svasdssvasds

พ.ร.บ นิรโทษกรรมประชาชน ก้าวแรกของความปรองดองในประเทศ ?

พ.ร.บ นิรโทษกรรมประชาชน  ก้าวแรกของความปรองดองในประเทศ ?

สรุปใจความสำคัญจากงาน เสวนา "นิรโทษกรรม ทางออกกระบวนการยุติธรรมไทย?"ก้าวแรกของความปรองดองในประเทศ จะเป็นไปได้จริงหรือ

เวลานี้ ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนกำลังรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายยุติคดีการเมืองย้อนกลับไปตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนถึงปัจจุบัน เพื่อยื่นร่างต่อประธานสภาในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2567

ด้วยเหตุนี้ การสร้างความเข้าใจต่อ พ.ร.บ นิรโทษกรรมประชาชน จึงจำเป็นยิ่งกว่าช่วงเวลาไหน ทำให้ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ร้าน BEERGASM ปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จึงจัดงาน “Drink and Talk” ในหัวข้อ “เมื่อความรุนแรงโดยรัฐล้นศาล ‘นิรโทษกรรม’ ทางออกกระบวนการยุติธรรมไทย?” เพื่อถกเถียงว่า นิรโทษกรรมเป็นคำตอบและทางออกจริงหรือไม่ ?

พ.ร.บ นิรโทษกรรมประชาชน  ก้าวแรกของความปรองดองในประเทศ ?

โดยภายในงานได้ วิทยากร 6 ท่าน ทั้งจากฝั่งของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ,ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ,อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ,ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ไปจนถึงอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 116 ที่จะมาพูดคุยหาคำตอบร่วมกัน

รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“เพราะกฎหมายไทยมีข้อยกเว้นเสมอ”

รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า “ผมเชื่อว่านิรโทษกรรมมีแต่เรื่องที่ดี และผมยังไม่เห็นโทษ หรือความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งน่าแปลกใจว่าทำไมต้องมีข้อยกเว้น หรือข้อขัดแย้ง ในเรื่อง ม.112 เพียงข้อเดียว ในขณะที่ข้ออื่นๆ ไม่มีปัญหา ทั้งๆ ที่เรื่อง ม. 112 ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ซับซ้อน คอขาดบาดตาย หรือร้ายแรงจนไม่สามารถพูดกันได้”

“แต่ในทางกลับกันผมก็ขอขอบคุณที่คนในสังคมที่เข้าใจ และเปิดเวทีให้พูดเรื่องนี้ได้อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะนักการเมืองที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น และช่วยผลักดันไปสู่ระดับนโยบายได้”

“ในฐานะที่เป็นอาจารย์ก็ขอพูดในมุมที่ว่า เพราะกฎหมายไทยมักมีข้อยกเว้นเสมอในบางกรณีเสมอ ซึ่งไม่มีคำอธิบายด้วย เช่นการที่เมืองไทยเราไม่เคยมีการประกาศอย่างเป็นทางการว่า การปฏิวัติหรือรัฐประหารนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งผมมองว่าค่อนข้างแปลกประหลาดที่สุด และศาลก็มีแนวโน้มยอมรับได้ในหลายๆ ครับ หรือต่อให้บางครั้งจะไม่ยอมรับในตอนแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไปศาลก็จะมองข้ามไปได้ ซึ่งถ้าให้ผมพูดตรงๆ มันคือความไม่ปกติของกระบวนการยุติธรรม และเราก็ไม่รู้ว่าจะแก้ไขมันอย่างไร”

“ซึ่งทำให้ผมมองว่ากระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นหลังจากการรัฐประหารนั้นคือความผิดพลาด ทำให้คนที่ถูกจับดำเนินคดีดำเนินคดีต่างๆ ก็คือ ปฏิกิริยาตอบโต้ต่อการกระทำนั้น ดังนั้นการให้อภัย การปล่อยตัว ก็คือการให้โอกาสคนเหล่านั้นได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ ดังนั้นผมจึงมองไม่เห็นข้อเสียอะไรใน พ.ร.บ นิรโทษกรรมของประชาชน และยังเชื่อว่าจะช่วยให้สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คนได้กล้าคุยกัน พร้อมกับช่วยให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้”

