svasdssvasds

อนุทิน คุมเข้มปืน-แบลงค์กัน งดใบสั่งนำเข้า จ่อแก้ พ.ร.บ.อาวุธปืน

อนุทิน คุมเข้มปืน-แบลงค์กัน งดใบสั่งนำเข้า จ่อแก้ พ.ร.บ.อาวุธปืน

อนุทิน ระดมสมองเร่งมาตรการคุมเข้มอาวุธปืน-แบลงค์กัน-สิ่งเทียมอาวุธ งดใบสั่งน้ำเข้า จ่อแก้ไข พ.ร.บ. ปืน ขณะที่ ประธาน กมธ.กฎหมายขานรับ รอพิจารณาและต้องมีการทบทวนในรายละเอียดของกฎหมาย

วันที่ 5 ต.ค. 2566 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมพิจารณากำหนดมาตรการควบคุมการครอบครอง การพกพา และการใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุน สิ่งเทียมปืน เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว หากจำเป็นต้องเสนอแก้กฎหมาย โดย นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

อนุทิน คุมเข้มปืน-แบลงค์กัน งดใบสั่งนำเข้า จ่อแก้ พ.ร.บ.อาวุธปืน

ที่ประชุมเห็นชอบให้กรมการปกครองเป็นผู้รับผิดชอบในการออกมาตรการ โดยกำหนดเป็นมาตรการระยะสั้นและมาตรการระยะยาว

มาตรการระยะสั้น 

1.ให้นายทะเบียนอาวุธปืนทั่วประเทศ (นายอำเภอในต่างจังหวัด / อธิบดีกรมการปกครองใน กทม.) งดการออกใบอนุญาตให้สั่ง นำเข้า หรือค้า ซึ่งสิ่งที่เทียมอาวุธปืนทุกชนิด (สำหรับผู้รับใบอนุญาตรายเดิมที่จะสั่งนำเข้าเพิ่มเติม) และไม่อนุญาตให้รายใหม่ขออนุญาตเป็นผู้ค้า สั่งนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืนเพิ่มอีก

2.ขอให้ผู้ครอบครองแบลงค์กัน บีบีกัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืน ที่อาจดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ให้นำแบลงค์กัน บีบีกัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืนของตนที่ครอบครองอยู่ ไปแสดงและบันทึกต่อนายทะเบียนอาวุธปืนตามภูมิลำเนาซึ่งตนมีทะเบียนบ้านอยู่

3.ให้กรมศุลกากรตรวจสอบการนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แบลงค์กัน และบีบีกัน ที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้อย่างเข้มงวด

 

4.ให้การกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งกำกับดูแลสนามยิงปืนที่ได้จดทะเบียนเป็นสมาคมกีฬาทั่วประเทศให้มีการกวดขัน ตรวจสอบ ทั่วประเทศ

  • ห้ามผู้มีอายุไม่เกิน 20 ปี เข้าสนามยิงปืน ยกเว้น ได้รับอนุญาตตามระเบียบการกีฬาแห่งประเทศไทย เช่น นักกีฬายิงปืนทีมชาติ
  • อาวุธปืนที่ใช้จะต้องมีทะเบียนถูกต้อง และตรงตัวกับผู้มาใช้บริการ
  • ห้ามนำกระสุนปืนออกภายนอกสนามเด็ดขาด
  • สำหรับกรณีสนามยิงปืนในการกำกับดูแลของส่วนราชการ ขอให้ดำเนินการกวดขัน ตรวจสอบ ให้ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการและข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัดเช่นเดียวกัน

5.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ งดออกใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว

6.กระทรวงมหาดไทยไม่มีนโยบายดำเนินการโครงการอาวุธปืนสวัสดิการของทุกส่วนราชการ

7.ให้นายทะเบียนงดการออกใบอนุญาตสั่งนำเข้าอาวุธปืนของร้านค้าอาวุธปืนตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

8.ขอความร่วมมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี / บข.สอท.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมปราบปราม และปิดเว็บไซต์ เพจออนไลน์ซื้อขายอาวุธปืนเถื่อน และสิ่งเทียมอาวุธปืนดัดแปลงเป็นอาวุธปืน โดยขอให้รายงานผลการปฏิบัติให้กระทรวงมหาดไทยทราบทุก 15 วัน

อนุทิน คุมเข้มปืน-แบลงค์กัน งดใบสั่งนำเข้า จ่อแก้ พ.ร.บ.อาวุธปืน

มาตรการระยะยาว  

การแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2590

1.ต้องมีเอกสารใบรับรองแพทย์ที่รับรองเรื่องสุขภาพจิต ภาวะทางจิตใจ ที่ผู้ขออนุญาตซื้ออาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนต้องใช้ประกอบในการยื่นคำขอ

2.ความหมาย บทนิยาม ของคำว่า “สิ่งเทียมอาวุธปืน” ไม่ให้หมายความรวมถึง แบลงค์กัน บีบีกัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืนอื่น ที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ง่าย

 

3.กำหนดให้ผู้ที่จะซื้อสิ่งเทียมอาวุธปืนที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ ต้องยื่นคำขอต่อนายทะเบียนอาวุธปืน

4.ผู้ครอบครองอาวุธปืนทั่วประเทศทั้งรายเดิมที่มีอยู่แล้ว และรายใหม่ ที่อาจจะมีเพิ่มขึ้นจะต้องนำอาวุธปืน มายิงทดสอบเก็บข้อมูลหัวกระสุนทุกกระบอก ทุกราย

5.ให้ใบอนุญาตมีอาวุธปืนภายในวงเล็บ (ป.4) มีอายุของใบอนุญาต ซึ่งผู้ที่ได้รับใบอนุญาตไปแล้ว จะต้องนำอาวุธปืนมารายงานตัว กับนายทะเบียน ในทุก 5/10 ปีเพื่อพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตเช่นเดียวกันกับใบขับขี่รถยนต์

ขณะที่ นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวภายหลังที่ประชุมกรรมาธิการฯ นัดแรก มีมติให้เป็นประธานกรรมาธิการฯ ถึงกรณีมีเสียงเรียกร้องในสังคมให้มีการทบทวนพระราชบัญญัติอาวุธปืนต่อการครอบครองปืน หลังเกิดเหตุเยาวชนอายุ 14 ก่อเหตุภายในศูนย์การค้าสยามพารากอน

โดยยอมรับว่า ส่วนตัวเห็นว่า ควรจะต้องมีการทบทวนในรายละเอียดของกฎหมาย แต่ก็จะต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมของกรรมาธิการว่าจะพิจารณาอย่างไร ซึ่งในสัปดาห์หน้ากรรมาธิการก็จะมีการประชุมเพื่อวางกรอบการทำงานตามบทบาทหน้าที่อีกครั้ง โดยยืนยันว่า ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม และสังคมให้ความสนใจ ก็เป็นหน้าที่ของกรรมาธิการในการศึกษาหาข้อเท็จจริง เพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป

ขณะเดียวกัน ในการประชุมคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร นัดแรกที่ประชุมมีมติให้ นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ เป็นประธานกรรมาธิการฯ และมีรองประธานกรรมาธิการ 4 คน ได้แก่ นางสาวศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล, นายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ สส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย, นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม และนายองอาจ วงษ์ประยูร สส.สระบุรี พรรคเพื่อไทย และมีโฆษก 2 คน ได้แก่ นายณัฏฐ์ชนนท์ ศรีก่อเกื้อ สส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย และนางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

related