svasdssvasds

GISTDA แจ้งเตือนไทยได้รับผลกระทบ 1.2% ชิ้นส่วนจรวดลองมาร์ช 5บี ตก 31 ก.ค.นี้

GISTDA แจ้งเตือนไทยได้รับผลกระทบ 1.2% ชิ้นส่วนจรวดลองมาร์ช 5บี ตก 31 ก.ค.นี้

GISTDA ได้รับแจ้งเตือนจากศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ คาดว่าไทยจะได้รับผลกระทบ 1.2% จากชิ้นส่วนจรวดลองมาร์ช 5บี (Longmarch-5B) ตกในวันที่ 31 ก.ค. นี้ พร้อมติดตามสถานการณ์และพื้นที่เสี่ยงที่จะได้ต้องระวังอย่างใกล้ชิด

วันนี้ (29 กรกฎาคม) ทางเฟซบุ๊กเพจของ GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ได้โพตส์ข้อมูลที่เพิ่งได้รับจาก GISTDA โดยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ หรือ Space Technology Research Center 
พบว่ามีการแจ้งเตือนชิ้นส่วนของจรวดลองมาร์ช 5บี (Longmarch-5B) ที่จะตกสู่พื้นโลกในวันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม 2565 

และอาจส่งผลกระทบกับประเทศไทย เนื่องจากวัตถุอวกาศนี้ผ่านประเทศไทยทุกวัน (โคจรตามเส้นสีเขียวดังภาพ) โดยวัตถุอวกาศดังกล่าวมีน้ำหนักประมาณ 21 ตัน (ระหว่างที่วัตถุอวกาศกำลังตกสู่โลกนั้น จะมีน้ำหนักน้อยกว่านี้ เนื่องจากจะมีบางส่วนถูกเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ) การปฏิบัติภารกิจของลองมาร์ช 5บี (Longmarch-5B) ในครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม 2565 เพื่อนำเวิ่นเทียน (Wentian) ซึ่งเป็นโมดูลที่ 2 มาเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศเทียนเหอ (Tianhe) 
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้นักบินอวกาศทำการทดลองวิจัยในอวกาศ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สำหรับการแจ้งเตือนชิ้นส่วนจรวดตกสู่โลกในครั้งนี้ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศของ GISTDA ได้ใช้ระบบการจัดการจราจรอวกาศ (Space Traffic Management System) หรือ ZIRCON ที่ทีมนักวิจัยของ GISTDA พัฒนาขึ้น ทำการวิเคราะห์และคาดการณ์ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล ปัจจุบันศูนย์วิจัยดังกล่าว มีการวิจัยพัฒนาขีดความสามารถของระบบอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากฟังก์ชั่นการคาดการณ์ติดตามวัตถุอวกาศตกสู่โลก แล้วยังพัฒนาฟังก์ชั่นอื่นๆที่จะเป็นประโยชน์เพิ่มเติมในอนาคต เช่น การแจ้งเตือนภัยจากสภาพอวกาศ (Space weather) เป็นต้น อีกด้วย
 

ประเทศไทยเป็นทางผ่านวงโคจรจากจรวดลองมาร์ช 5บี (Longmarch-5B) จากภาพวิดีโอของ S-TREC GISTDA
ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ณ วันนี้ ประเทศไทยมีโอกาสได้รับผลกระทบเพียง 1.2% ซึ่งถือว่าน้อยมาก แต่อย่างไรก็ตาม GISTDA จะติดตามสถานการณ์และพื้นที่ที่มีความเสี่ยงของการตกของชิ้นส่วนจรวดนี้อย่างใกล้ชิด และจะรายงานความคืบหน้าให้ทราบต่อไป

 

photo credit: CNN WORLD
vdo credit: S-TREC GISTDA

 

ที่มา
GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)