svasdssvasds

ติดหนี้พนันเกือบตาย เกิดใหม่ได้เพราะ 'ไก่ย่าง ส้มตำ คุณครู'

ติดหนี้พนันเกือบตาย เกิดใหม่ได้เพราะ 'ไก่ย่าง ส้มตำ คุณครู'

'กลางวันสอนหลังสือ กลางคืนขายส้มตำ' คือกิจวัตรของครูปรีชาภรณ์ แห่งโรงเรียนพระโขนงพิทยาลัย ผู้ไม่เคยอายกับการทำมาหากิน แต่ภูมิใจที่พาตัวเองรอดตายจากหนี้นอกระบบ-พนัน แถมยังเป็นบทเรียนสอนลูกศิษย์ให้มีอาชีพและไม่มัวเมาอบายมุข

หากใครผ่านไปแถวปากซอยแบริ่ง 64/1 จะเห็นร้านไก่ย่างส้มตำรถเข็นหน้าเซเว่น อีเวเลน ที่มีลูกค้าแวะเวียนมาอุดหนุนตลอดเวลา หลายคนที่มาซื้อมักจะต้องยกมือไหว้สวัสดีทุกครั้ง ทีมข่าว SPRiNG เข้าไปสอบถามจึงได้รู้ว่าร้าน 'ไก่ย่าง ส้มตำ คุณครู' เป็นของครูปรีชาภรณ์ แย้มงาม ครูสอนวิชาคณิตศาสตร์และฝ่ายกิจการนักเรียนที่โรงเรียนพระโขนงพิทยาลัย ทำอาชีพครูมาแล้ว 20 ปี และช่วงเย็นจะเปลี่ยนชุดมาเป็นแม่ค้าขายส้มตำไก่ย่างตั้งแต่ 17.00-23.00 น. ทำอาชีพเสริมนี้มาแล้ว 6 ปี

ครูปรีชาภรณ์ เล่าให้ฟังว่า ชีวิตล้มเหลวเพราะการพนัน จนครอบครัวแตกแยก เป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบเกือบ 5 ล้านบาท เริ่มต้นจากการซื้อบ้านและเงินเดือนครูไม่เพียงพอต่อการผ่อนบ้านและใช้จ่ายในครอบครัว จึงมีความคิดชั่ววูบแอบไปเล่นการพนันเพื่อหารายได้เสริม หวังได้เงินก้อนทางลัด แต่ยิ่งเล่นก็ยิ่งติดลบ กู้เงินในระบบจากตำแหน่งข้าราชการมาต่อยอด กู้มาสี่ห้าหมื่น ไม่กี่นาทีก็หมด แต่สุดท้ายก็ต้องไปพึ่งหนี้นอกระบบ

หนี้นอกระบบดอกลอย จ่ายน้อย แต่จ่ายนาน

ครู เปิดเผยว่าช่วงแรกโทรยืมเงินเพื่อนจนโทรไปไม่มีคนรับสาย เจอหน้าเพื่อนก็อยากคุยด้วย ต้องหันไปหาเงินกู้นอกระบบ เช่น "หนี้ดอกลอย" เงินต้น 20,000 บาท จ่ายดอกเบี้ยวันละ 400 บาท แต่ต้องจ่ายทิ้งไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหาเงินต้นมาจ่ายคืนได้ทีเดียว รวมจ่ายดอกไปเกือบ 2 ปี รวมแล้วจ่ายดอกเบี้ยกว่าแสนบาท ทั้งที่เงินต้น 20,000 บาท แม้จะอยากต่อรองจ่ายหนี้ช้า แต่เขาทวงโหด ถ้าไม่จ่ายก็ตามไปเก็บที่บ้าน กลัวไปทำร้ายคนที่บ้าน "มีหรือไม่มีก็ต้องจ่าย"

จนถึงทางตันว่าเงินหมด ไม่มีเงินให้ลูกไปกินขนม ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม บ้านก็โดนฟ้องศาลจะถูกยึด มันเหมือนกับเราทำอะไรไปโดยไม่รู้ตัว

"เคยฆ่าตัวตาย เอายาทุกอย่างที่มีในบ้าน มากินหมด แต่พอนึกถึงหน้าพ่อแม่ หน้าลูกก็ล้วงคอ รอดมาได้"

ตอนนั้นอยากนอนทั้งวัน ไม่อยากให้ถึงเวลากลางวัน ไม่อยากออกไปเจอใคร จนตัวเองคิดว่าถ้าตาย ก็จบไปเลย หนีปัญหาได้ ก็เลยกวาดยาทุกอย่างในบ้านมาใส่ปาก เพราะที่บ้าน พ่อแม่ไปหาหมอบ่อยก็จะได้ยามาเยอะ แต่พอจะตายจริงๆ กลับคิดได้ว่า ต่อให้ตายไปหนี้ก็ไม่หมด แล้วเจ้าหนี้ก็จะมาทวงเอากับลูก กับพ่อแม่ แล้วพวกเขาก็ไม่มีบ้านอยู่ ไม่มีตัวเราเป็นเสาหลัก  

