svasdssvasds

"โควิด 19" ระลอกใหม่ อันตรายแค่ไหน หมอยงแนะ 9 ข้อต้องรู้ กับการระบาดรอบใหม่

"โควิด 19" ระลอกใหม่ อันตรายแค่ไหน หมอยงแนะ 9 ข้อต้องรู้ กับการระบาดรอบใหม่

หมอยงชี้โควิด-19 ระลอกใหม่เพิ่งเริ่มต้น และจะเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ถึงจุดสูงสุดเดือนมิถุนายน และจะลดลงเดือนกันยายน แนะ 9 ข้อต้องรู้เกี่ยวกับ "โควิด 19" ระลอกใหม่ อันตรายแค่ไหน เช็กที่นี่

 จากกรณีข่าวโควิดสายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน XBB.1.16 ที่พบอาการสำคัญ คือ เยื่อบุตาอักเสบและยังพบว่าเกาะติดเซลล์มนุษย์ได้ดีกว่าทุกสายพันธุ์และแพร่เชื้อไว อย่างไรก็ตามการวัคซีนที่ฉีดยังป้องกันการป่วยหนักได้แม้จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100%

 ด้าน นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ประเด็นเกี่ยวกับโควิด 19  การระบาดรอบใหม่กับสายพันธุ์ใหม่ โดยระบุว่า

การระบาดรอบใหม่ของโควิด 19 เพิ่งเริ่มต้น สิ่งที่ควรรู้มีดังนี้

1. การระบาดเพิ่งเริ่มต้นและจะเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมไปถึงจุดสูงสุดเดือนมิถุนายนและจะไปลดลงในเดือนกันยายนตามฤดูกาลของโรคทางเดินหายใจ

2. ทำไมต้องเริ่มสูงกลางเดือนพฤษภาคม

2.1 เป็นฤดูฝน

2.2 นักเรียนเปิดเทอม นักเรียนเป็นผู้แพร่กระจายที่ดี

2.3 เป็นแล้วเมื่อปีที่แล้ว ปีนี้มีโอกาสเป็นได้อีก

3. สายพันธุ์ของไวรัสมีการเปลี่ยนแปลง การศึกษาสายพันธุ์ในประเทศไทยของศูนย์ จะเห็นได้ว่าตั้งแต่มกราคมเป็นต้นมาสายพันธุ์จะเป็น โอมิครอน BA.2.75 และก็เปลี่ยนมาเป็น XBB.1.5 ในเดือนมีนาคม และกำลังจะเปลี่ยนเป็น XBB.1.16 หลังจากนี้อีกไม่นาน อย่างไรก็ตามก็ยังอยู่ในตระกูล XBB

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• ระวัง! โควิด XBB.1.16 สายพันธุ์ใหม่ เช็กอาการ ความรุนแรง พบในไทยแล้ว

• หนุ่มไทยในต่างแดน เผยติดโควิด-19 ครั้งแรก คาดสายพันธุ์ XBB.1.16 ทำตาอักเสบ

• อาการโควิดล่าสุด XBB.1.16 โควิดสายพันธุ์ใหม่ แพร่เร็ว ตาอักเสบ คันตา

4. ทำไมต้องเป็นสายพันธุ์ดาวดวงแก้ว สายพันธุ์ BA.2.75 ระบาดในอเมริกาเมื่อปีที่แล้ว ประเทศไทยตามหลังอเมริกา ในอเมริกาจากสายพันธุ์ BA.2.75 เปลี่ยนเป็น BQ.1.1 แล้วจึงมาเป็น XBB.1.5 (สายพันธุ์นี้คือ Kraken ปลาหมึกยักษ์ที่คอยจมเรือทะเล) เดือนที่ผ่านมามีสายพันธุ์ใหม่ที่มีการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นอีก 1 ตำแหน่งในหนามแหลมเกิดขึ้นที่อินเดีย คือสายพันธุ์ XBB เช่นเดียวกันเรียกว่า XBB.1.16 หรือ สายพันธุ์ดาวดวงแก้ว (Arcturus) แพร่กระจายได้เร็วกว่า XBB.1.5 ประมาณ 1.2 เท่า และระบาดอย่างรวดเร็วมากกว่า 20 ประเทศแล้ว ประเทศไทยก็คงหนีไม่พ้นสายพันธุ์ดาวดวงแก้วเข้ามาแทนที่สายพันธุ์ปลาหมึกยักษ์แน่นอน