“ผมมองว่าการนิรโทษกรรมเป็นโอกาสที่ดีและไม่ควรปล่อยให้หลุดมือขึ้นไป เพราะถ้ามันหลุดลอยไป แล้วเกิดความขัดแย้งใหม่ขึ้นมาเราจะยิ่งแก้ไขอะไรไม่ได้ และที่สำคัญคือการนิรโทษกรรมยังช่วยแก้ไขระบบกฎหมายไทย ที่ต้องยอมรับว่ามีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นจริงๆ”

พูนสุข พูนสุขเจริญ ฝ่ายนโยบายและกฎหมาย จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

นิรโทษกรรมประชาชน คือการเยียวยาขั้นพื้นฐาน

พูนสุข พูนสุขเจริญ ฝ่ายนโยบายและกฎหมาย จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ชี้แจงว่า “เพราะเราเข้าใจสถานการณ์ดีว่าตอนนี้ยังมีความขัดแย้งอยู่ เราจึงเสนอ พ.ร.บ นิรโทษกรรม ฉบับประชาชนที่มีเงื่อนไขสร้างความขัดแย้งให้น้อยที่สุด ซึ่งถ้าพูดกันตามตรงเรายังเหลืออีกหลายเรื่องที่ต้องทำมากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการเยียวยาผู้เสียหาย หรือการเคลียร์คดีความที่ค้างคาต่างๆ”

“ต้องสร้างความเข้าใจว่า การนิรโทษกรรมไม่ใช่การแก้ไข หรือยกเลิก ม.112 เพราะกลุ่มที่ได้ประโยชน์จริงๆ มีเพียงคนที่กระทำการในช่วงเวลาดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งถ้าในอนาคตคนกลุ่มนี้ทำผิดอีก ก็ต้องพิจารณากันอีกที ดังนั้นนี่ไม่ใช่การล้มล้าง หรือแก้ไขพระราชอำนาจให้ลดลงแน่นอน และไม่เกี่ยวข้องกันเลย”

“เรามองว่า ที่ผ่านมา 10 กว่าปีมีประชาชนต้องตกเป็นผู้ถูกกระทำจากกระบวนการยุติธรรมมาเยอะแล้ว เราจึงคาดหวังให้สภาผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนของประชาชน จะไม่ซ้ำเติมประชาชนไปมากกว่านี้ และเราก็อยากให้นิรโทษกรรมประชาชนผ่านไปได้ด้วยดี เพราะนี่คือการบรรเทาความเจ็บปวดของสังคมขั้นต่ำสุดแล้ว และลดเงื่อนไขลงมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว”

นทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความและกรรมการ จากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

“กฎหมายไทย คุ้มครองสิทธิภาพของประชาชนได้ไม่ทั่วถึง”

นทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความและกรรมการ จากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เล่าถึงการต่อสู้คดีที่เกี่ยวข้องกับผู้ชุมนุมว่า “เราส่งทนายในเครือข่ายไปฟ้องตำรวจที่ใช้กระสุนยางสลายการชุมนุมไปกว่า 24 คดี เพื่อให้เป็นการตอบโต้การกระทำของเจ้าหน้าที่บ้าง แต่ท้ายที่สุดเราชนะแค่ 2 คดี ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่า บทบาทของศาลในการคุ้มครองสิทธิภาพของประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองนั้น มันยังน้อยไป!!!”

“เรามองว่าศาลใช้แว่นตาเดียวกันกับที่เจ้าหน้าที่มองผู้ชุมนุม ซึ่งมองแบบเหมารวมว่าการชุมนุมทุกกรณีที่เกิดขึ้น คือการก่อความวุ่นวายให้บ้านเมือง ซึ่งประเด็นนี้ก็มองได้ว่า รากฐานในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพไทยนั้นค่อนข้างต่ำ และอาจคุ้มครองอะไรไม่ได้เลย ซึ่งปัจจุบันนี้เราก็ยังไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่ผู้ยิงกระสุนยางคือใคร ตอนนี้ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ไหม และยังไปละเมิดใครอยู่อีกหรือเปล่า”

