svasdssvasds

เปิดเหตุผล ทำไมเครื่องบินกองทัพอากาศต้องบินอ้อมไปไกลกว่าจะถึงอิสราเอล

เปิดเหตุผล ทำไมเครื่องบินกองทัพอากาศต้องบินอ้อมไปไกลกว่าจะถึงอิสราเอล

เปิดเหตุผล ทำไมเครื่องบินกองทัพอากาศไทยต้องบินอ้อมไกล ขึ้นเหนือเข้าจีน ผ่านเอเชียกลาง ตัดเข้าตุรกี ก่อนที่จะวกลงจอดที่อิสราเอล ใช้เวลากว่า 12 ชั่วโมง

จากกรณีกองทัพอากาศ จัดเครื่องบินลำเลียงแบบ A340-500 อพยพคนไทยในอิสราเอล ซึ่งใช้ระยะเวลาร่วม 12 ชั่วโมง 30 นาที เดินทางถึงประเทศอิสราเอล จากเส้นทางปกติใช้เวลาจริงประมาณ 8-9 ชั่วโมง แต่ติดปัญหาตรงที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ไม่อนุญาตให้เครื่องบินทหารของกองทัพอากาศบินผ่าน จึงจำเป็นต้องอ้อมไป 10 ประเทศที่ได้รับอนุญาต ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐประชาชนจีน คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน อาเซอร์ไบจาน อาร์มิเนีย ตุรกี ไซปรัส และอิสราเอล

ทั้งนี้กองทัพอากาศได้พยายามเร่งปรับแผนใหม่ เพื่อหาเส้นทางที่ย่นระยะการเดินทาง ให้ใช้เวลาน้อยลง 12 ชั่วโมง

เปิดเหตุผล ทำไมเครื่องบินกองทัพอากาศต้องบินอ้อมไปไกลกว่าจะถึงอิสราเอล

ล่าสุดเพจ thaiarmedforce.com วิเคราะห์เหตุผล ทำไมเครื่องบินกองทัพอากาศไทยต้องอ้อมไปไกลกว่าจะถึง อิสราเอล 

เมื่อวานนี้กองทัพอากาศส่งเครื่องบินโดยสาร A340-500 ไปรับคนไทยในอิสราเอล ถึงเป็นหนึ่งในไฟล์ที่จะเกิดขึ้นตลอดเดือนนี้เพื่อนำคนไทยราว 7,000 คนกลับบ้าน ในขณะที่ยอดคนไทยที่เสียชีวิตที่ยืนยันได้ล่าสุดพุ่งถึง 28 คนแล้ว

การเดินทางของ A340-500 นั้นใช้เวลาถึง 12 ชั่วโมง เพราะต้องอ้อมขึ้นเหนือเข้าจีน ผ่านเอเชียกลาง ตัดเข้าตุรกี ก่อนที่จะวกลงจอดที่อิสราเอล ซึ่งถือเป็นเส้นทางการบินที่อ้อม เนื่องจากกองทัพอากาศแจ้งว่ามีบางประเทศไม่อนุญาตให้ผ่านน่านฟ้า

เปิดเหตุผล ทำไมเครื่องบินกองทัพอากาศต้องบินอ้อมไปไกลกว่าจะถึงอิสราเอล

แม้ว่าเรื่องนี้จะถือเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ เพราะเราก็เชื่อว่าผู้ประสานงานอย่างเจ้าหน้าที่ในกระทรวงการต่างประเทศนั้นทำงานเต็มที่แล้ว เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ใหญ่ ไม่มีใครอยากจะทำให้มันล่าช้าหรือซับซ้อนแน่นอน ดังนั้นเราคงจะไม่ได้ตำหนิใครในประเด็นนี้ แค่จะลองมาช่วยกันหาเหตุผลว่า เพราะเหตุใดเครื่องบินของรัฐบาลไทยถึงต้องบินอ้อมเพื่อเดินทางไปอิสราเอล

ทั้งนี้ ต้องเข้าใจก่อนว่า แม้ A340-500 จะเป็นเครื่องบินโดยสารแท้ ๆ ไม่สามารถติดอาวุธหรืออะไรได้ แต่ในเมื่อเจ้าของเป็นกองทัพอากาศ ก็ถือเป็นเครื่องบินของรัฐ และเป็นเครื่องบินทางทหาร ดังนั้นขั้นตอนการขออนุญาตจะต่างกันออกไป

รอบที่แล้วที่รัฐบาลไทยส่งเครื่องบินไปรับคนไทยที่มาจากซูดานและมาพักที่ซาอุดิอาระเบียนั้น ก็ใช้เส้นทางบินปกติ นั่นคือ A340-500 บินเลี้ยวซ้ายผ่านอินเดีย เข้าสู่ตะวันออกกลางและลงจอดที่ซาอุดิอาระเบีย ถือว่าไม่มีปัญหาอะไร

