svasdssvasds

ทางออกนอกตำรา : เจตนาพิเศษ วาทกรรมเด็ด"นายกฯปู"

ทางออกนอกตำรา : เจตนาพิเศษ วาทกรรมเด็ด"นายกฯปู"

ติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.springnews.co.th

ทางออกนอกตำรา : เจตนาพิเศษ วาทกรรมเด็ด"นายกฯปู"

ทางออกนอกตำรา

โดย...บากบั่น บุญเลิศ

เจตนาพิเศษ วาทกรรมเด็ด"นายกฯปู"

25 สิงหาคม 2560 จะเป็นวันชี้ชะตาคดีประวัติศาสตร์ทางการเมืองของไทย ที่เป็นเสาค้ำยันระบบการบริหารราชการแผ่นดินว่า ผู้กำหนดนโยบายและละเลยการปฏิบัติที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศ ทั้งๆ ที่มีการทักท้วง และเสนอแนะให้มีการปรับปรุง แต่นักการเมืองที่อาสาเข้ามาบริหารประเทศ ยังเดินหน้าต่อไปโดยไม่สนใจจะแก้ไขความผิดพลาด จะมีความผิดหรือไม่

ไม่ว่าจะออกหัว ออกก้อย สังคมไทยจะมีบรรทัดฐานในการปฏิบัติงานแน่นอน

ท่ามกลางบรรยากาศที่ ”คุกรุ่นทางการเมืองที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง”  สังคมไทยกำลังถกแถลงกันถึงวาทกรรมชุดหนึ่งที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และแกนนำพรรคเพื่อไทยยกขึ้นมาพูด นั่นก็คือ “ดิฉันมิได้มีเจตนาพิเศษ”

ในการแถลงปิดคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2560  คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยกคำพูดนี้มาหักล้างในข้อกล่าวหาไม่น้อยกว่า 5-6 ครั้ง อาทิเช่น

“ดิฉันไม่ได้เพิกเฉย ละเลย และไม่มีอำนาจระงับยับยั้งโครงการตามอำเภอใจ ดิฉันไม่ได้มีเจตนาพิเศษ ที่จะปกปิดข้อมูลในการระบายข้าวแบบจีทูจี”

“ดิฉันไม่ได้มีเจตนาพิเศษ ที่จะปกปิดข้อมูลในการระบายข้าวแบบจีทูจี และเป็นการแสดงว่า ดิฉันมิได้สมยอม ให้ผู้ใดกระทำการทุจริตในการระบายข้าว หรือมีการกระทำที่ปกป้องผู้หนึ่งผู้ใด ตามข้อกล่าวหาของโจทก์”

“ตลอดระยะเวลาที่ดิฉันดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดิฉันไม่ได้ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่เคยกระทำการใดๆ ที่ปล่อยปละละเลย และปกปิดข้อมูล หรือหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ ให้ความร่วมมือกับทุกองค์กร แม้กระทั่ง ป.ป.ช. ดิฉันไม่มีเจตนาพิเศษ ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลใด และไม่มีเจตนาทุจริต”

วาทกรรมที่อดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ยกขึ้นมาต่อสู้ว่าด้วย “เจตนาพิเศษ” มีนัยอย่างไร และมี “ทางออกอะไรซ่อนเร้นอยู่ภายในข้อกฎหมาย” กลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ อยู่ในขณะนี้

เพื่อให้เห็นภาพ ผมไปศึกษาข้อกฎหมายและหาข้อมูลกับผู้รู้ชั้นครูด้านกฎหมาย...ได้ความว่า

การที่คุณยิ่งลักษณ์ยกคำพูด “ไม่มีเจตนาพิเศษ” ขึ้นมาชี้แจงต่อศาลนั้นถือเป็นไม้เด็ดในการต่อสู้ทางคดี เนื่องจากคุณยิ่งลักษณ์ถูกฟ้องในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว จนทำให้รัฐเสียหาย

แต่หัวใจหลักในการมัดตราสังข์อดีตผู้นำประเทศคือ “มาตรา 157 ที่ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”

สราวุธ เบญจกุล นักกฎหมายและผู้พิพากษาบรมครูเคยอรรถาธิบายความว่า มาตรานี้แยกการกระทำเป็น 2 ความผิด

1.ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

คำว่า “โดยมิชอบ”  หมายความถึง โดยมิชอบด้วยหน้าที่ซึ่งเจ้าพนักงานมีอยู่ตามกฎหมาย ดังเช่นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1403/2521 ที่วินิจฉัยว่า “การกระทำโดยมิชอบนั้น เฉพาะตามหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้นโดยตรงที่ได้รับมอบให้มีหน้าที่นั้นๆ ถ้าการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติไม่เกี่ยวกับหน้าที่ของเจ้าพนักงานแล้ว ย่อมไม่มีความผิด”

ถ้าการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ ไม่อยู่ในหน้าที่หรืออยู่ในหน้าที่แต่เป็นการกระทำที่ชอบด้วยหน้าที่โดยสุจริต ก็ไม่เป็นความผิด ดังนั้น ถ้ามีหน้าที่ต้องปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นก็เป็นการกระทำความผิดตามมาตรานี้

องค์ประกอบของความผิดมาตรานี้อยู่ที่มูลเหตุชักจูงใจ คือ “มีเจตนาพิเศษ”  ที่ต้องการกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งรวมถึงความเสียหายในทุกๆ ด้านโดยไม่จำกัดเฉพาะความเสียหายที่เป็นทรัพย์สินเท่านั้น เช่น ความเสียหายแก่ชื่อเสียง หรือเสียหายแก่เสรีภาพ เป็นต้น

เจตนาพิเศษ คือ มูลเหตุจงใจในการกระทำ มักแสดงไว้ในคำว่า “เพื่อ” และ “โดยทุจริต” ถ้าขาดเจตนาพิเศษไป การกระทำยังไม่เป็นความผิด เจตนาพิเศษนี้จะไม่มีการเล็งเห็นผล แต่เป็นเจตนาโดยตรงเพื่อการนั้น

2.ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

คำว่า “โดยทุจริต” ตามความหมายนี้ คือ การใช้อำนาจในหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้น และที่สำคัญคือ “ต้องมีหน้าที่” คือ การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัตินั้นต้องอยู่ในหน้าที่ ดังนั้นหากไม่อยู่ในหน้าที่หรืออยู่ในหน้าที่แต่ทำโดยชอบและโดยสุจริต ก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มีลักษณะคล้ายคลึงกับการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่มีข้อแตกต่างอยู่ที่ว่าการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบที่จะเป็นความผิดได้นั้น จะต้องเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หากการกระทำนั้นไม่เกิดความเสียหายแล้วย่อมจะไม่เป็นความผิดตามมารา 157 ในขณะที่การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ไม่ต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงว่าการกระทำนั้นมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้อื่นเสียหายหรือไม่ แม้ไม่เกิดความเสียหายก็ยังคงถือว่าเป็นการกระทำความผิดได้

พอเห็นภาพชัดมั้ยครับว่า ทำไมอดีตนายกฯ จึงยกเจตนาพิเศษขึ้นมาต่อสู้ในแทบทุกวรรค ทุกตอนที่มีการต่อสู้ในข้อกล่าวหา เพราะต้องการหักล้างหลักการกระทำความผิดตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่กำหนดองค์ประกอบไว้

หากขาดองค์ประกอบข้อใดข้อหนึ่งไป ก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดตาม มาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

คอยดูกันว่าศาลจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร

คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา/ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ/ ฉบับ 3290 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 24-26 ส.ค.

related