svasdssvasds

เศรษฐกิจไทยปี’67 เป็นอย่างไร? รวมคำทำนาย "เศรษฐกิจไทย" แต่ละโพลคาดไว้ !

เศรษฐกิจไทยปี’67 เป็นอย่างไร? รวมคำทำนาย "เศรษฐกิจไทย" แต่ละโพลคาดไว้ !

เพื่อเป็นการเตรียมตัวรับมือ และวางแผนเรื่องปากท้อง วางแผนธุรกิจปี2567 วันนี้จะพามาดูคำทำนายแต่ละโพลคาดกราณ์ไว้ว่ายังไง เศรษฐกิจไทยปี’67 จะเป็นอย่างไร? บทความนี้มีคำตอบ

ปีเก่าผ่านไปปีใหม่เข้ามา แน่นอนว่าปี2567 หลายคนตั้งเป้าวางแผนชีวิตตัวเองใหม่ แม้ว่าวันเวลาผ่านไป แต่…ชีวิตปากท้อง การกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ต้องเดินต่อไปแบบไม่มีวันหลับใหล แต่เราจะทำอะไรก็ต้องทำการบ้านดีเรื่องข้อมูลคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี2567 ว่าจะเป็นอย่างไร เพื่อการรับมือที่ทันถ่วงที วันนี้ #สปริงนิวส์ จะพามาส่องเศรษฐกิจไทยปี’67 ว่าเป็นอย่างไร ?

มาเริ่มกันที่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics มองว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังไม่กลับสู่ระดับศักยภาพจากการฟื้นตัวที่ล่าช้าและไม่ทั่วถึงในหลายภาคส่วน โดยได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 ลงจาก 2.8% เหลือ 2.4% สำหรับปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.1% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว ประกอบกับผลบวกชั่วคราวจากมาตรการกระตุ้นการบริโภค

อย่างไรก็ดีมองว่าเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังเผชิญความไม่แน่นอนสูงทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ยังไม่แน่นอนสูง ตลาดการเงินผันผวนทั่วโลก ความเสี่ยงจากความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ รวมถึงความเปราะบางของเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่อาจกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน

การท่องเที่ยวคือความหวังฟื้นเศรษฐกิจปี2567

 

ทั้งนี้ ttb analytics ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวได้ 3.1% (จากประมาณการเดิมที่ 3.2%) ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะจากมาตรการลดภาระค่าครองชีพครัวเรือนและกระตุ้นการบริโภคในภาพรวม อาทิ มาตรการลดหย่อนภาษี (Easy E-receipt) นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มาตรการแก้หนี้นอกระบบ ตลอดจนแรงส่งจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

อย่างไรก็ตามการลงทุนภาครัฐในปี 2567 มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง หลังการลงทุน Mega Project โครงการใหม่ ๆ คาดว่าจะล่าช้าออกไปจากกรอบปีงบประมาณปกติราว 6 เดือน จากความล่าช้าในกระบวนการจัดทำ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ซึ่งจะทำให้สามารถเบิกจ่ายเงินงบประมาณได้ราวปลายไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 และจะเร่งตัวขึ้นในไตรมาส 3 ก่อนสิ้นสุดปีงบประมาณ

มาต่อกันด้วยวิจัยกรุงศรี ประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตตามวัฎจักรเศรษฐกิจ แม้การเติบโตจะยังไม่กระจายตัวและมีความไม่แน่นอน โดยคาดว่าในปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 3.4% ซึ่งไม่รวมผลของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ด้วยแรงส่งส่วนใหญ่มาจากปัจจัยภายในประเทศ

ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (จำกัด) มหาชน กล่าวว่า วิจัยกรุงศรีคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวที่ 3.4% ซึ่งตัวเลขนี้ไม่นับรวมผลของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต โดยมีปัจจัยภายในประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ ได้แก่ 1) การฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว จากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐและความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น โดยประมาณการว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นจาก 27.7 ล้านคนในปี 2566 เป็น 35.6 ล้านคนในปี 2567 แม้จะยังไม่กลับสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิดที่ 40 ล้านคนก็ตาม

2) การบริโภคภาคเอกชนยังคงเติบโตต่อเนื่องที่ 3.3% โดยมีแรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น กอปรกับยังมีผลเชิงบวกจากนโยบายของภาครัฐที่ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพและมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย

3) การใช้จ่ายภาครัฐจะมีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2567 ภายหลังจากการอนุมัติพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีวงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้น 9.3% จากงบประมาณในปีงบฯ ก่อน) ส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนภาครัฐในปี 2567 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวที่ 1.5% และ 3.0% ตามลำดับ จากที่คาดว่าจะหดตัวในปี 2566 และ 4) การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะเติบโตดีขึ้นที่ 3.5% ตามการเติบโตของภาคบริการและกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสำคัญๆ

