svasdssvasds

ย้อนคดี 112 ของ “ทักษิณ” กลับบ้านหรือนอน รพ. ต่อ ลุ้น อสส. อายัดตัวสั่งฟ้อง?

ย้อนคดี 112 ของ “ทักษิณ” กลับบ้านหรือนอน รพ. ต่อ  ลุ้น อสส. อายัดตัวสั่งฟ้อง?

ย้อนมหากาพย์คดี 112 ของ "ทักษิณ ชินวัตร" หลังสำนักงานอัยการสูงสุดจ่อสั่งฟ้อง-อายัดตัว หลังได้รับการพักโทษในเดือนกุมภาพันธ์นี้

ท่ามกลางกระแสว่าวันที่ 18.ก.พ. 2567 “ทักษิณ ชินวัตร” จะได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากเข้าเกณฑ์พักโทษ ก็มีเอกสาร 2 ฉบับที่ว่าด้วยการจ่ออายัดตัวทักษิณหลังพักโทษ เผยแพร่ออกมากะทันหัน

ซึ่งเอกสารทั้ง 2 ฉบับ เผยแพร่ออกมาวันที่ 5 ก.พ.67 ผ่านทางเฟซบุ๊กของ "วิรังรอง ทัพพะรังสี" ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปปท.) โดยในเอกสารการแจ้งถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ของนักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ แม้ว่านายทักษิณจะได้รับพระราชทานอภัยโทษในบางคดีไปแล้ว แต่ก็ยังมีคดีที่เกี่ยวม.112 ติดตัวอยู่ เนื่องจากในปี 2552 เจ้าตัวได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารไทม์เอาไว้ ซึ่งต่อมาในปี 2558 พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และ ผบ.ทบ.ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขณะนั้น ก็แจ้งความเอาผิดนายทักษิณกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ในประเด็นดังกล่าว

ต่อมาในปี 2559 ปอท.ได้ส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุด ซึ่งอัยการสูงสุดก็ได้สั่งฟ้องนายทักษิณในความผิด ม.112 และออกหมายจับไปแล้ว แต่ทว่าตั้งแต่นายทักษิณเดินทางกลับประเทศไทยในเดือนสิงหาคม 2566 เป็นต้นมา ก็มีแต่ความคืบหน้าในคดีอื่นเท่านั้น ส่วนคดี ม.112 ยังไม่มีความเคลื่อนไหวที่เป็นรุปธรรมออกมา จนกระทั่งมีเอกสารลับเผยแพร่ออกมาในวันที่ 5 ก.พ. 67 นี้ ทุกฝ่ายถึงทราบว่า สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) กำลังพิจารณาอายัดตัวนายทักษิณหลังจากได้รับการพักโทษในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ด้วย

ย้อนมหากาพย์คดี 112 ของ "ทักษิณ ชินวัตร"

เปิดหนังสือ อสส.-ปอท. คดี 112 ของทักษิณ

สำหรับเอกสาร 2 ฉบับ ที่เผยแพร่ออกมาในวันที่ 5 ก.พ. 67 มีเนื้อหาดังนี้

ฉบับแรก เป็นเอกสารลับจากสำนักงานอัยการสูงสุด ลงวันที่ 18 มกราคม 2567 ระบุว่า ตามที่ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) ได้มีหนังสือขอทราบข้อเท็จจริง และความคืบหน้าเกี่ยวกับการดําเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 นั้น

สํานักงานอัยการสูงสุดได้ดําเนินการตรวจสอบข้อมูลของผู้ต้องหาหรือจําเลยในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีนายทักษิณ ชินวัตร แล้ว ขอแจ้งข้อเท็จจริงตามประเด็นของหนังสือ ดังนี้

1. กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ได้ส่งสํานวนการสอบสวนของนักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร ไปยังพนักงานอัยการที่มีอํานาจพิจารณาแล้ว เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559

2. อัยการสูงสุดได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาในความผิดทั้งสองข้อหาไว้แล้ว เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2559

ขณะนี้ผู้ต้องหาถูกจําคุกตามคําพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง อยู่ที่เรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานคร พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบได้ประสานไปยังเรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานคร ขอให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการเข้าไปดําเนินการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหาหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่ได้รับแจ้งจากเรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานครให้เข้าไปในเรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานคร หรือสถานที่ที่ผู้ต้องหาถูกจําคุกอยู่เพื่อดําเนินการดังกล่าวได้

