svasdssvasds

เปิดทริค "วิธีเก็บเงิน" ทุกวันหวยออก! ศิลปะออมเงินชั้นสูง ที่ใครๆก็ทำได้

เปิดทริค "วิธีเก็บเงิน" ทุกวันหวยออก! ศิลปะออมเงินชั้นสูง ที่ใครๆก็ทำได้

วันนี้หวยออก ใครที่ถูกหวยก็นับว่าโชคดีมากๆ แต่...สำหรับใครที่ไม่เคยถูกเลย จะแนะนำทริค "วิธีเก็บเงิน" ทุกวันหวยออก! ศิลปะออมเงินชั้นสูง ที่ใครๆก็ทำได้

หวย คือ ความหวังของคนที่ใฝ่ฝันว่าสักครั้งหนึ่งในชีวิตฉันอยากถูกหวยรางวัลที่1 สักใบจะทำให้ชีวิตฉัน และครอบครัวสบายขึ้น เพราะทุกวันนี้หาเช้ากินค่ำลำบากเหลือเกิน มนุษย์เงินเดือนก็รอเงินเดือนรอแล้วรออีก เงินเดือนออกมาไม่กี่วันก็หมด แถมยุคนี้ค่าครองชีพก็สูง ข้าวของในท้องตลาดนับวันยิ่งแพงแสนแพง เพราะฉะนั้นการมีเงินเท่านั้นคือคำตอบ

หวย จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือก และอีกหนึ่งความหวังที่หลายคนไม่พลาดที่จะซื้อทุกงวด จะว่าไปแล้วใครที่ถูกบ่อยก็ถือว่าดีไป แต่… ใครที่ซื้อทุกงวดแล้วไม่เคยถูกหวยเลย คนกลุ่มนี้ต้องคิดหนักแล้วว่าเปลี่ยนจากเงินแต่ละงวดมาเป็นเงินออมจะดีกว่าไหม แต่ถึงอย่างไรคนไทยก็นิยมเล่นหวยไม่ว่าจะยากดีมีจน โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี เผยผลสำรวจพบว่า คนไทยกว่า 9 ล้านคน เสพติดหวย แบ่งเป็นชอบ 7.6 ล้านคน และติดหวย 1.3 ล้านคน โดยคนไทย 1 ใน 4 หรือประมาณ 20 ล้านคน ซื้อลอตเตอรี่ และหวยรวมกัน 250,000 ล้านบาท/ปี

ทั้งนี้พบอีกว่า คนที่คาดหวังว่าจะถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 คิดเป็นร้อยละ 44 โอกาสถูกจริง 1 ในล้าน เท่านั้น ส่วนคนเล่นหวยที่คาดว่าถูก 2-3 ตัวบนล่าง มีอยู่ร้อยละ 78 โอกาสถูกจริงร้อยละ 0.4 -2 นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มคนที่มีรายได้สูงมีพฤติกรรมซื้อลอตเตอรี่ และหวยใต้ดินเป็นเงินเพิ่มขึ้น 76% พร้อมมีความหวังสูงในการถูกหวย ขณะที่กลุ่มคนทั่วไปซื้อลอตเตอรี่ และหวย เป็นเงินเพิ่มขึ้น 42% นับจากครั้งแรกที่เริ่มซื้อ และจากการสำรวจพบว่าร้อยละ 50 ของมนุษย์เงินเดือน และเจ้าของธุรกิจ คิดเป็น 12 ล้านคน เล่นหวย เช่นกัน

โดยคนไทยทุกกลุ่มรายได้เสี่ยงโชคด้วยการซื้อหวยโดยกลุ่มที่มีรายได้สูงกว่าเดือนละ 15,000 บาท ซื้อหวยเฉลี่ยเดือนละ 680 บาท หรือมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 1.2 ของรายได้ ส่วนคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท/เดือน ซื้อเฉลี่ย 350 บาท/เดือน มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 2.2 ของรายได้

จากข้อมูลที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าคนไทยยังเล่นหวยกันมาก แต่คนที่เล่นแล้วถูกบ้างก็นับว่าดีไป สำหรับคนที่ไม่เคยถูกเลย หรือนานๆ ถูกครั้ง แนะนำให้เปลี่ยนเงินหวยเป็น เงินออม กับทริคดีๆ จากธนาคารกรุงไทย 10 วิธีเก็บออมเงินง่ายๆ คนเก็บเงินไม่เก่งก็ทำได้! มาเริ่มที่

