svasdssvasds

"โรคฝีดาษลิง" อาการเป็นอย่างไร กี่วันแพร่เชื้อ อันตรายแค่ไหน ล่าสุดดับ 1 ราย

"โรคฝีดาษลิง" อาการเป็นอย่างไร กี่วันแพร่เชื้อ อันตรายแค่ไหน ล่าสุดดับ 1 ราย

โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์ตระกูลแทะ โรคที่ติดจากสัตว์สู่คน แม้มีโอกาสติดน้อยแต่ต้องเฝ้าระวัง พร้อมทำความรู้จักกับอาการแรกเริ่ม และวิธีป้องกันโรคฝีดาษลิง ล่าุดในไทยพบผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย

 จากกรณีที่กรมควบคุมโรค เผยสถานการณ์โรคฝีดาษวานรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในกลุ่มชายรักชาย และรับรายงานผู้ติดเชื้อเอชไอวีติดฝีดาษลิงเสียชีวิตรายแรกในไทย เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องพบโรครวมทั้งเชื้อเริมและซิฟิลิส มีผื่นแผลจากโรคฝีดาษวานรที่รุนแรง

 ฝีดาษลิง (monkeypox) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากสัตว์ ซึ่งมีอาการแสดงในมนุษย์คล้ายคลึงกับฝีดาษหรือไข้ทรพิษ มีรายงานอุบัติการณ์เกิดการระบาดในประเทศแถบทวีปแอฟริกา เนื่องในปัจจุบันมีการเดินทางข้ามทวีป ทำให้มีการเกิดการระบาดของโรคฝีดาษลิงส่วนอื่นของโลก เช่น ยุโรป และอเมริกา ฝีดาษลิง มีการรายงานครั้งแรกในมนุษย์ในปี 1970

อาการเริ่มแรกของโรคฝีดาษลิง  

1. มีไข้ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หนาวสั่น อ่อนเพลีย จากนั้นประมาณ 1-3 วัน 

2. จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง 

3. ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา อาการป่วยจะประมาณ 2-4 สัปดาห์ 

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ โดยอาการรุนแรงมักพบในกลุ่มเด็ก ซึ่งในประเทศแอฟริกาพบอัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 10

เชื้อฝีดาษลิงติดต่อกันอย่างไร

 ฝีดาษลิงอาจแพร่กระจายได้เมื่อมีการเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อ โดยไวรัสชนิดนี้จะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางรอยแตกบนผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ หรือผ่านทางตา จมูก หรือปาก ยังไม่เคยมีการระบุว่า ฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่เชื้อโรคสามารถส่งต่อกันได้ผ่านการสัมผัสกันโดยตรงระหว่างการมีเพศสัมพันธ์

 ทั้งนี้ การแพร่ระบาดในหลายประเทศครั้งล่าสุดผู้เชี่ยวชาญระบุว่าเป็นเรื่องที่ “ไม่ปกติ” เนื่องจากการแพร่ระบาดจากคนสู่คนนั้นเกิดขึ้นได้ยากมาก 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• กรมควบคุมโรค พบผู้ป่วย "โรคฝีดาษวานร" เสียชีวิตรายแรกในไทย

• ไทยพบผู้ป่วยฝีดาษลิง 120 ราย แล้ว องค์การอนามัยโลก เปลี่ยนชื่อเป็น Mpox

• มาอีกแล้ว ไทยพบป่วยฝีดาษวานรเพิ่ม 21 ราย ช่วง พ.ค. แนะวิธีเฝ้าระวังเช็กเลย

 โรคฝีดาษลิง มี 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ West African Clade ซึ่งอัตราป่วยตายอยู่ที่ 1% ต่ำกว่าสายพันธุ์ Central African Clade ซึ่งมีอัตราป่วยตาย 10% มีสัตว์ที่เป็นรังโรค คือ สัตว์ฟันแทะและลิง ติดต่อจากสัตว์สู่คน ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่ง หรือแผลของสัตว์ที่ป่วย

 ส่วนการติดจากคนสู่คน จะผ่านการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยมากๆ สัมผัสกับแผลหรือสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยโดยตรง หรือเสื้อผ้าของใช้ผู้ป่วยที่มีสารคัดหลั่ง สำหรับระยะฟักตัวอยู่ที่ 5-21 วัน