กรณีมีเหตุขัดข้องทําให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการยังไม่อาจแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหาดังกล่าวได้ พนักงานสอบสวนมีหนังสือแจ้งการอายัดตัวผู้ต้องหาตามหมายจับดังกล่าวแล้ว และประสานงานขอให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนปากคําผู้ต้องหาในเรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานครโดยเร่งด่วน เมื่อได้รับแจ้งกําหนด วันเวลาและสถานที่จากเรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานคร พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการจะเข้าร่วมทําการสอบสวนต่อไป

เปิดหนังสือ อสส.-ปอท. คดี 112 ของทักษิณ

ฉบับที่สอง เป็นหนังสือจาก พ.ต.อ.ทองศูนย์ อุ่นวงศ์ รองผู้บังคับการฯ ปฏิบัติราชการแทนผู้บังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) แจ้งข้อมูลการดําเนินคดี อ้างถึง หนังสือเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ที่ 01/2560 ลงวันที่ 25 กันยายน 2566 ระบุว่า ตามหนังสือที่อ้างถึง เครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ขอทราบข้อเท็จจริงและความคืบหน้าเกี่ยวกับการดําเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ความแจ้งแล้วนั้น

ขอเรียนว่า กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีการดําเนินคดีกับผู้ต้องหาในฐานความผิดดังกล่าวจริง ซึ่งเป็นคดีที่กล่าวหาว่ามีการกระทําความผิดตามกฎหมายไทย ได้กระทําลงนอกราชอาณาจักร อัยการสูงสุดมอบหมายให้พนักงานสอบสวนคนหนึ่งคนใดในกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ทําการสอบสวนร่วมกับพนักงานอัยการสํานักงานการสอบสวน และให้ผู้บังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือผู้รักษาการแทน เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ

ซึ่งได้ทําการสอบสวนคดีดังกล่าวเสร็จสิ้นและส่งสํานวนการสอบสวนให้อัยการสูงสุดพิจารณาแล้ว ต่อมาหลังจากที่มีการควบคุมตัวผู้ต้องหา พนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนได้ร่วมประชุมหารือแนวทางการสอบสวนเพื่อจัดเตรียมเอกสารสําหรับการแจ้งข้อกล่าวหาและการสอบสวนปากคํา โดยมีหนังสือแจ้งการอายัดตัวผู้ต้องหาไปยังเรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานคร พร้อมกับประสานงานขอให้พนักงานอัยการและพนักงาน สอบสวนเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนปากคําผู้ต้องหา

ซึ่งเรือนจําพิเศษกรุงเทพมหานครแจ้งว่าผู้ต้องหามีอาการ เจ็บป่วยและพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตํารวจ กรณีดังกล่าว หากได้รับการแจ้งประสานจากเรือนจําพิเศษ กรุงเทพมหานครถึงความพร้อมเมื่อใด พนักงานอัยการและพนักงานสอบสวนจะเข้าทําการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนปากคําผู้ต้องหาโดยทันที จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ

อสส.เผย ทักษิณปฏิเสธข้อกล่าวหา-ขอความเป็นธรรม

อสส.เผย ทักษิณปฏิเสธข้อกล่าวหา-ขอความเป็นธรรม

หลังจากมีเอกสารหลุดออกมา สำนักงานอัยการสูงสุดก็จัดงานแถลงข่าวทันที โดย วันที่ 6 ก.พ. 67 นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักอัยการสูงสุด ชี้แจงว่า ตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค.67 พนักงานอัยการฯ เข้าแจ้งข้อหา ม.112 ต่อ 'อดีตนายกฯ ทักษิณ' ขณะพักรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ แต่ผู้ต้องหาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ และยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมจากอัยการสูงสุด

นายประยุทธ กล่าวต่อว่า คดีนี้เหตุเกิดที่กรุงโซล เกาหลีใต้ เมื่อ 21 พ.ค.2558 ซึ่ง 'อัยการสูงสุด' รับดำเนินการ เพราะเหตุเกิดนอกราชอาณาจักร โดยมีความเห็นควรสั่งฟ้อง เมื่อ 19 ก.ย.2559 อายุความ 15 ปี (ขาดอายุความ 21 พ.ค.2573) พร้อมขออำนาจศาลออกหมายจับผู้ต้องหา หลังจากนั้นจากนั้น 22 ส.ค.2566 'อดีตนายกฯ ทักษิณ' กลับมาถึงไทย พนักงานสอบสวน จึงนำหมายจับไปแจ้งต่ออธิบดีกรมราชทัณฑ์ เพื่อขออายัดตัว และแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบ

นายประยุทธ กล่าวเพิ่มว่า ขณะนี้สำนวนคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุด ทำความเห็นเบื้องต้น เสนอ 'อัยการสูงสุด' เพื่อพิจารณาความเห็นทางคดี ว่าจะสั่งฟ้องต่อศาลหรือไม่ ซึ่งหาก 'อดีตนายกฯ ทักษิณ' ได้รับการพักโทษจากกรมราชทัณฑ์ ในช่วงปลายเดือน ก.พ.67 (ตามข่าว) พนักงานสอบสวน จะเข้าควบคุมตัวที่เรือนจำทันที แล้วพิจารณาต่อว่า จะปล่อยตัวชั่วคราว หรือฝากขังต่อ! จากนั้นจะแจ้งกลับมาให้พนักงานอัยการฯ ทราบ

ทั้งนี้นายประยุทธ ได้ชี้  3 แนวทางของการคดีดังกล่าวคือ

  1. สั่งสอบเพิ่ม หากมีประเด็นต้องสอบสวนให้กระจ่าง สิ้นความสงสัย เดิม
  2. สั่งฟ้อง หากสำนวนพร้อมสมบูรณ์ ก็จะยืนตามความเห็น
  3. ไม่ฟ้อง หากหลักฐานพบว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิด

อย่างไรก็ตาม นายประยุทธเพิ่มเติมว่า อัยการสูงสุดจะมีความเห็นและคำสั่งอย่างไร เป็นการเร็วเกินไปที่จะไปก้าวล่วงการพิจารณาในส่วนนี้ เพราะสำนวนถูกส่งมาที่ฝ่ายกิจการฯ เพื่อคัดกรอง ตรวจพยานหลักฐาน ลงความเห็น ก่อนเสนอรองอัยการสูงสุดที่กำกับดูแล จากนั้นจะไปถึงขั้นเสนออัยการสูงสุด

"พริษฐ์" ยันพ.ร.บ.นิรโทษกรรม "ก้าวไกล" พิจารณาเป็นกรณี

"พริษฐ์" ยันพ.ร.บ.นิรโทษกรรม "ก้าวไกล" พิจารณาเป็นกรณี

ในวันเดียวกับที่สำนักงานอัยการสูงสุดแถลงข่าว ที่อาคารรัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ก็ได้กล่าวถึงประเด็นที่อาจจะมีการอายัดตัวนายทักษิณว่า "เรายืนยันมาโดยตลอดว่าไม่ได้ยึดติดกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ในหลักการเรามองว่ากลไกนิรโทษกรรม เป็นกลไกที่สำคัญที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้ง ทางการเมืองตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เราเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา โดยประกอบด้วยตัวแทนหลายฝ่าย เพื่อไปพิจารณาเป็นกรณี ว่ามีเหตุจูงใจทางการเมืองหรือไม่

สำหรับกรณีของนายทักษิณ จะเข้าข่ายนำเข้าสู่พิจารณาการนิรโทษกรรมหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ในเชิงหลักการหากสภาเห็นชอบกับร่างพ.ร.บ.ของเรา ก็จะมีการตั้งกรรมการขึ้นมา ซึ่งทุกกรณีที่เข้าข่ายมีเหตุจูงใจทางการเมือง ก็จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ

ส่วนกรณีที่เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ศาลแขวงพิพากษาจำคุก แกนนำพรรคอนาคตใหม่ คดีแฟลชม็อบ ปี 2562 จะเข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่นั้น พริษฐ์ ระบุว่า ก็เป็นหลักการเดียวกัน ไม่อยากให้เจาะจงในกรณีใดกรณีหนึ่ง หลักการของ ร่างพ.ร.บ.ของพรรคก้าวไกล ไม่ได้เพิ่งคิดหลังจากการเกิดเหตุการณ์สองกรณีนี้ เราเสนอตั้งแต่การเลือกตั้ง และเป็นไปตามที่อยู่ในร่างกฎหมายของเราที่เสนอเข้าไป

“ทวี” ยัน พักโทษ “ทักษิณ” เป็นไปตามกฎหมาย

“ทวี” ยัน พักโทษ “ทักษิณ” เป็นไปตามกฎหมาย

ขณะเดียวกัน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีนายทักษิณชินวัตรอดีตนายกรัฐมนตรีจะได้รับการพักโทษ 18 ก.พ. นี้ ว่า ปกติแล้วกรมราชทัณฑ์จะมีการประชุมพักโทษในทุกเดือน มาถึงแต่ขณะนี้ยังไม่มีเอกสารมาถึงตน

