svasdssvasds

ผลกระทบปัญหาหมอกควัน ไฟป่า PM2.5 เชียงใหม่ ถึงเวลาประกาศภัยพิบัติ?

ผลกระทบปัญหาหมอกควัน ไฟป่า PM2.5 เชียงใหม่ ถึงเวลาประกาศภัยพิบัติ?

ปัญหาหมอกควันไฟป่า PM2.5 ในเชียงใหม่ยังวิกฤต ค่ามลพิษทางอากาศสูงเป็นสถิติของปี นายกฯ ยังไม่ประกาศเชียงใหม่เป็นพื้นที่ฉุกเฉิน เกรงส่งผลลบมากกว่า ทำ นักท่องเที่ยว ซื้อประกันมาเที่ยวไทย เขตภัยพิบัติ-พื้นที่ฉุกเฉิน ประกันจะไม่คุ้มครองทันที

SHORT CUT

  • ปัญหาหมอกควันไฟป่า PM2.5 ยังวิกฤต ปกคลุมหนาแน่นทั่วภาคเหนือตอนบน ที่เชียงใหม่ค่ามลพิษทางอากาศสูงเป็นสถิติของปี
  • นายกฯ เผยสาเหตุที่ไม่ประกาศให้ จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่ฉุกเฉิน ห่วงนักท่องเที่ยวที่ซื้อประกัน หากมาเที่ยวในเขตภัยพิบัติ หรือพื้นที่ฉุกเฉิน ประกันจะไม่คุ้มครอง
  • ทุก ๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ของ PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง จะทำให้คนเชียงใหม่เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1.6 %

ปัญหาหมอกควันไฟป่า PM2.5 ในเชียงใหม่ยังวิกฤต ค่ามลพิษทางอากาศสูงเป็นสถิติของปี นายกฯ ยังไม่ประกาศเชียงใหม่เป็นพื้นที่ฉุกเฉิน เกรงส่งผลลบมากกว่า ทำ นักท่องเที่ยว ซื้อประกันมาเที่ยวไทย เขตภัยพิบัติ-พื้นที่ฉุกเฉิน ประกันจะไม่คุ้มครองทันที

สถานการณ์ปัญหาหมอกควันไฟป่า PM2.5 ยังวิกฤตปกคลุมหนาแน่นทั่วภาคเหนือตอนบน ส่วนสถานการณ์ที่เชียงใหม่ก็ยังคงวิกฤตต่อเนื่องค่ามลพิษทางอากาศสูงเป็นสถิติของปีอีกรอบ ค่า PM 2.5 เว็บไซต์ cmuccdc.org ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่รายงานจุดตรวจวัด PM 2.5 ณ เวลา 08:00 น. พบว่า สูงสุดอยู่ที่อำเภอเชียงดาว ตำบลปิงโค้ง 603 ไมครอน เช่นเดียวกับข้อมูลจาก IQAIR วันนี้ (19 มี.ค.) ณ เวลา 08:00 น. ค่าเฉลี่ยดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ที่ 198 โดยความเข้มข้น PM2.5 ในภาพรวมของจังหวัดเชียงใหม่ขณะนี้เป็น 29.4 เท่าของค่าแนวทางคุณภาพอากาศประจำปีขององค์การอนามัยโลกและยังแนวมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอีก

ด้านสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ระบุว่า ค่ามลพิษทางอากาศที่ปกคลุมภาคเหนือของไทยเวลานี้พบสารพิษแขวนลอยในมลพิษที่มีปริมาณเข้มข้นสูงเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากโดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง ควรต้องงดทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงนี้อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเพิ่มการดูแลสุขภาพให้กับประชาชนในห้วงวิกฤตนี้อย่างทั่วถึง

ซึ่งก่อนหน้านี้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง โพสต์ภาพขณะปั่นจักรยานในบริเวณลานกว้าง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่ หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจส่งมอบหน้ากากอนามัย 2 ล้านชิ้น เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ให้กับพ่อแม่พี่น้องชาวเชียงใหม่

เศรษฐา ทวีสิน ปั่นจักรยานในบริเวณลานกว้าง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ เชียงใหม่

 

