svasdssvasds

"เมียนมา" เสีย "เมียวดี" ให้กะเหรี่ยง KNU ประสานไทยขอใช้สนานบินแม่สอดลี้ภัย

"เมียนมา" เสีย "เมียวดี" ให้กะเหรี่ยง KNU ประสานไทยขอใช้สนานบินแม่สอดลี้ภัย

รัฐบาลทหารเมียนมาพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ เสียเมืองชายแดนที่สำคัญอย่าง "เมียวดี" ประสานไทย ขอนำเครื่องบินทหารลงจอด ท่าอากาศยานแม่สอด ลี้ภัยข้าราชการ -ตร.-ตม. ล่าสุดกองกำลังฝ่ายต่อต้านไม่ยอมปล่อยทหารเมียนมากลับ

จากสถานการณ์การสู้รบระหว่างทหารเมียนมา กับฝ่ายต่อต้านที่มีทหารสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน (PDF) เข้ายึดกองบังคับการยุทธวิธี ของทหารเมียนมาที่บ้านปางกาน จ.เมียวดี ตรงข้ามตำบลท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตากรวมทั้งบุกพื้นที่กองพันที่ 275 เมียวดี ซึ่งเป็นค่ายทหารที่ใหญ่ที่สุด อยู่ในตัวเมืองเมียวดีไว้ได้

จากปฏิบัติการครั้งนี้ทำให้ฝ่ายต่อต้านควบคุมพื้นที่ จ.เมียวดี ได้ทั้งหมด ส่งผลให้ข้าราชการในสังกัดสภาบริหารทหารเมียนมา เช่น ศุลกากร ตรวจคนเข้าเมือง จ.เมียวดี และหน่วยงานต่างๆ ต้องถอนตัวออกจากตัวเมียวดี และถูกนำไปถูกอพยพไปกอกาเร็ก ในเขตปกครองของ พ.อ. หม่อง ชิต ตู่

ล่าสุดรัฐบาลเมียนมาใช้ช่องทางกระทรวงต่างประเทศ ประสานมายังรัฐบาลไทย ให้เครื่องบินทหารเมียนมา ATR72-600 ลงจอดที่ ท่าอากาศยาน อำเภอแม่สอด จังหวัดตากขอที่ลี้ภัยให้กับข้าราชการ ได้แก่ ตม. ตำรวจเจ้าหน้าที่ทำงานในศาลากลางและส่วนราชการอื่นๆ

มีรายงานจากเพจเฟซบุ๊ก 'เอก เกียรติศักดิ์ แม่สอด..' ว่า เครื่องบินโดยสารจากเมียนมาจำนวน 1 ลำ ได้ลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอดแล้ว ก่อนบินกลับประเทศเวลา 22.00 น.

รัฐบาลเมียนมาใช้ช่องทางกระทรวงต่างประเทศ ประสานมายังรัฐบาลไทย ให้เครื่องบินทหารเมียนมา ATR72-600 ลงจอดที่ ท่าอากาศยาน อำเภอแม่สอด จังหวัดตากขอที่ลี้ภัยให้กับข้าราชการ ได้แก่ ตม. ตำรวจเจ้าหน้าที่ทำงานในศาลากลางและส่วนราชการอื่นๆ

 

กัณวีร์ ชี้ไทยต้องตัดสินใจอย่างระมัดระวัง เปิดสนามบินแม่สอดส่งกลับเชลยศึกเมียนมา

นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเมียนมา ทำหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศไทย ขอส่งกลับทหารเมียนมาและครอบครัว 617 คน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การสู้รบในเมืองเมียวดี กลับทางสนามบินแม่สอด จ.ตาก ว่า

