svasdssvasds

กลุ่มหนุนเงินดิจิทัล หนุนรัฐบาลเดินหน้า ซัดนักวิชาการค้าน เหมือนสากกะเบือ

กลุ่มหนุนเงินดิจิทัล หนุนรัฐบาลเดินหน้า ซัดนักวิชาการค้าน เหมือนสากกะเบือ

“กลุ่มหนุนดิจิทัลวอลเล็ต” ยื่นหนังสือหนุนรัฐบาลเดินหน้า บอกชาวบ้านต้องการ ซัดนักวิชาการค้านเปรียบเป็นสากกะเบือ ด้าน “สมคิด” บอกรับฟังความเห็นทุกฝ่าย พร้อมเตรียมประสาน “จุลพันธ์” แจง สว.

ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล ทำเนียบรัฐบาล ประชาชนในนามกลุ่มผู้สนับสนุน นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 เดินทางมายื่นหนังสือแสดงเจตนารมณ์และสนับสนุนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 ของรัฐบาล ภายหลังจากมีนักวิชาการและสมาชิกวุฒิสภาบางส่วน ออกมาคัดค้าน โดยมีรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง นายสมคิด เชื้อคง มารับเรื่อง

โดยแกนนำกลุ่มผู้สนับสนุนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต นายจุติพงษ์ พุ่มมูล อ่านแถลงการณ์ว่า ตามที่กลุ่มนักวิชาการและผู้เห็นต่างทางการเมือง ออกมาคัดค้านนโยบายดังกล่าวนั้น แต่ทางกลุ่มเห็นว่านโยบายดังกล่าวเป็นการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมในการสร้างโอกาสและต่อลมหายใจในการดำรงชีวิตของประชาชนและตลอดจนสร้างอาชีพ และทำให้กรุงไทยมีเกียรติมีศักดิ์ศรีลืมตาอ้าปากได้ จึงขอให้รัฐบาลเดินหน้าโครงการดังกล่าวเพื่อเป็นไปตามนโยบายที่หาเสียงและแถลงต่อรัฐสภา

ส่วนการคัดค้านของฝ่ายนักวิชาการมี่ออกมานั้น มีอคติต่อรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย โดยไม่เห็นหัวประชาชนคนยากจน จึงพยายามชี้ให้เห็นว่านโยบายดังกล่าวขัดต่อนโยบายการเงินการคลังหรือจะทำให้ประเทศไทยเป็นหนี้ โดยไม่มีความเข้าใจถึงเรื่องพายุหมุนทางเศรษฐกิจหรือดิจิตอลอีโคโนมิคส์ พร้อมมองว่าการคัดค้านกล่าวทำให้เห็นว่า คนรวยบางกลุ่มมองไม่เห็นหัวคนจนรากหญ้าซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

แกนนำกลุ่มผู้สนับสนุนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต กล่าวอีกว่า ประเทศเสียโอกาสและเวลามามากพอแล้วกับความเห็นต่างที่ล้าหลัง ดั่งเช่นเหตุการณ์ในอดีต เรื่องรถไฟความเร็วสูงและการบริหารจัดการน้ำ จนทำให้ประเทศเดินช้ากว่าที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ขอให้รัฐบาลดำเนินการทางกฎหมายกับผู้เห็นต่างที่มีพฤติกรรมยุยงปลุกปั่นที่ให้ไปถอนเงินจากธนาคาร ซึ่งเป็นข้อมูลเท็จทั้งสิ้น ผมขอให้ประชาชนที่เห็นด้วยแสดงความจำนงผ่านมายังช่องทางสื่อของรัฐบาลเพื่อเดินหน้าโครงการดังกล่าว

ขณะที่นายสมคิด ระบุว่า นโยบายดังกล่าวเมื่อมีหลายท่านแสดงความเห็นไม่ตรงกัน ทั้งสนับสนุนและคัดค้านนั้นรัฐบาลจึงยินดีที่จะนำความเห็นทุกกลุ่มไปศึกษาพูดคุยกัน โดยจะไม่มองว่ากลุ่มไหนรวยหรือจน แต่จะมองว่าเป็นความเห็นที่ตรงไปตรงมาหรือไม่ พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลจะเดินหน้าโครงการนี้ต่อ แต่จะมีการหาสิ่งที่ลงตัว เนื่องจากเท่าที่ตนได้สัมผัสทั้งพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเขาก็เห็นด้วย และก็มีบางส่วนไม่เห็นด้วยเหมือนกัน ฉะนั้นจะรับฟัง โดยช่วงเย็นวันนี้ต้นจะไปพูดคุยกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์อมรวิวัฒน์ ถึงประเด็นที่มีความเห็นต่างกันด้วย พร้อมย้ำว่ารัฐบาลจะฟังทุกเสียง 

ส่วนกรณีที่สมาชิกวุฒิสภาออกมาวิจารณ์นโยบายดังกล่าวด้วย นายสมคิด ระบุว่า สว. แต่ละกลุ่มก็มีความคิดของตัวเอง ซึ่งตนมองว่าไม่ได้ผิดอะไร แต่เราจะรวบรวมความคิดเห็นไปพิจารณาด้วย รวมถึงชี้แจงกับ สว. พร้อมเสนอว่า สว.สามารถตั้งกระทู้สดถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ และตนพร้อมประสานงานให้

