ตลอดประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีนายกรัฐมนตรีที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่ง “ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่” หลายครั้ง ย้อนรอย 6 นายกฯ ที่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่
ตลอดประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีนายกรัฐมนตรีที่ถูก “ศาลรัฐธรรมนูญ” หรือองค์กรอิสระมีคำสั่ง “ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่” หลายครั้ง โดยส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับการร้องเรียนเรื่องคุณสมบัติ ความชอบด้วยกฎหมาย หรือการใช้อำนาจในทางมิชอบ ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและการเมืองไทยโดยรวม
การที่ “นายกรัฐมนตรีถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่” แม้จะไม่ได้หมายถึงการพ้นจากตำแหน่งทันที แต่ส่งผลอย่างมากต่อการบริหารประเทศ การดำรงตำแหน่งในยุคปัจจุบันจึงต้องคำนึงถึง “ความโปร่งใส-ถูกต้องตามกฎหมาย” เป็นสำคัญ
สถานการณ์ล่าสุดของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร จึงเป็นอีกหนึ่งกรณีที่สังคมต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะกำหนดทิศทางทางการเมืองในระยะต่อไป
สมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชนในการเลือกตั้งปี 2550 และได้รับการโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ต่อมานายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สว.สรรหา และคณะ 40 สว. ได้มีการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า การจัดรายการชิมไปบ่นไป และการจัดรายการยกโขยงหกโมงเช้า' ของสมัคร สุนทรเวชกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 267 ที่ห้ามนายกฯ มีตำแหน่งใด ๆ ในห้างหุ้นส่วนหรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหากำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใดหรือไม่
ต่อมาวันที่ 9 กันยายน 2551 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 9 ต่อ 0 เสียง ตัดสินว่าการที่สมัคร สุนทรเวชเป็นพิธีกรของทั้ง 2 รายการนี้ กระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2550 จำนวน 2 มาตรา ได้แก่ มาตรา 267 และ มาตรา 182 วรรค 1 (7) เรื่องคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี และต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย อันเนื่องมาจากกรณีทุจริตการเลือกตั้งของยงยุทธ ติยะไพรัช จากพรรคพลังประชาชน มณเฑียร สงฆ์ประชา จากพรรคชาติไทย และสุนทร วิลาวัลย์ จากพรรคมัชฌิมาธิปไตย
ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยในส่วนของพรรคพลังประชาชน ด้วยมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ให้ยุบพรรคพลังประชาชน และตัดสิทธิทางการเมืองหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค 5 ปี (รวม 37 คน) ทำให้สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคพลังประชาชนต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยปริยาย
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น พ้นจากตำแหน่ง โดยเห็นว่า ยิ่งลักษณ์ได้ใช้สถานะของการเป็นนายกฯ เข้าไปก้าวก่าย แทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ เพื่อประโยชน์ของตัวเอง กรณีย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ จึงมีผลทำให้ความเป็นนายกฯ ของยิ่งลักษณ์สิ้นสุดลง
วันที่ 24 สิงหาคม 2565 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5 ต่อ 4 ให้รับคำรองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคฝ่ายค้านยื่นขอให้พิจารณาเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าครบ 8 ปี แล้วหรือไม่ พร้อมทั้งสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยออกมา
ต่อมาในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565 ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยในประเด็นการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 ต่อ 3 วินิจฉัยให้เริ่มนับความเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ ในวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ คือ วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560 โดยศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ “มิใช่นายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560” ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรหรือที่ประชุมร่วมของสองสภา[15] เท่ากับว่าหากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องไป ก็จะสามารถครองตำแหน่งได้จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2568
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 ให้เศรษฐา ทวีสิน พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากขาดคุณสมบัติ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากปมทูลเกล้าฯ แต่งตั้งพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีทั้งที่พิชิตเคยต้องคำพิพากษาจำคุกหกเดือนฐานละเมิดอำนาจศาล ศาลรัฐธรรมนูญแจงว่า เศรษฐา ทวีสินย่อมรู้หรือควรรู้ได้ว่าพิชิต ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นรัฐมนตรี แต่ยังดึงดันเสนอชื่อให้เป็นรัฐมนตรี รวมถึงการไปพบทักษิณ ชินวัตรก่อนเสนอชื่อ ทำให้เศรษฐา มีพฤติกรรมขาดความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์และฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 9:0 รับคำร้อง สว.ยื่นถอดถอน "แพทองธาร ชินวัตร" ขณะที่มติ 7:2 สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราวตั้งแต่ 1 ก.ค.2568 เป็นต้นไป จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาด ให้ส่งเอกสารชี้แจงภายใน 15 วัน กรณีคลิปเสียงการสนทนาระหว่าง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร กับสมเด็จฯ ฮุน เซน ประธาน วุฒิสภาแห่งกัมพูชา