“และเร็วๆ นี้ก็มีกลุ่มเล็กๆ ที่ออกมา รณรงค์เรื่องนิรโทษกรรม แต่ก็ยังถูกเจ้าหน้าที่เดินเข้ามาบอกว่านี่เป็นการชุมนุมโดยไม่แจ้ง ซึ่งทำให้เรารู้สึกตลกมากกว่าทำไมบ้านเมืองเราถึงไม่มีความเข้าใจในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนเลย”

“เราจึงอยากให้ นิรโทษกรรมประชาชนผ่าน และถูกใช้ให้เร็ว เนื่องจากมันจะช่วยลดงานของเจ้าหน้าที่ไปเยอะ ไม่ต้องมาเหนื่อยทำสำนวนคดี ถอดเทป หรือส่งฟ้องอีก ซึ่งมันจะช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ลงไปได้เยอะ”

เพราะมีคนถูกกฎหมายกลั่นแกล้งอย่างไม่เป็นธรรม

ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 116 เล่าว่า “เราโชคดีที่ครอบครัวยอมรับความแตกต่างได้ แต่ครอบครัวอื่นอาจไม่มีต้นทุนตรงนั้น”

“ถ้ายังจำกันได้ เคยมีกรณีหนึ่งเกิดขึ้น โดยคนที่เป็นพี่ชายแจ้งตำรวจว่าน้องชาย แท้ๆ ในบ้านวิจารณ์ข่าวในพระราชสำนัก ทำให้ตำรวจออกหมายเรียกน้องชายไปดำเนินคดีโดยไม่ให้มีการประกันตัว และกว่าจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์กันได้ คนเป็นน้องก็ชายต้องอยู่ในคุกเกือบ 2 ปี โดยต้องเสียทั้งเวลาและเงินในระหว่างนั้นไปมาก”

“กรณีนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการกลั่นแกล้งกันด้วยกฎหมาย ซึ่งมีอีกหลายคนที่เจอชะตากรรมคล้ายๆ กัน และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างสู้คดีเช่นกัน ซึ่งมันทำให้เราไม่อยากเห็นกรณีแบบนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีการแก้ไขอะไร”

“ถ้าจะสร้างจุดเริ่มต้นที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ เราก็ต้องสนับสนุนการนิรโทษกรรม ให้ผ่าน ซึ่งแน่นอนว่าลำพังฝ่ายค้านคงทำไม่ได้ ถ้าไม่มีการสนับสนุนจากฝ่ายที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่านักการเมืองจะเห็นความสำคัญของพี่น้องประชาชนขนาดไหน และกล้าทำเพื่อประชาชนขนาดไหน”

“ถึงเราจะไม่รู้ว่า จะเกิดอะไรขึ้น หาก พ.ร.บ นิรโทษกรรมสำเร็จ แต่อย่างน้อย คนที่อยู่ในเรือนจำทั้งหมดก็จะได้รับการปล่อยตัวออกมา นั่นหมายถึงพ่อแม่เห็นหน้าลูก ลูกเห็นหน้าพ่อแม่ คืนครอบครัวให้เขา เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่จะเอาเขาไปจองจำเพื่อเปลี่ยนความคิด และมันก็ไม่สำคัญว่าสังคมจะเห็นตรงกับคนที่อยู่ในคุกหรือไม่ เพราะคำว่าดีของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่มันต้องมีก้าวแรกสังคมจะอยู่ร่วมกันบนความเห็นต่างได้”

วทันยา บุนนาค หรือ “มาดามเดียร์”

“เราต้องไม่หนีความจริง และกล้าเอาปัญหามาถกกัน”

วทันยา บุนนาค หรือ “มาดามเดียร์” ซึ่งมาร่วมงานด้วยความประสงค์ส่วนตัว โดยไม่เกี่ยวข้องกับพรรค ประชาธิปัตย์ เล่าว่า “เท่าที่ศึกษามา นิรโทษกรรมประชาชนเป็นแนวคิดพื้นฐาน ซึ่งถ้าพูดถึงความยุติธรรม ต่อให้ไม่ใช่คดีการเมือง ก็ไม่มีใครไม่สมควรไม่ได้รับความยุติธรรม เพราะประชาชนหวังพึงกระบวนการนี้อยู่