 ความแตกต่างของโรคฝีดาษลิง และโรคติดต่อจากเชื้อไวรัสอื่นๆ ที่พบรอยโรคเป็นตุ่มน้ำ คือ ไข้ทรพิษ เริม สุกใส และงูสวัด โรคที่แยกจากฝีดาษลิงได้ยากที่สุด คือ ไข้ทรพิษ หรือ ฝีดาษ ซึ่งมีอาการนำคล้ายกันคือ ไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดหลัง

 แต่ในฝีดาษลิงมักพบต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย ขณะที่ไข้ทรพิษมักมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น อาเจียน ปวดท้องได้มากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับโรคติดเชื้อจากไวรัสอื่นที่พบได้บ่อยกว่า เช่น โรคสุกใส พบว่าลักษณะของอาการแสดงทางผิวหนังแม้จะมีความคล้ายคลึงกันระหว่างโรคฝีดาษลิง และโรคสุกใส โดยที่เริ่มจากเป็นผื่นแดงเล็กๆ กลายเป็นตุ่มแดง ตุ่มน้ำใส และตุ่มหนอง ที่กระจายทั่วตัว ตามลำดับ 

 แต่ในฝีดาษลิงและไข้ทรพิษ การกลายของแต่ละระยะของรอยโรค จากผื่นแดง เป็นตุ่มแดง ตุ่มน้ำใส และตุ่มหนอง ซึ่งต่อมาจะตกสะเก็ด รอยโรคจะอยู่ในระยะเดียวกัน ขณะที่ในโรคสุกใส รอยโรคแต่ละตำแหน่งจะมีการเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน ทำให้ผู้ป่วยอาจจะพบรอยโรคในทุกระยะในเวลาเดียวกันได้

โรคติดเชื้อไวรัสอื่นที่มีอาการแสดงทางผิวหนังเป็นตุ่มน้ำ เช่น งูสวัด และ เริม รอยโรคมักจะไม่มีการกระจายตัวไปทั่ว โดยงูสวัดจะอยู่ในแนวของเส้นประสาทและเริม มักมีรอยโรคเป็นกลุ่มในบริเวณเล็ก ๆ เท่านั้น จึงมีความแตกต่างจากโรคฝีดาษลิง

 อย่างไรก็ตาม กรณีโรคฝีดาษลิงที่มีรอยโรคเล็กน้อยในบริเวณแคบๆ ที่ไม่กระจายตัว อาจจะแยกได้ยาก จากโรคกลุ่มนี้ ทำให้ต้องอาศัยการตรวจพิเศษเพิ่มเติมและการแยกชนิดเชื้อด้วยวิธีการพิเศษทางห้องปฏิบัติการ สำหรับโรคการติดเชื้อไวรัสที่ออกผื่น เช่น หัด หัดเยอรมัน ไข้เลือดออก ลักษณะอาการทางผิวหนัง มักจะเป็นผื่นแดง    

 การพบตุ่มน้ำนั้นเกิดได้น้อยมาก ทำให้สามารถแยกโรคจากโรคฝีดาษลิงได้ หากมีอาการดังกล่าว เเนะนำให้รีบมาพบเเพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยเเละรับการรักษาจากเเพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยทันที

การป้องกันควบคุมโรคฝีดาษลิง เริ่มต้นด้วยการป้องกันตนเอง

1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า  

2. หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ  

3. หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า  

4. ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการ คัดกรองโรค  

5. กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน  หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ 

 ทั้งนี้ ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคฝีดาษลิงที่เฉพาะเจาะจง แต่สามารถควบคุมการระบาดได้ด้วย การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ซึ่งสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85%

โดยก่อนหน้าที่จะกวาดล้างไข้ทรพิษได้นั้น มีการฉีดวัคซีนหรือที่เรียกกันว่าการปลูกฝี ซึ่งจะช่วยป้องกันทั้งสองโรคนี้ได้ อย่างไรก็ตาม เด็กที่เกิดหลังปี 2523 จะไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน

จึงเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

related