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวต่อเนื่อง การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) อยู่ที่ 2.8% ในปี 2566 และ 4.4% ในปี 2567 โดยการขยายตัวในปีหน้าจะสูงขึ้นจากหลายแรงขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการต่าง ๆ เข้ามากระตุ้นเพิ่ม การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานน่าจะมาเพิ่มขึ้นคาดว่าจะทำให้ภาคเอกชนมีการลงทุนเพิ่มเติม และการส่งออกน่าจะฟื้นตัวขึ้นเป็นบวกจากฐานที่ต่ำในปีนี้โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 4.2% ในปี 2567 รวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 อาจขยายตัวในกรอบ 3.1-3.6% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของ 3 ส่วนได้แก่

  • ภาคการท่องเที่ยว
  • การใช้จ่ายของภาครัฐ
  • มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

ส่วนการส่งออกอาจพลิกเป็นบวกได้ ขณะที่ต้นทุนธุรกิจยังมีแนวโน้มทรงตัวสูง ทั้งจากราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ค่าจ้างที่ขยับตามการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อัตราดอกเบี้ยในประเทศที่ทรงตัวสูงต่อเนื่อง ตลอดจนการเตรียมการรับมือกับกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ

มาดูฟาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เผยแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.7 – 3.7 (ค่ากลางของการประมาณการอยู่ที่ร้อยละ 3.2) โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจาก (1) การกลับมาขยายตัวของการส่งออก (2) การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และ (3) การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ คาดว่าการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.2 และร้อยละ 2.8 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 3.8 สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 1.7 – 2.7 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.5 ของ GDP

ปิดท้ายที่ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย โดย ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 ต้องจับตาเศรษฐกิจโลกและนโยบายภาครัฐ ซึ่งจะมีผลต่อองค์ประกอบของการคาดการณ์ GDP เช่น การส่งออก การท่องเที่ยว การบริโภค การลงทุนของภาครัฐและเอกชน  โดยสำนักวิจัย ธนาคาร   ซีไอเอ็มบี ไทย มี 3 สมมุติฐาน กรณีดี กรณีแย่ และกรณีเลวร้าย

 กรณีดี

  • สหรัฐฯ สามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์ Soft Landing ได้ ในขณะที่จีนอัดฉีดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อขับเคลื่อนการเติบโต และไม่เกิดปัญหาหนี้ในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ และปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์
  • การส่งออกของไทยฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วในช่วงไตรมาสสี่ส่งผลให้ทั้งปีการส่งออกหดตัวน้อยกว่าคาดที่ -2.1% ปีนี้และขยายตัวมากกว่า 0.6% ปีหน้า จำนวนนักท่องเที่ยวเติบโตสูงเกินคาดหรือมากกว่า 28.4 ล้านคนปีนี้ และ 34 ล้านคนปีหน้า
  • นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสามารถดำเนินการได้ก่อนสิ้นปี 2566 โดยมีเป้าหมายเพื่ออัดฉีดเงินให้ภาคครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและกระตุ้นการบริโภค อีกทั้งมีเสถียรภาพทางการเมืองสร้างความเชื่อมั่นดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้สูงขึ้น

กรณีแย่

  • เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นกินเวลานาน ส่วนจีนเผชิญการชะลอตัวยิ่งขึ้นจากการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทและฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์
  • การส่งออกของไทยเติบโตเล็กน้อยท่ามกลางอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแอ ส่วนการท่องเที่ยวยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจ
  • นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเริ่มดำเนินการได้ในไตรมาส 2 ปี 2567 หลังจากได้รับอนุมัติงบประมาณ กระตุ้นการบริโภคและการลงทุน และอาจมี FDI ย้ายฐานการลงทุนมาไทยบ้าง

กรณีเลวร้าย

  • เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ชะลอตัวเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ขณะที่จีนเผชิญภาวะชะลอตัวที่รุนแรงยิ่งขึ้น แต่ยังคงเติบโตเหนือ 4% ในปี 2567
  • การส่งออกชะลอท่ามกลางปัญหาอุปสงค์และห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกที่อ่อนแอ ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวเติบโตช้ากว่าคาด
  • นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลล่าช้าไปเป็นครึ่งปีหลังของปี 2567 ส่งผลกระทบซ้ำให้การบริโภคภาคครัวเรือนของผู้มีรายได้น้อย ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรง

ทั้งหมดที่ #สปริงนิวส์ รวบรวมมาให้เพื่อให้ภาคธุรกิจ และผู้คนได้วางแผนชีวิตถูก หากรู้ว่าเศรษฐกิจไทยจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related