มีผลข้างเคียงที่ยอมรับได้ดีต่อผู้ที่ได้รับวัคซีน ตามการศึกษาทดลองทางคลินิกและการใช้งานจริงจากผู้คนหลายสิบล้านชีวิตทั่วโลก ผลอ้างอิงจากประชากรหลายล้านคนที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้ามีอาการไม่พึงประสงค์ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ปวดหัว คลื่นไส้ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ กดเจ็บ ปวด ร้อน คัน หรือฟกช้ำบริเวณที่ฉีด อ่อนเพลีย รู้สึกไม่สบาย มีไข้ และหนาวสั่น ซึ่งอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวนี้มีความรุนแรงเพียงเล็กน้อยถึงปานกลางและหายได้เองในระยะเวลาไม่กี่วันหลังจากได้รับวัคซีน

วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ในกว่า 125 ประเทศ และจากการขึ้นทะเบียนสำหรับการใช้ในภาวะฉุกเฉินโดยองค์การอนามัยโลกในครั้งนี้จะช่วยเร่งให้มีการเข้าถึงวัคซีนใน 144 ประเทศผ่านกลไกการจัดซื้อและจัดสรรวัคซีนของโครงการโคแวกซ์ (COVAX)

ภายใต้ข้อสัญญาการอนุญาตให้ใช้สิทธิช่วง (sub-license agreement) กับ AstraZeneca วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าถูกผลิตและส่งมอบโดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (Serum Institute of India) โดยใช้ชื่อวัคซีนว่า COVISHIELD

เกี่ยวกับ AstraZeneca

แอสตร้าเซนเนก้า (ชื่อย่อหลักทรัพย์ AZN ในตลาดหลักทรัพย์ LSE/ STO/ Nasdaq) เป็นบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก มุ่งเน้นทางด้านการคิดค้น พัฒนา และจำหน่ายยาเพื่อการรักษาโรค โดยเฉพาะในกลุ่มยาโรคมะเร็ง กลุ่มยาโรคหัวใจ ไต และระบบเผาผลาญ และกลุ่มยาโรคทางเดินหายใจ AstraZeneca มีฐานอยู่ที่เมืองเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร และดำเนินธุรกิจในกว่า 100 ประเทศ และมีผู้ป่วยหลายล้านคนทั่วโลกที่ได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมยาต่าง ๆ จากแอสตร้าเซนเนก้า สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาไปยังเว็บไซต์ AstraZeneca และช่องทางทวิตเตอร์ @AstraZeneca

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อบุคลากรทางการแพทย์ และ ผู้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ AstraZenaca

related