ส่วนกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพร้อมจับตานโยบายดังกล่าวนั้น นายสมคิด ระบุว่า ตนเห็นแต่ข่าวยังไม่ได้ติดตามรายละเอียด จึงไม่แน่ใจว่าจะจับตาเรื่องอะไร เพราะนโยบายดังกล่าวเราได้ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ตอนเลือกตั้งไปแล้ว จึงคิดว่าเราไม่น่าจะผิดอะไรหรอก และคิดว่า ป.ป.ช.ไม่ได้ติดตามแต่ประเด็นดังกล่าว

เมื่อถามว่าคนที่ออกมาค้านมองว่าเป็นเรื่องของการเมืองหรือไม่เพราะเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย นายสมคิด ระบุว่า ตนไม่อยากพูดชื่อบางท่านก็คิดอคติเกินไป แต่บางท่านก็ติติงในเชิงหลักการ แต่บางคนใส่ความคิดส่วนตัวอคติเกินไปหน่อย ฉะนั้นขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลเศรษฐาในฐานะพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศชาติให้เดินหน้าฟื้นขึ้นได้ พร้อมระบุว่า ตนไม่อยากพูดว่ารัฐบาลที่แล้วก็ทำเหมือนกัน เพียงแต่ว่ามันยังไม่ฟื้น และมันกระปริบกระปรอยเพียงแค่ 300-500 ต่อเดือน แต่รัฐบาลนี้โยนไปทีเดียว 6 เดือน พร้อมระบุว่า ส่วนพื้นที่การใช้ส่วนตัวมองว่าควรกำหนดรัศมีเป็นอำเภอ เพราะจังหวัดมันกว้างเกินไป

เมื่อถามถึงกระแสเรียกร้องที่แจกเฉพาะกลุ่ม นายสมคิด ระบุว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาว่าจะคัดกลุ่มคนจนและคนรวยอย่างไร แต่โดยส่วนตัวคิดว่า ควรมอบให้ทุกคน เพราะถ้าคนรวยไม่ใช้ก็ไม่เป็นไร เพราะถือเป็นสิทธิ์ เพราะถ้าไม่ใช้ก็จะต้องคืนภายใน 6 เดือนโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว เพราะหากจะไปดูฐานเรื่องใครรวยใครจนมันยาก เนื่องจากแนวคิดง่ายแต่การปฏิบัติยาก

ทั้งนี้กลุ่มผู้สนับสนุนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยการถือสากกระเบือ พร้อมเปรียบเทียบนักวิชาการที่ค้านโครงการ ว่า เป็นนักวิชาการสากกะเบือ

นักวิชาการคัดค้าน นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเลต

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ นักวิชาการ ได้ออกแถลงการณ์ คัดค้าน นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท พร้อม 8 เหตุผล นโยบาย “ได้ไม่คุ้มเสีย” โดยแจ้งเหตุผลดังต่อไปนี้

