svasdssvasds

สภาทนายความ ชี้ "กราดยิงพารากอน" กฎหมายคุ้มครองเด็ก พ่อแม่อาจรับผิดทางแพ่ง

สภาทนายความ ชี้ "กราดยิงพารากอน" กฎหมายคุ้มครองเด็ก พ่อแม่อาจรับผิดทางแพ่ง

สภาทนายความชี้คดี "กราดยิงพารากอน" กฎหมายคุ้มครองเด็กหลายด้าน ทั้งทางอาญา ในฐานะผู้ต้องหา-สิทธิเด็ก แต่พ่อแม่อาจต้องรับผิดทางแพ่ง หวั่นการนำเสนอข่าว การเข้าถึงโซเชียล-อาวุธปืน

เด็กอายุ 12 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี ทำผิดอาญา ไม่ต้องรับโทษ

จากเหตุการณ์ "กราดยิงพารากอน" นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกและรองโฆษก สภาทนายความแสดงความเห็นกรณีที่เกิดขึ้น ว่าคดีนี้ ผู้กระทำยังเป็นเด็กชายอายุ 14 ปี

ซึ่งตามป.อาญามาตรา 74 บอกว่า การกระทำที่กฎหมายบัญญัติ ว่าการลงมือกระทำผิดอาญาโดยเด็กอายุ 12 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี นั้น เป็นความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ และศาลมีอำนาจไม่ส่งตัวเด็กไปควบคุมที่สถานพินิจ

แต่จะกำหนดเงื่อนไขตามมาตรา 56 ให้ผู้ปกครองปฎิบัติ คือ ในวรรคสาม บอกว่า ในกรณีที่ศาลมอบตัวเด็กให้ผู้ปกครองศาลอาจกำหนดให้ตั้งเจ้าพนักงานคุมประพฤติควบคุมติดตามดูพฤติการณ์เด็กก็ได้ แต่ถ้าศาลจะไม่ใช้วิธีนี้ก็ส่งตัวเข้าสถานพินิจไป เหตุการณ์เด็กกระทำผิดร้ายแรงครั้งนี้ไม่ใช่คดีแรก แต่เกิดมาหลายครั้งแล้ว ขณะที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองเด็กไม่ให้ต้องรับโทษแต่จะมีมาตรการสำหรับเด็กแทน

ที่น่าเป็นห่วงคือการเสนอข่าวของสื่อโซเชียลโดยนักข่าวพลเมือง รวมทั้งสื่อหลักบางแห่งเสนอภาพ รูปร่าง ที่อยู่ ชื่อของบุคคลที่เข้าถึงตัวเด็กได้

มีกฎหมาย 2 ฉบับคุ้มครองเด็กอยู่ คือ

  1. คุ้มครองเพราะเขายังเป็นเด็กคือ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กปี 2539
  2. คุ้มครองในฐานะเขาเป็นผู้ต้องหาตามป.อาญา พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีเยาวชน และ ป.วิ อาญาที่กฎหมายไม่ยอมให้เปิดเผยถึงตัวเด็กเลย

ทั้งนี้ ยังมีการละเมิดกฎหมายอยู่ซึ่งต้องตระหนักให้มาก แต่ในทางกลับกัน กฎหมายจะไปมุ่งลงโทษผู้ปกครองที่ทอดทิ้ง หรือปล่อยปละละเลยให้บุตรหลานของตนไปทำละเมิดคนอื่น คือ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก มาตรา23, 25 และ 26 ซึ่งมีอัตราโทษสูง

เด็กป่วยทางจิตเวช ได้รับการคุ้มกันโดยกฎหมายหรือไม่

ส่วนในประเด็นว่า เด็กอาจป่วยทางจิตเวช จะได้รับการคุ้มกันโดยกฎหมายหรือไม่ ประเด็นนี้ต้องย้อนไปดูต้นตอของปัญหาว่า พ่อแม่ ได้ให้ความรักความอบอุ่นกับลูกหรือไม่ เด็กไม่ใช่สินทรัพย์ของพ่อแม่ที่จะเลี้ยงดูด้วยการตามใจ ซื้อข้าวของให้ แต่ต้องให้ความใกล้ชิดเอาใจใส่

การที่เด็กไปติดเกมส์รุนแรง เป็นต้นเหตุจะแก้อย่างไร ประเทศเราเป็นเสรีนิยม การจะแก้ไขออกกฎหมายก็ต้องระวังเรื่องสิทธิเสรีภาพ แต่ขอให้ดูประเทศจีนเป็นตัวอย่าง เขามีกฎหมายจำกัดเวลาใช้สื่อโซเชี่ยลของเด็กไว้อย่างเข้มงวด ขณะที่ประเทศไทยยังปล่อยเสรี 

ทั้งหมดนี้เราต้องมาชั่งน้ำหนักของคำว่า "สิทธิมนุษยชน"ในระบอบประชาธิปไตย กับเหตุรุนแรงจากการกระทำของเด็ก เช่นคดีนี้เมื่อวานองค์กรสิทธิมนุษยชนออกมาแถลงการณ์ มีอาลัยฝ่ายผู้สูญเสียสั้นๆ แต่อีกสี่บรรทัดบรรยายถึงการคุ้มครองฝ่ายผู้กระทำ ขอให้ออกแถลงการณ์ไปทางฝ่ายที่ต้องสูญเสียบ้าง เพื่อให้ฝ่ายที่กระทำได้ตระหนักถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นในสังคม
 

ส่วนเรื่องปืน ถ้าเป็นปืนมีทะเบียนของพ่อแม่ผู้ปกครอง ตามกฎหมายแพ่งให้ต้องรับผิดในการกระทำละเมิดของเด็ก เพราะปล่อยให้เด็กเข้าถึงปืนได้อย่างไร แต่ถ้าเด็กซื้อปืนออนไลน์ ก็ฝาก ผบ.ตร.คนใหม่ให้กวดขัน โดยให้ตำรวจไซเบอร์ติดตามจับกุมผู้ขายผู้ซื้ออย่าจับแต่เว็บพนันเท่านั้น เชื่อว่าตำรวจมีฝีมือติดตามจับได้ไม่ยาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related