svasdssvasds

สธ.แจงเด็ก 6 ขวบติดโควิดเสียชีวิตจากภาวะ MIS-C แนะเด็ก 5 ปีขึ้นเร่งฉีดวัคซีน

สธ.แจงเด็ก 6 ขวบติดโควิดเสียชีวิตจากภาวะ MIS-C แนะเด็ก 5 ปีขึ้นเร่งฉีดวัคซีน

กรมควบคุมโรค แจงกรณีเด็ก 6 ขวบ ไม่ได้รับวัคซีนโควิด ติดเชื้อและเสียชีวิตจากภาวะ MIS-C แนะพ่อแม่พาลูกอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปฉีดวัคซีนโดยเร็วเพื่อป้องกันความเสี่ยง

 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงกรณีที่มีข่าว เด็กนักเรียนชั้นปฐมศึกษาปีที่ 2 อายุ 6 ปี ติดเชื้อโควิด-19 และป่วยหนักและเสียชีวิตจากภาวะ MIS-C หรือการอักเสบหลายอวัยวะ เบื้องต้นพบว่าไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 

 จากการตรวจสอบกับหน่วยงานในพื้นที่ ข้อมูลเบื้องต้นเป็นเด็กชาย อายุ 6 ปี 8 เดือนเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 บ้านพักอยู่จังหวัดปทุมธานี ถูกวินิจฉัยโรคโควิด-19 มีอาการไข้ น้ำมูก ถ่ายเหลว อ่อนเพลีย รักษาที่สถานพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ก่อนส่งตัวมารับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลปทุมธานี เนื่องจากมีอาการซึม มือเท้าเย็นและช็อค เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม

 แพทย์ได้ให้การรักษาอย่างเต็มที่ แต่เนื่องจากผู้ป่วยรายนี้เกิดภาวะอักเสบในหลายอวัยวะ หรือที่เรียกว่าภาวะ MIS-C ทั้งที่หัวใจและปอดส่งผลทำให้อาการรุนแรงเสียชีวิต สอดคล้องกับประวัติเด็กที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ทำให้มีโอกาสเสี่ยงเกิดภาวะ MIS-C กรมควบคุมโรคขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวอย่างยิ่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• หมอธีระ เผยเด็กติดโควิด หลังหายป่วยพบค่าเอนไซม์ตับสูงขึ้น อาจส่งผลระยะยาว

• เช็กเลย! ผู้ปกครองที่ต้องดูแลเด็กติดโควิด-19 ควรทำอย่างไรบ้าง

• เด็กติดโควิดมากขึ้น ผู้ใหญ่ต้องเตรียมความพร้อมด้านไหน ยังไง

 สถานการณ์ของโควิด19 ของประเทศไทย ในระยะนี้เป็นการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ย่อย BA.5 แพร่เชื้อได้เร็วกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะเด็กนักเรียนที่มีการคลุกคลีใกล้ชิดกันตลอด เมื่อเด็กติดเชื้อส่วนใหญ่จะมีอาการป่วยไม่รุนแรง เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายได้เอง

 แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีส่วนน้อยมากที่สามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น เกิดภาวะการอักเสบในหลายอวัยวะ หรือที่เรียกว่าภาวะ MIS-C ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มีโอกาสเสียชีวิตได้สูง ซึ่งเป็นการอักเสบที่อวัยวะสำคัญ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือ ช็อค  ดังนั้น หากบุตรหลานมีอาการผิดปกติ เช่น หายใจเร็ว เหนื่อย ซึม ตัวเย็น เรียกไม่รู้สึกตัว ภายหลังมีการติดเชื้อโควิด 19 แนะนำให้ผู้ปกครองรีบพาเด็กไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม 

 ภาวะอักเสบในหลายอวัยวะ หรือ MIS-C ในเด็ก สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน เราต้องระวังแต่อย่าตื่นตระหนก เพราะไม่ได้เกิดบ่อยในเด็กที่เป็นโควิด หากเด็กได้รับการฉีดวัคซีนครบจะทำให้มีโอกาสติดเชื้อและป่วยน้อยลง กรณีที่ป่วยอาการจะไม่รุนแรง จึงเชิญชวนให้นำบุตรหลานไปฉีดวัคซีน ที่มีทั้งไฟเซอร์ และ ซิโนแวค ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดหาวัคซีนให้กับทุกกลุ่มวัยและทุกคน สามารถรับการฉีดได้ที่สถานบริการทั้งภาครัฐและเอกชนที่ร่วมให้บริการได้ตลอดทุกวัน ซึ่งเมื่อเด็กทุกคนได้รับวัคซีนแล้วจะช่วยให้เกิดความปลอดภัยเพิ่มขึ้นทั้งกับตนเองและผู้อื่นที่เป็นสมาชิกในครอบครัว และครูนักเรียนในโรงเรียน” นายแพทย์โอภาส กล่าว

related