  1. เศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัว โดยสำนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวประมาณร้อยละ 2.8 ในปี 66 และขยายตัวร้อยละ 3.5 ในปี 67 จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา มีการบริโภคส่วนบุคคลเป็นตัวจักรสำคัญ ในไตรมาส 2 ของปีนี้ การบริโภคขยายตัวถึงร้อยละ 7.3 นับว่าสูงสุดในรอบ 20 ปี สูงกว่า 2 เท่าของค่าเฉลี่ย 10 ปี คาดว่าปีนี้ทั้งปีจะขยายตัวร้อยละ 6.1 และ 4.6 ในปีหน้า จึงไม่มีความจำเป็นต้องกระตุ้นการบริโภคส่วนบุคคล แต่ควรเน้นการใช้จ่ายของภาครัฐ เพื่อสร้างศักยภาพในการลงทุนและการส่งออก นอกจากนี้ การกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ อาจทำให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นมาอีก หลังจากเงินเฟ้อได้ลดลงจากร้อยละ 6.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.9 ในปีนี้ ท่ามกลางราคาพลังงานมีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะหลัง การกระตุ้นการบริโภคช่วงนี้ อาจทำให้เงินเฟ้อคาดการณ์ (inflationexpectation) สูงขึ้น นำไปสู่สภาวะขึ้นดอกเบี้ยในที่สุด
  2. เงินงบประมาณของรัฐมีจำกัด ย่อมมีค่าเสียโอกาส การใช้เงินจำนวนมากถึง 560,000 ล้านบาท อาจทำให้รัฐเสียโอกาสการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในการสร้าง digital infrastructure หรือการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ล้วนสร้างศักยภาพในการเจริญเดิบโตในระยะยาว แทนการใช้เงินเพื่อการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นๆ ซึ่งไม่สมเหตุสมผลต่อการสร้างภาระหนี้สาธารณะให้เป็นภาระแก่คนรุ่นต่อไป ค่าเสียโอกาสสำคัญคือการใช้เงินสร้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชน
  3. การกระตุ้นเศรษฐกิจให้รายได้ประชาชาติ (GDP) ขยายตัว โดยรัฐแจกเงิน 560,000 ล้านบาท เข้าไปในระบบ เป็นการคาดหวังเกินจริง เพราะปัจจุบันข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัยทำให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ตัวทวีคูณทางการคลัง (fiscal multiplier) ที่เกิดจากการใช้จ่ายของรัฐในลักษณะเงินโอนหรือการแจกเงิน มีค่าต่ำกว่า 1 และต่ำกว่าตัวทวีคูณทางการคลัง สำหรับการใช้จ่ายโดยตรงและการลงทุนของภาครัฐ ผู้กำหนดนโยบายหวังว่านโยบายนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงเป็นสิ่งเลื่อนลอย ไม่มีใครเสกเงินได้ ไม่มีเงินงอกจากต้นไม้ ไม่มีเงินที่ลอยมาจากฟ้า ไม่ว่าจะแอบซ่อนมาในรูปใดก็ตาม สุดท้ายประชาชนจะต้องจ่ายคืนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น หรือราคาสินค้าแพงขึ้นเพราะเงินเฟ้อ อันเนื่องจากการเพิ่มปริมาณเงิน
  4. ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น เริ่มตั้งแต่ปี 2565 เพราะเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก การก่อหนี้จำนวนมาก ไม่ว่ารัฐบาลจะออกพันธบัตร หรือกู้เงินจากรัฐวิสาหกิจ หรือกู้สถาบันการเงินของภาครัฐ ล้วนแต่จะทำให้รัฐบาลและคนทั้งประเทศต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น หนี้สาธารณะของรัฐ ปัจจุบัน 10.1 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 61.6 ของ GDP ต้องมีภาระจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นในยามที่ต้องชำระคืนหรือกู้ใหม่ จึงมีผลต่อภาระเงินงบประมาณของรัฐในแต่ละปี โดยยังไม่นับเงินค่าดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการแจกเงินดิจิทัล คนละ 10,000 บาทนี้ด้วย
  5. ในช่วงที่โลกเผชิญกับวิกฤติโรคระบาดและภาวะเศรษฐกิจถดถอย รัฐบาลแทบทุกประเทศต่างจำเป็นต้องการขาดดุลการคลังและสร้างหนี้จำนวนมาก เพื่อใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุข กระตุ้นเศรษฐกิจ และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลายประเทศได้แสดงเจตนารมณ์ที่ฉลาดรอบคอบ โดยลดการขาดดุลภาครัฐและหนี้สาธารณะลง (fiscal consolidation) เพื่อสร้าง ‘พื้นที่ว่างทางการคลัง’ (fiscal space) เอาไว้รองรับวิกฤติเศรษฐกิจในอนาคตนโยบายแจกเงิน digital 10,000 บาท ดูจะสวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยมีอัตราส่วนรายรับจากภาษี เพียงร้อยละ 13.7 ของรายได้ประชาชาติ (GDP) ถือว่าต่ำกว่าประเทศอื่นๆ มาก การทำนโยบายการคลังโดยไม่รอบคอบระมัดระวัง และไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยังจะส่งผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือ (creditrating) ของประเทศ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้เงินของทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนไทยสูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นด้วย
  6. การแจกเงินคนละ 10,000 บาท ให้ทุกคนที่อายุเกิน 16 ปี เป็นนโยบายที่สร้างความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างยิ่ง เศรษฐีและมหาเศรษฐี ที่อายุเกิน 16 ปี ล้วนได้รับเงินช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็น
  7. เมื่อประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัยเช่นประเทศไทย การเตรียมตัวทางด้านการคลังเป็นสิ่งจำเป็น ขณะที่จำนวนคนในวัยทำงานลดลง แต่สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาระการใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการและสาธารณสุขจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้บริหารประเทศที่มองการณ์ไกลจึงควรใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า และรักษาวินัยและเสถียรภาพทางด้านการคลังอย่างเคร่งครัด ด้วยเหตุผลต่างๆ ข้างต้น
  8. ระบบ blockchain ปกติ ต้องทำการตรวจสอบความถูกต้องของทุกธุรกรรม โดยผู้ใช้ทุกคนที่เกี่ยวข้อง ข้อดีคือทำให้ไม่สามารถฉ้อฉลข้อมูลได้ ขณะเดียวกัน เป็นจุดตายของระบบด้วย เพราะแต่ละธุรกรรมจะต้องใช้เวลาเฉลี่ยในการตรวจสอบ 1-1.5 ชั่วโมงต่อธุรกรรม ยิ่งใช้เวลามากขึ้นเมื่อจำนวนธุรกรรมและผู้ใช้เพิ่มขึ้น เวลาที่ใช้ก็จะยิ่งเพิ่มเป็นทวีคูณ จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ในการเอามาใช้กับระบบซื้อขายตามปกติ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related