  • กันเงินเดือน 10% เก็บไว้ก่อนใช้จ่าย

แบ่งเงินออมไว้ 10% จากเงินเดือน สมมติว่าได้เงินเดือน 20,000 บาท ให้แบ่งออมไว้ก่อนเลย 2,000 บาท เมื่อครบปีเท่ากับว่าจะออมเงินได้ถึง 24,000 บาท หากใครที่รายจ่ายรัดตัวจริงๆ อาจเริ่มออมเดือนละ 5% ก่อนก็ได้ แนะนำให้เปิดบัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูงอีกบัญชี แยกกับบัญชีเงินเดือน เมื่อเงินเดือนเข้าก็ตั้งโอนล่วงหน้าไปที่บัญชีนั้นเลย

  • เก็บเงินตามลำดับวันใน 1 ปี

เก็บเงินโดยไล่ตามลำดับวันใน 1 ปีไปเรื่อยๆ เช่น วันที่ 19 เก็บ 19 บาท วันที่ 350 เก็บ 350 บาท ซึ่งหากเก็บได้ครบทุกวันจะมีเงินเก็บถึง 66,795 บาทเลยทีเดียว ข้อดี: ช่วงแรก ๆ เก็บจำนวนเงินน้อย ทำให้มีแรงจูงใจในการเก็บเงิน นอกจากนี้เมื่อรู้ว่าวันต่อๆ ไปต้องเก็บเงินจำนวนเท่าไหร่ก็มีเวลาเตรียมตัวอีกด้วย ข้อเสีย: ช่วงเดือนท้ายๆ ต้องเก็บเงินเยอะ อาจเก็บต่อเนื่องยาก และไม่เหมาะกับคนที่รายได้ยังไม่มาก

  • เก็บเงินใส่กระปุกที่เปิดยาก

ใครที่ชอบหยิบเงินเก็บมาใช้ ลองมองหาภาชนะเป็นกระปุกที่เปิดยากๆ โดยเลือกกระปุกขนาดใหญ่ เพื่อสามารถหยอดทั้งเหรียญและธนบัตรได้ทั้งปี หรือหากมีเด็กๆ ที่บ้าน นี่ก็เป็นวิธีออมเงินสุดคลาสสิกที่ยังใช้ได้ดีเลยทีเดียวข้อดี: สามารถบังคับตัวเองไม่ให้หยิบเงินเก็บมาใช้ได้ดีขึ้น ข้อเสีย: ถ้าจำเป็นต้องใช้เงินจะต้องทุบกระปุกเท่านั้น

  • เก็บเงินจากส่วนต่างของส่วนลด

เก็บเงินจากส่วนต่างของราคาเต็ม และส่วนลดเวลาซื้อของมาเป็นเงินออม เช่น บุฟเฟต์ราคาเต็ม 399 บาท ลดเหลือ 259 บาท จะเก็บออมได้ 140 บาท เป็นต้น ข้อดี: ทำให้มองหาส่วนลดต่างๆ ก่อนใช้จ่ายมากขึ้น ประหยัดเงินในกระเป๋าและได้ออมเงิน ข้อเสีย: อาจเก็บได้น้อยและได้จำนวนเงินไม่แน่นอน ควรใช้เป็นวิธีเสริมมากกว่าใช้เป็นวิธีเก็บเงินหลัก

  • เก็บเงินจากแบงก์ 50 ให้ครบปี

เก็บธนบัตรฉบับละ 50 บาททุกใบที่ได้รับ แนะนำว่าให้เก็บสะสมไว้จนครบปีแล้วค่อยนับ จะรู้สึกตื่นเต้นกับการเก็บเงินมากขึ้น บางคนแค่เก็บสะสมแบงก์ 50 บาท ก็ได้เงินเก็บร่วมหมื่นเลยทีเดียวข้อดี: เป็นวิธีการเก็บเงินที่ให้ความรู้สึกเหมือนทำภารกิจในเกม ไม่รู้สึกถูกบังคับ และได้เงินออมจากแบงก์ 50 จำนวนหนึ่งแน่นอนข้อเสีย: บางวันที่ได้จำนวนแบงก์ 50 หลายใบอาจเบียดเบียนค่าใช้จ่าย สุดท้ายต้องใช้แบงก์ 50 ในที่สุด ทำให้เก็บได้น้อยลง