5. ความรุนแรงของโรคสายพันธุ์ดาวดวงแก้ว (XBB.1.16) จากอินเดียไม่ได้รุนแรงไปกว่าสายพันธุ์เดิม แต่แพร่ระบาดง่าย เมื่อมีผู้ป่วยจำนวนมากก็ต้องพบผู้ป่วยอาการมากเป็นอัตราส่วนปกติ มีอาการบางอย่างแตกต่างไปบ้าง เช่น ตาแดงในเด็ก

6. การดูแลรักษา ยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง จะเฝ้าระวังอันตรายในกลุ่มเสี่ยง 608 และเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี

7. วัคซีนและภูมิต้านทาน

สายพันธุ์ XBB ทุกตัว หลบหลีกภูมิต้านทานเดิมได้ดี จึงเป็นแล้วเป็นอีกได้ ภูมิที่เกิดจากวัคซีนที่ใช้ในการลดความรุนแรงของโรค ใช้เพิ่มขึ้น ภูมิต้านทานชนิดสำเร็จรูป LAAB จะไม่ได้ผลในกลุ่มสายพันธุ์ XBB

8. วัคซีนที่ใช้ไม่มีวัคซีนเทพ ทุกตัวไม่แตกต่างกัน แนะนำให้วัคซีนกระตุ้นในกลุ่มเสี่ยง 607 ที่ได้รับวัคซีนมานานแล้วมากกว่า 6 เดือน ส่วนสตรีตั้งครรภ์ให้พิจารณากระตุ้นตามความเหมาะสม วัคซีนจะปรับเป็นการให้วัคซีนประจำปี ควรให้ก่อนเข้าฤดูฝน หรือจะเริ่มฉีดได้เลย เพื่อป้องกันการระบาดและจุดสูงสุดที่กำลังจะเข้ามาในเดือนหน้าช่วงฤดูฝน การให้วัคซีนกระตุ้นอาจพิจารณาให้ในผู้ที่เสี่ยงต่อการติดโรคเช่นผู้ที่สัมผัสกับผู้คนเป็นจำนวนมาก บุคลากรด่านหน้า คล้ายกับการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ส่วนในคนปกติที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี ก็คงขึ้นอยู่กับความสมัครใจ

9. มาตรการในการป้องกันที่สำคัญก็คงเหมือนเดิม สิ่งที่จะต้องเน้นคือ สถานที่มีบุคคลอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เรือนจำ ในโรงเรียน ดูแลเรื่องความสะอาด สุขอนามัย ล้างมือเป็นนิจ นักเรียนที่ป่วยไม่ควรไปโรงเรียน ผู้ป่วยทุกคนควรจะต้องใส่หน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด และมีระเบียบวินัย

เมื่อสายพันธุ์ ปลาหมึกยักษ์ (Kraken) XBB.1.5 มาแทนที่ BA.2.75 แล้ว ต่อไปสายพันธุ์ดาวดวงแก้ว XBB.1.16 ติดต่อได้ง่ายกว่าก็จะเข้ามาแทนที่เป็นตัวต่อไปตามวัฏจักรวงจร ดาวดวงแก้วหรือดาวยอดมหาจุฬามณี ชื่อนี้ฟังดูเพราะกว่าสายพันธุ์ก่อน น่าจะมีผลต่อจิตใจเราบ้าง

ที่มา : Yong Poovorawan

related