สุดท้ายตัดสินใจคุยกับพ่อแม่ พ่อแม่เคยทำอาชีพขายส้มตำไก่ย่างมาก่อน จึงแนะนำให้กลับมาขายไก่ย่าง ตอนแรกก็เริ่มขายจากในหมู่บ้าน แต่โดนร้องเรียนเรื่องควัน จนต้องออกมาเข็นขายหน้าหมู่บ้านและตามแคมป์คนงานก่อสร้าง จนมาเจอเซเว่นฯ เปิดใหม่ ก็เลยปักหลักขายที่นี่เป็นต้นมา จากขายไก่ย่างอย่างเดียว ก็เริ่มมาขายส้มตำ ตำไปชิมไปจนได้รสมือที่ลูกค้าชอบ ขายทุกวันตั้งแต่ห้าโมงเย็นยันห้าทุ่มเที่ยงคืน มีงานวัดที่ไหนก็จะขี่ซาเล้งไป มีงานโรงเรียนที่พระโขนงพิทยาลัยก็จะขี่รถไปจอดขาย

"พอตั้งร้านปุ๊บก็จะมีบังมาเก็บหนี้นอกระบบ วนเวียนกันมาเจ้าโน้น เจ้านี้ รวมแล้วกว่าวันละ 4,000-5,000 บาท"

ครูปรีชาภรณ์เล่าว่าตอนนั้นหยุดเล่นการพนัน ตั้งใจค้าขาย เจรจากับเจ้าหนี้ทยอยจ่ายไปทีละเจ้า ปิดหนี้ไปทีละเจ้าและไม่กู้เพิ่ม สู้มาหลายปีจนปลดหนี้นอกระบบได้ และเริ่มมีเงินเก็บ พอให้อยู่รอด

 

ข้าราชการคือผู้กู้ กู้จนเหลือเงินเดือนแค่ 2,000 บาท

ทุกวันนี้ตื่นหกโมงเช้าไปสอนหนังสือ สี่โมงเย็นเลิกงานมาเตรียมร้าน และไปขายตอนห้าโมงเย็น เที่ยงคืนกลับบ้านมาล้างของ เข้านอนตีหนึ่ง ใช้ชีวิตแบบนี้ทุกวัน แม้เหนื่อย แต่มีความสุข ตราบใดที่เรายังหาเงินได้ มีเงินส่งลูกเรียน มีเงินให้น้องสาว มีเงินเลี้ยงพ่อแม่

"เขาบอกข้าราชการครูเป็นผู้กู้จริงๆ เราก็กู้ทุกอย่าง จนตอนนี้เงินเดือนที่หักแล้วเหลือ 2,000 บาท"

ครูปรีชาภรณ์ เปิดเผยว่า เงินเดือนข้าราชการครู 40,000 บาท แต่หักจากหนี้เงินที่กู้มาในระบบสมัยติดการพนัน ทุกวันนี้เหลือเดินละ 2,000 บาท ยิ่งถ้ารัฐบาลแบ่งจ่ายเงินเดือนเป็น 2 รอบก็จะเหลือรอบละ 1,000 บาท ซึ่งไม่สามารถเอามาลงทุนซื้อของหรือทำอะไรได้เลย ดังนั้นทุกวันนี้การขายส้มตำไก่ย่างจึงเป็นรายได้หลักของครอบครัว ถ้าวันไหนขายดีๆ ก็อาจจะได้ถึงหลักหมื่นบาท

ทุกวันนี้เราทำงานมีภาพความสุขของพ่อแม่เป็นกำลังใจ มีเป้าหมายคือทำให้ลูกมีชีวิตที่ครบถ้วนสมบูรณ์ แม้จะถูกพ่อทิ้งไปก็ตาม

ไม่อายที่เป็นแม่ค้าส้มตำ แต่ภูมิใจที่กลับมายืนได้เอง และเผื่อแผ่คนรอบตัวได้

นักเรียนก็แซวว่า "ครูขายไก่ย่าง" เราก็ตอบไปว่า "ช่วยครูซื้อหน่อย"

นักเรียนหลายคนก็แวะเวียนมาอุดหนุน เราก็ทำให้กินบ้าง แถมบ้าง เหมือนได้เลี้ยงเด็กไปในตัว

ครูปรีชาภรณ์ กล่าวว่า ไม่รู้สึกอาย แต่รู้สึกภูมิใจที่เจอปัญหาแล้วมีทางออก แถมยังไปเล่าให้นักเรียนฟังได้ด้วยว่าเพราะอะไรถึงมาขายส้มตำไก่ย่าง เกิดจากความล้มเหลวอะไร เพื่อไม่ให้เด็กๆ เดินซ้ำรอยตัวเอง นอกจากนี้ยังเอาไก่ย่างมาให้เด็กๆ ขายหลังเลิกเรียนสร้างรายได้เพื่อเก็บไว้เป็นค่าเทอม ฝึกอาชีพ ซึ่งเด็กหลายคนที่ครอบครัวยากจน หรือพ่อแม่ไม่มีเวลาดูแลหลังเลิกเรียนก็ไม่ไปยุ่งกับยาเสพติด แถมยังได้หารายได้ไว้จ่ายค่าเทอม พวกเขาก็เกิดความภาคภูมิใจด้วย ซึ่งครูเองก็ภูมิใจที่ไก่ย่างของเราไม่ใช่แค่ฟื้นชีวิตและครอบครัวตัวเอง แต่ยังแบ่งเบาภาระให้ครอบครัวอื่นๆ ด้วย 

รับชมเพิ่มเติม

related