แต่รอบนี้สิ่งที่แตกต่างกันก็คือจุดหมายปลายทางของไทยคืออิสราเอล ซึ่งแน่นอนว่ามีปัญหาทางการทูตกับหลายประเทศในตะวันออกกลาง ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บางประเทศ (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าประเทศไหน) ไม่อนุญาตให้ไทยบินผ่าน แม้ไทยจะมีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างดีกับประเทศรายทาง และไทยก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับสถานการณ์ความขัดแย้งนี้ โดยเฉพาะไทยให้การรับรองทั้งประเทศอิสราเอลและประเทศปาเลสไตน์ด้วยซ้ำ

เปิดเหตุผล ทำไมเครื่องบินกองทัพอากาศต้องบินอ้อมไปไกลกว่าจะถึงอิสราเอล

เพียงแต่ถ้ามองเชิงเปรียบเทียบ เกาหลีใต้ซึ่งส่งทั้งเครื่องบินของสายการบินและเครื่องบินของกองทัพไปรับชาวเกาหลีที่อิสราเอล ก็สามารถใช้เส้นทางบินปกติของเกาหลีใต้ นั่นคือบินลงมาทางใต้แล้วเลี้ยวขวาตัดผ่านประเทศไทยไปอินเดีย เข้าสู่ตะวันออกกลางและลงจอดที่อิสราเอล ซึ่งก็ทำให้น่าแปลกใจว่า ทำไมเครื่องบินทหารของเกาหลีใต้ถึงบินเส้นทางปกติได้ แต่ไทยต้องอ้อมเอา และทั้งที่เกาหลีใต้ใช้เครื่องบินทางทหารแท้ ๆ คือ A330 MRTT ด้วยซ้ำ แต่ก็สามารถบินเข้าออกอิสราเอลผ่านตะวันออกกลางได้ แต่ไทยที่ใช้เครื่องบินโดยสารทำไม่ได้

และในขณะที่สายการบินของอิสราเอลอย่าง El Al ที่บินมาไทย ก็ยังสามารถใช้เส้นทางการบินที่เกือบปกติได้ อาจจะต้องหลบบางประเทศบ้าง แต่ไม่ต้องอ้อมขึ้นเหนือไปแบบไทย ทั้งที่ El Al บินมาไทยเพื่อนำคนอิสราเอลกลับไปร่วมกองทัพอิสราเอลรบกับฮามาสด้วยซ้ำ หรือแม้แต่สายการบิน Fly Dubai ที่มาส่งคนไทยในวันนี้ ก็บินเส้นทางปกติเช่นกัน เลยกลายเป็นว่า A340-500 ของกองทัพอากาศไทยกลายเป็นเที่ยวบินหนึ่งในไม่กี่เที่ยวที่ต้องบินอ้อม

ย้ำอีกครั้งว่าเราไม่อยากจะมาพูดแบบนี้เพื่อหาคนผิดหรืออะไร เพราะเราก็เชื่อว่าแม้จะล่าช้าไปบ้าง แต่ทุกคนในกระทรวงการต่างประเทศก็พยายามอย่างเต็มที่แล้ว แต่จบสถานการณ์นี้ เราอาจจะต้องมาดูและเรียนรู้ในเชิงสร้างสรรค์ว่า เราติดขัดตรงไหนถึงประสานได้ค่อนข้างล่าช้า และประสานแล้วก็ไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร แต่ประเทศอื่นสามารถประสานงานได้ราบรื่นกว่าและสะดวกกว่า ดังนั้นเราต้องปรับตรงไหนในเชิงการทูตหรือการบริหารงาน หรือในเชิงจุดยืนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ต้องทำ การทำ After action review นั้นมีความจำเป็นมาก เพราะอย่างที่บอกไปคือเรามั่นใจว่านี่จะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่ต้องอพยพคนไทยออกจากอิสราเอลหรือประเทศอื่น ๆ ดังนั้นถ้าเราสามารถมีแผนการล่วงหน้าคร่าว ๆ มีการซักซ้อม มีการวิเคราะห์ออกแบบก่อนล่วงหน้า ไม่ต้องมาประสานหน้างานหรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทุกครั้ง นอกจากจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานไม่เหนื่อยและเครียดเกินไปแล้ว ยังทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วย

ครั้งนี้แม้ไทยจะเป็นประเทศที่สามที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดประเทศหนึ่งแต่เราอาจจะไม่ได้รับความสะดวกหรือการสนับสนุนจากมิตรประเทศมากเท่าที่ควร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นแบบนั้นตลอดไป มีอะไรที่ปรับหรือเปลี่ยนได้ก็ควรดำเนินการ เพราะสุดท้ายมันก็จะดีกว่าจุดยืนของประเทศไทย และประโยชน์ก็จะตกอยู่กับคนไทยนั่นเองครับ

related