ต่อมา แขก คำผกา ผู้ดำเนินรายการช่อง Voice TV ได้ออกมาเคลื่อนไหว โดยเป็นการโพสต์อธิบายถึงเจตนาของนายกฯ ในการลงรูปปั่นจักรยานที่เชียงใหม่ผ่านบัญชี X เพื่อชี้แจงสิ่งที่ นายเศรษฐา ต้องการจะสื่อสารจริง ๆ กับประชาชน โดยได้แชร์รูปพร้อมคอมเมนต์ของเฟซบุ๊กเพจ ก.ไก่ ซึ่งแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนายกฯ ไว้ด้วย

โดยได้แจงประเด็นถึง 5 ข้อ จากการตีความหมายจากรูปและข้อความ ว่า

  1. เมื่ออ่าน x ของนายกฯ นายกฯ ไม่ได้บอกว่าอากาศดี
  2. นายกฯ ไม่ได้โพสต์ภาพแล้วเชิญชวนคนให้ออกมาปั่นจักรยาน
  3. นายกฯ ต้องการซ้อมปั่นจักรยานเพื่อไปปั่นที่งาน เปิดสนามจักรยานจังหวัดพิจิตร วันที่ 23 มีนาคมนี้
  4. นายกฯ ปั่นจักรยาน และไม่ใส่แมสก์ นายกฯ ก็รับผิดชอบสุขภาพของตัวเองไปค่ะ ที่สำคัญนายกฯ ไม่ได้บอกว่า ’ทุกคนครับอากาศดี มาปั่นจักรยานกัน’
  5. ถ้าติดตามข่าวก็จะได้ฟังว่า นายกฯ มาติดตามเรื่องการแก้ไขปัญหาฝุ่น pm. 2.5 ซึ่งนายกฯ กล่าวชัดเจนว่า ‘ช่วงครึ่งหลังของมีนา - เมษา 45 วันนี้ เป็นช่วงเวลาแห่งการเฝ้าระวังค่าฝุ่น

ผลกระทบปัญหาหมอกควัน ไฟป่า PM2.5 เชียงใหม่ ถึงเวลาประกาศภัยพิบัติ?

การแก้ปัญหา

  1. หาเทคโนโลยีกำจัดชีวมวล
  2. ให้เทศบาลจัดเก็บขยะใบไม้ของชาวบ้าน
  3. สร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจให้ประชาขนมีทางเลือกของการหารายได้ที่ไม่ใช่การเผาป่า
  4. ข้อมูลนักวิจัย มช. ชัดเจนว่าหากลดปัจจัย hotspot ภายนอก (นอกประเทศ, นอกจังหวัด) จะลด pm. 2.5 ได้ถึงเกือบ 100%
  5. จัดทีมดูแลไฟป่าโดยอาสาสมัครในชุมชนโดยใช้งบฯกลาง
  6. Considering งดการนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านในช่วงที่ฝุ่นเยอะ
  7. เศรษฐกิจเชียงใหม่อิงอยู่กับการท่องเที่ยว ฝุ่น pm. 2.5 จะเป็นอุปสรรคต่อศก. เชียงใหม่
  8. มิติสุขภาพต้องให้ความสำคัญสูงสุด
  9. ต้องทะเยอทะยาน แก้ปัญหานี้ให้ดีขึ้นกว่านี้อีก‘ ถัาจะให้แขกเพิ่มเติมจาก x ของนายกฯคือ ’นายกฯ มีภารกิจตลอดทั้งวัน

เมื่อมีเวลาสัก 15 นาทีจึงอยากเทสต์จักรยานสำหรับงานเปิดสนามจักรยานสัปดาห์หน้า ประชาชนโปรดอย่าลอกเลียนแบบ’

 

ต่อมานายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ทวีตข้อความผ่าน X ตอบคำถามกรณี ทำไมจึงไม่ประกาศให้ จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่ฉุกเฉิน ในขณะที่ค่าฝุ่นสูง ผมได้รับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้วครับ เกรงว่าหากประกาศจะส่งผลทางลบมากกว่า เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้นคือ จะกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่งฟื้นตัวหลังจากผลกระทบโควิด-19 เพราะนักท่องเที่ยวที่ซื้อประกันมาจากบ้านเขา หากเข้ามาท่องเที่ยวในเขตภัยพิบัติ หรือพื้นที่ฉุกเฉิน ประกันจะไม่คุ้มครองทันที แน่นอนว่า จ.เชียงใหม่จะเสียนักท่องเที่ยวที่ตั้งใจมาเที่ยวทั้งระยะสั้น และระยะยาว

