svasdssvasds

“ต้องเต” วอนรัฐผลักดันภาพยนตร์ไทย ไม่ใช่แค่ถ่ายรูปแล้วบอก Soft Power

“ต้องเต” วอนรัฐผลักดันภาพยนตร์ไทย ไม่ใช่แค่ถ่ายรูปแล้วบอก Soft Power

“ต้องเต” วอนรัฐจริงจังผลักดันภาพยนตร์ไทยสู่สายตาชาวโลก ไม่ใช่แค่มาถ่ายรูป แล้วบอกว่าเป็น ซอฟต์เพาเวอร์ "ชนินทร์" แจง รบ.เพิ่งเริ่มผลักดัน "ซอฟต์เพาวเวอร์" (Soft Power) ไม่คิดเคลมความสำเร็จหนัง "สัปเหร่อ" บอก เจตนาสนับสนุน-ชี้ให้เห็นตัวอย่างงานคุณภาพ

จากกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง โพสต์ผ่านแพลตฟอร์ม เอ็กซ์ หลังชม ภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อร่วมกับนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี ว่า "สัปเหร่อ" คือภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเชื่อของภาคอีสานผ่านสายตาของคนรุ่นใหม่ออกมาได้อย่างน่าชื่นชม ผมเชื่อว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จคือการที่ผู้กำกับ และทีมงานภูมิใจในรากเหง้าของตัวเอง ควรค่าแก่การสนับสนุนครับ

พร้อมเผยอีกว่ารัฐบาลเราสนับสนุน Soft Power ทุกมิติ ด้านภาพยนตร์เองก็เช่นกัน เราพร้อมที่จะผลักดันให้ภาพยนตร์ไทยพาวัฒนธรรมของเราออกไปสู่สายตาชาวโลกเป็น "จุดขาย" ไปสร้างชื่อเสียง สร้างรายได้และความชื่นชอบให้กับประเทศไทย"

ล่าสุดวานนี้ (5 พ.ย. 2566) ต้องเต ธิติ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องสัปเหร่อ เผยในรายการอยู่ดีมีแฮง ช่อง ThaiPBS ระบุว่า ผมคาดหวังว่าเรื่องต่อๆ ไป ไม่ใช่แค่ของผม อยากให้มาสนับสนุนจริง ๆ หน่อย ไม่ใช่แค่มาถ่ายรูป คุณอาจจะไม่ได้เข้าใจหนัง #สัปเหร่อ จริง ๆ เลยก็ได้ แค่มาถ่ายรูป แล้วบอกว่า "สัปเหร่อ" เป็น ซอฟต์เพาเวอร์ (SoftPower)

ยกตัวอย่างตัวผมเองยังไม่รู้ว่า ซอฟต์เพาเวอร์ คืออะไร ตอนผมทำ เอ้า! หนังผมเป็น ซอฟต์เพาเวอร์' เหรอ ผมยังไม่รู้เลย แต่ถ้าผมได้รู้ หรือได้ทำความเข้าใจว่า ซอฟต์เพาเวอร์ คืออะไร หนังไปไกลกว่านี้ มีซอฟต์เพาเวอร์ จริงๆ แน่นอน ดังนั้น ถ้ามีการพูดคุยหรือเสวนาในวงการที่อยากจะเอา ซอฟต์เพาเวอร์ เผยแพร่ต่อต่างประเทศ อยากให้พาไปจริงๆ

หลังจากนั้น นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงประเด็นนี้ทางทวิตเตอร์ หรือ X ว่า รัฐบาลเพิ่งได้เข้ามาเริ่มผลักดันนโยบาย #SoftPower และไม่ได้คิดจะเคลมผลงานใดๆ จากความสำเร็จของภาพยนตร์ #สัปเหร่อ ครับ แต่มีเจตนาที่จะสนับสนุน และชี้ให้เห็นตัวอย่างหนึ่งของผลงานที่มีคุณภาพ

ในฐานะคอหนัง ผมเป็นคนหนึ่งที่เข้าชมภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยความตั้งใจ และประทับใจผลงานด้วยใจจริง

หวังอย่างยิ่งว่าในเร็วๆ นี้ ความสนใจและตั้งใจจริงของรัฐบาลชุดนี้ ที่จะสนับสนุนธุรกิจสร้างสรรค์แขนงต่างๆ ให้เติบโตและเป็นที่ยอมรับในวงกว้างขึ้น จะเห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วครับ