“หากมองในมุมการเมือง เราเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำที่จะมีคนเห็นต่าง เพราะถ้าทุกคนคิดเหมือนกันหมด สิ่งใหม่ๆ ก็ไม่มีวันเกิดขึ้นได้ ฉะนั้นเราคิดว่าเป็นเรื่องปกติ และเราควรสนับสนุนเรื่องเสรีภาพในการนำเสนอความคิดเห็น ตราบใดที่ไม่ไปละเมิดสิทธิของคนอื่น”

“เรามองว่าเป็นเรื่องแปลก สำหรับคนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมทางด้านกฎหมายจากกรณีที่มีความเห็นต่างทางการเมือง ทั้งๆ ที่มันเป็นหลักพื้นฐานที่สุดในระบอบประชาธิปไตย หรือพูดอีกอย่างคือส่วนใหญ่นั้น ไม่ได้ตั้งใจประพฤติตัวร้ายแรงเลยด้วยซ้ำ จึงไม่มีเหตุผลเลยที่พวกเขาจะไม่ได้รับความยุติธรรม”

“แต่เราก็เข้าใจว่ามันมีประเด็นที่ต้องระมัดระวัง ซึ่งทั้งประชาชน และพรรคการเมืองต่างก็แสดงความเป็นห่วง แต่เราคิดว่าสามารถใช้เครื่องมือกลไกใน พ.ร.บ นิรโทษกรรม มาช่วยกลั่นกรองในคดีต่างๆ ได้ เพื่อให้คนที่ไม่สบายใจมีความมั่นใจมากขึ้น”

“สิ่งสำคัญคือต้องไม่หนีความจริง แต่ต้องกล้าเอาปัญหาจะมาถกกัน และเผชิญหน้ากับมัน ซึ่งจริงๆ สิ่งที่อยากจะเชิญชวนมากกว่านั้น คือหลังจาก พ.ร.บ นิรโทษกรรม สำเร็จแล้ว เราควรมาถอดบทเรียนร่วมกัน ว่าเราจะหันหน้าพูดคุยกันได้อย่างไร เพื่อไม่ให้ปัญหาในอดีตเกิดขึ้นซ้ำๆ อีก และเราก็ไม่ได้อยากให้ พ.ร.บ นิรโทษกรรม เกิดขึ้นบ่อย เพราะมันยิ่งบ่งบอกว่าประเทศเรากำลังมีปัญหาเกิดขึ้น”

พ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชน คืออะไร?

พ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชน คืออะไร?

การอภัยโทษให้คดีความผิดตามประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

  • คดีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 37/2557 และประกาศคณะรักษาความสงบฉบับที่ 38/2557
  • คดีตามฐานความผิดในมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา
  • คดีตามฐานความผิดในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
  • คดีตามฐานความผิดในพระราชบัญญัติออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2557
  • คดีตามฐานความผิดที่เกี่ยวโยงกับข้อดังกล่าวด้านบน

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ. นิรโทษกรรมประชาชน มีข้อยกเว้นไม่รวมเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมหรือกระทำเกินแก่เหตุ รวมถึงความผิดตามมาตรา 113 แห่งประมวลกฎหมายอาญาหรือความผิดฐานเป็นกบฏ ซึ่งได้แก่ความผิดฐานล้มล้างรัฐธรรมนูญ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการ แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครอง

คณะกรรมการนิรโทษกรรมมีทั้งหมด 19 คน ได้แก่

  • ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานคณะกรรรมการ
  • ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
  • ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล
  • ส.ส. 10 คนตามสัดส่วนของพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร
  • ตัวแทนจากประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีจาก 4 เหตุการณ์ คือ การรัฐประหาร 2549 จากการชุมนุมช่วงปี 2552 – 2553 จากช่วงการรัฐประหาร 2557 – 2562 และจากการชุมนุมช่วงปี 2563 – 2566 เหตุการณ์ละ 1 คน
  • องค์กรภาคประชาชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการค้นหาความจริงและอำนวยความยุติธรรม 2 คน

 

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสนับสนุน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน สามารถร่วมลงชื่อได้ที่เว็บไซต์ https://www.ilaw.or.th/articles/18070 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

related