ย้อนวาทะ แขก คำผกา VS แขก คำผกา

หากย้อนกลับไปเมื่อปี  2563 สมัยรัฐบาลประยุทธ์ แขก คำผกา ได้โพสต์ข้อความถีงปัญหา PM 2.5 ในเชียงใหม่ โดยระบุว่า 

กลัวนักท่องเที่ยวลด ไม่ยอมประกาศเขตภัยพิบัติแก้ปัญหา คราวนี้ลดจริง ฝุ่นซ่อนไม่ได้

ปัญหา PM 2.5 ในเชียงใหม่

ด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือดร.เอ้ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กทม. โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เรื่องปัญหาฝุ่น pm2.5 ที่เชียงใหม่ แก้ได้ด้วยภาวะผู้นำโดยวิพากษ์วิจารณ์การลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมาว่า “ท่านนายกลงพื้นที่เชียงใหม่ แต่ไม่รับฟังปัญหาของชาวบ้าน และนักวิชาการ ไม่แสดงวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ทั้งที่นายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่ มีพลัง แก้ไขวิกฤตฝุ่นพิษได้”

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

ศ. ดร.สุชัชวีร์ มั่นใจว่าบทบาทของนายกรัฐมนตรีสามารถแก้ปัญหา ทุกข์เรื้อรัง ของชาวเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียงได้ หากท่าน เอาจริงเอาจัง กับ 3 เรื่องนี้

  • จัดการกับผลประโยชน์ทับซ้อน

“การเผา  เป็นปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ของราชการกันเอง ทั้งระหว่างหน่วยงาน ที่ต่างฝ่ายต้องการงบประมาณลงหน่วยงานของตนให้มากที่สุด และปัญหาผลประโยชน์ของเอกชน มีหลายคนได้ผลประโยชน์จากการที่ป่า หรือไร่ถูกเผา นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสูงสุด ถ้าแก้เรื่อง ประโยชน์ทับซ้อน ได้การเผาจะลดลง ฝุ่นก็ลดลง

  • นายกรัฐมนตรีต้อง กระจายอำนาจ และงบประมาณ

การแก้ปัญหาระยะสั้น เพื่อบรรเทาทุกข์ อาจถึงเวลาที่ต้องแก้ปัญหาด้วย เงิน เพราะการให้เงินโบนัสหมู่บ้านไม่เผา โดยกระจายอำนาจหน้าที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ดำเนินการได้กับหมู่บ้านที่ไม่เผา เราอาจไม่ถูกใจเรื่องแจกเงิน แต่คุ้มค่ากว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจและทางสุขภาพ ที่เกิดจากฝุ่นพิษ pm2.5 อีกทั้งยังประหยัดงบประมาณในการดับไฟ และรักษาชีวิตเจ้าหน้าที่ ที่ต้องเสี่ยงกับการเข้าไปดับไฟ

  • นายกรัฐมนตรีต้องใช้ เทคโนโลยี แก้ปัญหา

เพราะเทคโนโลยีดาวเทียว ไม่โกหก เพราะภาพถ่ายจาก ดาวเทียวธีออส-2 ที่โคจรต่ำ ผ่านประเทศไทย 4 รอบต่อวัน จะรู้ทันที ใครเผา และ ที่ดินใคร สามารถใช้เป็นหลักฐาน เพื่อดำเนินการใดๆ ได้อย่างเป็นธรรม ของดีมี ต้องใช้”

วิกฤตฝุ่น PM2.5 เป็นวิกฤตชาติที่รอไม่ได้อีกต่อไป อย่าปล่อยให้เป็นแบบ ไฟไหม้ฟาง คือ มาดู แล้วจากไป

ถ้าประกาศภัยพิบัติ ส่งผลดีต่อการแก้ปัญหาอย่างไร?

ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562 ข้อ 20 ได้กำหนดว่า "เมื่อภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินเกิดขึ้นในท้องที่ใด ให้ผู้มีอำนาจ ดำเนินการประกาศให้ท้องที่นั้นเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน"

ดังนั้นเมื่อมีกรณีที่เกิดภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินขึ้นในท้องที่ใดในจังหวัด การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินจะทำให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในระหว่างเกิดภัยได้ โดยใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในระเบียบฯ และเมื่อภัยสิ้นสุดลงแล้ว ส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติที่ได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากภัยพิบัตินั้นๆโดยใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในระเบียบ

กรณีที่เกิดภัยพิบัติที่เป็นไปตามคำนิยาม "ภัยพิบัติ" ในข้อ 5 แห่งระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 แล้ว