ส่วนกรณีจะมีการอายัดตัวนายทักษิณ ในคดี ม.112 นั้น พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เป็นคดีที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร ซึ่งการสอบสวน ทางอัยการสูงสุดจะประสานตำรวจมาร่วมการสอบสวน ซึ่งการอายัดตัวถือเป็นขั้นตอนหนึ่ง หากมีผู้กระทำผิดอยู่ในคดีอื่น และถูกควบคุมตัวก็จะมีการอายัดตัวเพื่อเข้าสู่กระบวนการสอบสวน หากสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการสั่งสำนวนฟ้องหรือไม่ ซึ่งในส่วนของกรมราชทัณฑ์ก็มีเรื่องการขออายัดตัว และจะอำนวยความสะดวกให้กับพนักงานสอบสวนและอัยการ โดยเมื่อสอบสวนเสร็จแล้วก็จะเป็นเรื่องของอัยการสูงสุดตำรวจก็หมดหน้าที่ไป ทั้งนี้การพิจารณาคดี ทางอัยการจะต้องนำคำให้การของผู้ถูกกล่าวหาไปพิจารณาคดีด้วย ซึ่งเมื่อได้รับการสอบสวนแล้ว การอายัดตัวก็จะสิ้นสุดลง อาจจะพิจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราวก็ได้ เพื่อรอการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ซึ่งก็จะกลายเป็นคดีใหม่

เมื่อถามว่า จะทราบได้อย่างไรว่าวันที่ 18 ก.พ. นี้ นายทักษิณจะได้รับการพักโทษ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ทางคณะกรรมการต้องดูทุกเรื่อง และให้คณะกรรมการของราชทัณฑ์เป็นผู้พิจารณา ซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยงานต่างๆ รวม 19 คน ทั้งกระทรวงมหาดไทย สาธารณสุข ศาล อัยการ ตำรวจ จะมีหลาย 100 คนโดยการพักโทษจะมีทุกเดือน แต่ละเดือนมีหลายร้อยคน

นายทวีกล่าวเพิ่มเติมว่า ยังไม่ได้ตรวจสอบว่าในเอกสารการพักโทษมีชื่อของนายทักษิณด้วยหรือไม่ แต่การพิจารณาพักโทษจะพิจารณาเป็นเหตุไป บางเหตุก็ไม่ให้พักโทษ การพักโทษก็คือยังทำโทษอยู่ ส่วนนายทักษิณจะต้องใส่กำไลอีเอ็มหรือไม่ อยู่ที่การพิจารณาของอัยการ อย่างไรก็ตาม อยากให้นักโทษที่ได้รับการพักโทษ ได้รับสิทธิ์ตรงเวลา พร้อมยืนยันว่าการให้นายทักษิณไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล จนไปถึงการพักโทษ เป็นไปตามกฎหมาย และกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ออกกฎหมาย แต่เป็นกฎกระทรวงที่ออกจาก ครม. ชุดที่แล้ว และเรื่องการรักษาตัวในโรงพยาบาลใช้คำว่าห้องถูกควบคุม ซึ่งในอดีตก็มีอย่างนี้เยอะ ผู้ที่เจ็บป่วยก็จะถูกควบคุมในห้องควบคุมที่โรงพยาบาล และดุลพินิจนี้ก็ขึ้นอยู่ที่โรงพยาบาล ว่าจะให้อยู่ห้องควบคุมพิเศษหรือห้องควบคุมทั่วไป ทั้งหมดนี้เป็นขั้นตอนที่ประชาชนสนใจ และมีความละเอียดอ่อน เราต้องยึดตามกฎหมาย และการปฏิบัติทุกอย่างตรวจสอบได้

เมื่อถามว่ามีเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า “ไม่ทราบเลย ไม่มี” เมื่อถามว่ากรณีของนายทักษิณจะมีปัญหาหรือไม่ เพราะไม่ได้ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ได้รับการพักโทษ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ในทางกฎหมายถือว่าถูกควบคุมตัว ก็คือได้รับโทษ แต่ในความรู้สึกของคนอาจมีมุมมองที่แตกต่าง

 

ข่าวที่เกี่ยวข่อง 

 

 

related