  • เก็บเงินตามตารางออมเงิน

ทำตารางออมเงิน โดยวางเป้าหมายไว้ เช่น อยากเก็บเงินให้ได้ 2,000 บาท ภายใน 60 วัน ก็สร้างตารางขึ้นมาแล้วกำหนดว่าแต่ละวันใน 60 วันนี้ ต้องเก็บเงินวันละเท่าไร จึงจะได้ 2,000 บาทข้อดี: ได้วางแผนการเก็บเงินล่วงหน้าให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง เหมาะกับคนที่มีรายได้รายวัน ข้อเสีย: หากไม่มีเป้าหมายการเก็บเงินที่ชัดเจน ก็อาจทำให้ท้อหรือขี้เกียจได้ง่าย

  • เก็บเงินแบบตั้งเงื่อนไข

สำหรับคนที่ไม่ค่อยมีแรงจูงใจ ก็ต้องลองใช้วิธีการเก็บเงินแบบฮาร์ดคอร์สักหน่อย โดยลองตั้งเงื่อนไขกับตัวเองดู เช่น ตื่นสาย 10 นาทีเก็บเงิน 100 บาท น้ำหนักขึ้น 1 กิโลกรัม เก็บเงิน 1,000 บาท เป็นต้น ข้อดี สร้างแรงจูงใจให้เก็บเงินและเปลี่ยนพฤติกรรมที่ตัวเองอยากเปลี่ยนข้อเสีย อาจจะเกิดการโกงตัวเองได้ หรือรู้สึกกดดันเกินไป ทำให้การเก็บเงินไม่สนุก

  • เก็บเงินตามเลขท้ายสามตัว

วิธีเก็บเงินแบบนี้เหมาะสำหรับคนที่ชอบความตื่นเต้นและชอบลุ้นสลากกินแบ่งรัฐบาล ลองเก็บเงินจากเลขท้ายสามตัวที่ออกรางวัล สร้างสีสันให้การเก็บเงินสนุกขึ้น ข้อดี: ทำให้การเก็บเงินสนุกมากขึ้น และน่าจะเก็บได้หลักพันต่อเดือน ข้อเสีย: จำนวนเงินเก็บไม่แน่นอน

  • แข่งเก็บเงินกับคนในครอบครัว

ลองชวนพ่อแม่พี่น้อง ลูกๆ หลานๆ มาแข่งกันออมเงินชิงรางวัลกันดูสิ เป็นอีกวิธีการเก็บเงินที่น่าสนุก ได้สานสัมพันธ์ แถมมีเงินออมกันทั้งครอบครัวอีกด้วย สำหรับเด็กๆ เอง ก็เป็นโอกาสดีที่จะได้ปลูกฝังนิสัยการออมตั้งแต่อายุน้อยๆ ข้อดี: เปลี่ยนการเก็บเงินให้สนุกมากขึ้น และได้ช่วยกันเก็บเงินทั้งครอบครัว ข้อเสีย: คุณพ่อคุณแม่หรือญาติผู้ใหญ่อาจจะไม่ค่อยได้เก็บเงิน เพราะต้องเอาไปให้รางวัลเด็กๆ แทน

  • เก็บเงินด้วยการเปิดบัญชีฝากประจำ

การเปิดบัญชีฝากประจำเป็นวิธีออมเงินที่บังคับให้ตัวเองมีวินัยเก็บเงินทุกเดือน เหมาะสำหรับคนที่มีรายได้ประจำ ข้อดี: ได้เงินก้อน พร้อมดอกเบี้ยเป็นของแถม สามารถฝากโดยตัดบัญชีอัตโนมัติได้เลยข้อเสีย: ไม่สามารถนำเงินฝากออกมาใช้ก่อนกำหนด ต้องปิดบัญชีเท่านั้น

ไม่ว่าจะใช้วิธีเก็บเงินแบบไหน หัวใจสำคัญของการออมเงินคือ ต้องตั้งเป้าหมายที่ไม่หักโหมเกินไป และมีวินัยต่อตนเอง กรุงไทยเชื่อว่าทุกคนสามารถมีทั้ง 2 สิ่งนี้ได้ และไม่ว่าจะเก็บเงินด้วยวิธีไหนก็จะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related