หากจังหวัดไม่ดำเนินการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินหรือประกาศล่าช้าแล้ว จะทำให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติโดยใช้จ่ายจากเงินทดรองราชการเพื่อผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินได้ทั้งในระหว่างเกิดภัยและหลังจากภัยสิ้นสุดลงได้อย่างทันท่วงที

ดังนั้นเมื่อเกิดภัยพิบัติในจังหวัดแล้วจึงขอให้จังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด โดยเร็ว

PM2.5 ทุก 10 มคก./ลบ.ม. ทำคนเชียงใหม่เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1.6 %

ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้และทรวงอก โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวว่า ฝุ่น PM2.5 มีปัญหามาตั้งแต่เดือนพ.ย. เรื่อยมา จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงพีคในเดือน มี.ค. โดยเฉพาะสัปดาห์ที่ 2 พุ่งสูงมาก

มีผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเกี่ยวกับ PM 2.5 อาการปานกลาง เข้ารับบริการที่แผนกผู้ป่วยนอก เช่น ภูมิแพ้กำเริบ เลือดกำเดาไหล เป็นเลือด หลอดลมอักเสบ ไซนัสอักเสบ ริดสีดวงจมูกโตขึ้น หอบหืด หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเพิ่มขึ้น

มีผู้ป่วยมารับบริการตรวจรักษาทุกวัน เมื่อเทียบกับฤดูที่หมดฝุ่นไปแล้วจะมีมากกว่าหลายเท่าตัวต่อวัน ส่วนผู้ป่วยหนักที่ต้องนอนไอซียู หรือมาที่ห้องฉุกเฉิน ใส่เครื่องช่วยหายใจ เช่น สโตรก ปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันมากขึ้นหลายเท่าตัวเช่นกัน ส่วนผู้ป่วยต้องนอนรพ. อยู่ไอซียู แต่ไม่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ พบเพิ่มขึ้นด้วยอาการปอดอักเสบ หอบหืดกำเริบ ไอเป็นเลือด ติดเชื้อในปอด และผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะเสียชีวิตก่อนมาถึงไอซียูด้วยซ้ำ

PM2.5 คร่าชีวิตคนเชียงใหม่เพิ่ม 1.6 %

เมื่อนำข้อมูลมาศึกษาวิเคราะห์ แยกให้ชัดเจนหรือตัดปัจจัยอื่นๆ ที่อาจจะทำให้เกิดการเจ็บป่วยในลักษณะเดียวกัน เพื่อแสดงว่า ผู้ป่วยรายนั้นเจ็บป่วยจากอย่างอื่น หรือ PM 2.5 โดมีการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติแล้วพบชัดเจนว่า

  1. ทุก ๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ของ PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง จะทำให้คนเชียงใหม่เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1.6 % ภายใน 1 สัปดาห์หลัง PM 2.5 เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นว่าไม่ได้เป็นการเสียชีวิตทันที เพราะอาจจะได้รับการรักษาด้วยยาต่างๆ แต่เมื่อการอักเสบไปถึงจุดหนึ่ง จะทำให้เขาเสียชีวิตจากสโตรก เส้นเลือดสมองแตก หรือตีบ หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ปอดอักเสบ โรคปอดกำเริบหายใจล้มเหลวและเสียชีวิตตามมา นี่คือข้อมูลข้อเท็จจริงที่ไม่ได้แตกต่างไปจากงานวิจัยของทั่วโลก
  2. มาห้องฉุกเฉินเพิ่มขึ้นชัดเจนจากพิษภัยที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ของทุกปี มากบ้าง น้อยบ้างตามแต่ปัญหา PM 2.5 แต่ปีที่ผ่านมาและปีนี้ถือเป็นปีที่แล้ง โดยเฉพาะเดือน มี.ค.ชัดเจนมาก มีจุดเผาในเชียงใหม่สูงขึ้นกว่ามี.ค. 2566 กว่า 40% ส่วนม.ค.-ก.พ. ที่รัฐบาลบอกว่าจุดเผาลดลง 40% นั้น ก็เป็นเพียงข้อมูลของ 2 เดือนนั้น แต่มี.ค.นี้จุดเผาเพิ่มขึ้น 40% ยังไม่นับรวมจุดเผาจากจังหวัดรายรอบ และประเทศเพื่อนบ้าน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related