การสนับสนุนอุตสาหกรรมโดยภาครัฐ ไม่ได้มีเพียงกลไกเอาเงินทุนไปให้ หรือไปช่วยประชาสัมพันธ์ แต่สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ คือการดึงภาคเอกชนมาร่วมกันให้ข้อมูล ว่าการทำงานที่เป็นอยู่ ติดขัดปัญหาหรือข้อกฎหมายอย่างไรแล้วรัฐในฐานะผู้สนับสนุนจึงจะช่วยปลดล็อคข้อจำกัดต่างๆ เพื่อให้เอกชนได้ขยายศักยภาพของตนเองได้เต็มที่มากขึ้นครับ #SoftPower #รัฐบาลเศรษฐา”

นโยบายของ #พรรคเพื่อไทย ที่ใช้หาเสียง เฉพาะในส่วนของ”ภาพยนตร์”

อันนี้เป็นนโยบายของ #พรรคเพื่อไทย ที่ใช้หาเสียง เฉพาะในส่วนของ”ภาพยนตร์” ก่อนนะครับ ยังมีส่วนของวงการอื่นๆอีกครับ”

ต่อมาทางเพจเฟซบุ๊กเพจ ตุ๊ดส์review ได้วิเคราะห์ประเด็นที่เกิดขึ้น ภาพยนตร์ #สัปเหร่อ กับคำว่า #SoftPower ของรัฐบาลไทย

  1. จริงๆ รัฐไม่ได้เข้าใจด้วยซ้ำว่าเราจะสร้าง Soft Power กันยังไง เราแค่รอมันดังแล้วไปถ่ายรูปคู่ ไม่ได้ร่วมสร้าง ร่วมลงทุน และผลักดันโดยรัฐบาลตั้งแต่ก้าวแรกของการทำงาน
  2. การดูกันเอง ชื่นชมกันเอง สนุกสนานกันเองในประเทศ แต่ไม่ได้ผลักดันสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในตลาดโลก หรือพาหนังไปสร้างอำนาจละมุน ตามคำว่า Soft Power เพื่อพาวัฒนธรรมประชาชนไปสั่นสะเทือนวงการและอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ก็เท่ากับว่า "มันยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง และไม่ได้มีการลงมือทำอะไรเป็นรูปธรรม"
  3. การรอฉกฉวยโอกาสของรัฐ ที่มีต่อสิ่งที่ดังด้วยตัวมันเอง ซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยประยุทธ์ กำลังถูกสานต่อโดยยุคสมัยของเศรษฐา โดยที่ยังไม่เห็นนโยบายที่เป็นกลยุทธ์ และแนวทางการสร้างความสำเร็จ นอกจากรูปถ่าย PR เท่านั้น ที่ออกมาสร้างการรับชมกันเองในชาติ โดยที่ต่างชาติไม่ได้มาร่วมอึ้ง หรือซาบซึ้งใดๆกับเรา
  4. ถ้าบอกว่าสนับสนุนเพื่อให้ Soft Power ไทยไปไกลในตลาดโลก รัฐต้องลงทุน และมีหน่วยงานที่เอาผลผลิตอุตสาหกรรมบันเทิงไทยไปเจาะตลาดโลก ตั้งแต่ Day One โดยร่วมวางแผนการสร้าง Soft Power ให้ก้าวแรกมีเนื้อหาสาระ นักแสดง กลยุทธ์ และแนวทางการประชาสัมพันธ์ที่ส่งเสริมการส่งออกแบบครบวงจร แต่เราไม่เห็นกระบวนการเหล่านั้นในการวางแผนการทำงาน
  5. แค่ถ่ายรูป แล้วบอกว่าเป็น Soft Power มันมีประโยชน์น้อยมาก แถมยังสร้างความเหลื่อมล้ำในวงการหนังเสียอีก หนังไหนดัง รัฐถึงจะวิ่งปรี่เข้าไปเชิดชู ส่วนหนังเรื่องไหนไม่ทำเงิน ไม่มีกระแส กลับไม่เคยได้รับการแยแสจากรัฐ ทั้งๆที่หนังดีๆหลายเรื่องๆ ขาดการพูดถึง และให้คุณค่าจากสังคม แล้วทำไมรัฐไม่เป็นส่วนหนึ่งที่ให้โอกาสกับหนังไทยหลายๆเรื่องได้แจ้งเกิดมากขึ้น โดยที่ไม่ต้องรอผู้กำกับมาทวงถาม

Soft Power แบบปลอมๆ ก็ไม่ได้ไปไหนได้ไกลกว่าการเชยชมกันเอง เมื่อไหร่โลกทั้งใบจะเห็นศักยภาพของคนไทยและวงการบันเทิงไทย เราต้องทวงถามให้รัฐบาลทำงานเรื่องนี้กันอีกนานแค่ไหน

ไม่งั้น Soft Power ไทย ก็มีไว้เพียงเพื่อการโฆษณา

ที่มา : @ChaninNume , ตุ๊ดส์review

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related