ไทยต้องตัดสินใจอย่างระมัดระวังที่จะเปิดสนามบินแม่สอดส่งกลับทหารเมียนมาที่แพ้สงคราม แม้ทำได้ตามหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ IHL แต่อาจส่งผลให้เกิดความรุนแรง และการอพยพของผู้ลี้ภัยจากเมียวดี เพราะสถานการณ์ที่อ่อนไหวบริเวณชายแดน จากกรณีทหารเมียนมาขอให้ส่งเชลยศึกและครอบครัว จำนวน 617 คน ที่แพ้สงครามกับกองกำลังชาติพันธ์ุติดอาวุธบริเวณเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง เมียนมา กลับพื้นที่ส่วนกลางเมียนมา ที่เป็นพื้นที่การดูแลของทหารเมียนมา โดยผ่านการใช้ท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอด จ.ตากนั้น ซึ่งไทยสามารถพิจารณาปรับใช้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ กับการร้องขอส่งกลับเชลยศึกเมียนมาผ่านพรมแดนไทย

หลายคนถามว่าทำได้มั้ย และควรจะเป็นอย่างไร ถึงแม้ผมยังไม่ได้ทำงานเต็มร้อยในกรรมาธิการของสหภาพรัฐสภาโลก ด้านการส่งเสริมการเคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ แต่ขออนุญาตให้ความเห็นตรงนี้ว่า ตามกฎหมายด้านนี้ “ทำได้” เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายก็เพื่อให้ความคุ้มครองต่อ “เชลยศึก” (Prisoners of War-POWs) ให้ถูกละเมิดให้น้อยที่สุดและให้การละเมิดจบโดยเร็วที่สุด

โดยการที่กำหนดว่าหลังการปะทะและสงครามเสร็จสิ้นแล้ว สมควรจะต้องส่งกลับเชลยศึกโดยเร็วที่สุด โดยปราศจากความล่าช้าทุกประการ คือเราควรเห็นว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่สำคัญตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่ต้องปรับใช้ในยามสงคราม

นายกัณวีร์ ยอมรับว่า ยังมีข้อกังวลอีกมาก หากไทยอนุญาต แต่ตามกรอบกฎหมายระหว่างประเทศด้านมนุษยธรรมสามารถทำได้ ทั้งการถูกมอบอำนาจโดย “ฝ่ายที่ชนะ“ และการเป็น ”ประเทศที่เป็นกลาง“ ในการดูแลและการส่งกลับเชลยศึก กฎหมายนี้จะใช้เฉพาะเมื่อสงครามเกิดทั้งสงครามระหว่างประเทศ (international armed conflicts) และสงครามที่ไม่ใช่ระหว่างประเทศ (Non-international armed conflicts) เพียงเท่านั้น

"หากไทยถูกร้องขอให้ช่วยในฐานะประเทศที่เป็นกลาง (neutral country) เราก็ควรทำให้เป็นไปตามเจตจำนงและเจตารมณ์แห่งกฎหมายระหว่างประเทศฉบับนี้เสีย และที่สำคัญที่สุดเชลยศึกผู้ถูกส่งกลับแล้ว ต้องไม่กลับไปเป็นกองกำลังอีก นี่คือหลักการที่สำคัญของกฎหมายนี้"

ข้อกังวลที่ว่าทหารพ่ายศึกจะถูกดำเนินคดีใดๆ หรือไม่ ต้องแยกออกเป็น 2 เรื่อง

  1. ระเบียบปฏิบัติและกฎหมายภายในกองทัพเมียนมา ก็ว่ากันไปตามกฏและระเบียบภายใน ซึ่งใครก็คงไม่สามารถไปแทรกแซงได้
  2. ในขณะที่ไทยต้องรับผิดชอบดูแลเชลยศึกใดๆ ก็ตาม หากมีข้อกังวลอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นกับเจ้าตัวเชลยศึกเอง และเป็นการร้องขอใดๆ ตามหลักการร้องขอด้านมนุษยธรรม ไทยก็มีสิทธิเด็ดขาดในการพิจารณาตามหลักการของไทยและรวมถึงจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่ทุกประเทศต้องปฏิบัติตาม โดยเฉพาะเรื่องหลักการไม่ส่งกลับ (non-refouelment) ซึ่งก็คงต้องว่าไปเป็นรายกรณี

"สถานการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นอีก จึงขออนุญาตเสนอให้ไทยทำระเบียบปฏิบัติประจำ (รปจ.) หรือ standard operating procedures (SOPs) ด้านนี้รอไว้ได้เลยครับผม แต่อย่างไรก็ตามต้องคอยดูสถานการณ์ดีๆ และต้องระมัดระวังไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือต่อการสนับสนุนให้เกิดความรุนแรงด้วย และเป็นเรื่องที่ไทยจะต้องเตรียมตัวรับมือ"

นายกัณวีร์ ระบุว่า นี่จึงเป็นการตัดสินใจที่ยากสำหรับรัฐบาลไทย และต้องระมัดระวังไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือต่อการสนับสนุนให้เกิดความรุนแรงด้วย และเป็นเรื่องที่ไทยจะต้องเตรียมตัวรับมือ นอกจากมีผู้ลี้ภัยที่อยู่ประชิดชายแดนกว่า 6 แสนคนแล้ว สถานการณ์ในเมียวดี จะกระทบโดยตรงกับไทย ซึ่งน่าเสียดายที่ข้อเสนอการเปิด Safety Zone ระยะ 5 กิโลเมตร ชายแดนเมียนมา ยังไม่เกิดขึ้น แต่ก็อยากให้ผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เช่นเดียวกับ ระเบียงมนุษยธรรม และระเบียงสันติภาพ ที่ต้องเริ่มทำได้แล้ว

กะเหรี่ยงไม่ยอมปล่อยทหารเมียนมา กลับเครื่องบินที่ท่าอากาศยานแม่สอด

เมื่อเวลา 21.30 น. วันที่ 7 เมษายน 67 ที่ท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอด อ.แม่สอด จังหวัดตาก เครื่องบินโดยสารแบบเหมาลำ Atr 72-600 Myan Ma Airlines ได้บินมารับทหารเมียนมาที่ชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน อ.แม่สอด เพื่อเดินทางกลับไปยังประเทศเมียนมา

ทั้งนี้หลังจากที่นายทหารเมียนมาทั้งหมดยอมมอบตัวกับฝ่ายกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และกองกำลังปกป้องประชาชน (PDF) ขณะที่ฝ่ายต่อต้านได้ยึดค่ายทหาร กรมทหารราบ และที่ตั้งกองบังคับการยุทธวิธี ในพื้นที่บ้านปางกาน บ้านผาลู และในเขตเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา ตรงข้ามตำบลท่าสายลวด อ.แม่สอด

ซึ่งเครื่องบินได้วางแผนจะรับทหารชุดแรกประมาณ 20 คนตั้งแต่ระดับยศพลจัตวา , พันเอก พันโท และพันตรี พร้อมครอบครัว ประมาณ 20 คน โดยเครื่องบินได้บินมาลงรอที่ท่าอากาศยานแม่สอดประมาณเกือบ 1 ชั่วโมง คณะนายทหารเมียนมาไม่มา จึงบินกลับไปประเทศเมียนมาทันที เนื่องจากทหารเคเอ็นยู.และฝ่ายต่อต้านไม่ยอมปล่อย โดยบรรยากาศในสนามบินเงียบมากมีแต่เจ้าหน้าท่าอากาศยานไปรอช่วยกันปฏิบัติหน้าที่ เพื่อดำเนินการจัดการในท่าอากาศยาน และทางสื่อมวลชน และไม่สามารถเข้าไปในท่าอากาศยานได้ เนื่องจากได้ปิดประตูด้านหน้าไว้

สำหรับทหารเมียนมา และครอบครัวที่จะเดินทางไปยังประเทศเมียนมามีทั้งหมด 617 คน แยกเป็นนายทหาร 67 นาย ทหารชั้นประทวน 410 คน ทหารหญิง 56 คน ครอบครัว 81 คน รวมทั้งหมด 617 คน โดยทางรัฐบาลทหารเมียนมาได้ประสานกับทางรัฐบาลไทย ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ และใช้เวลาไปรับทหารเมียนมาเป็นเวลา 3 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 67 จนถึงวันที่ 9 เมษายน 67

รัฐบาลทหารเมียนมาพ่ายแพ้ครั้งใหญ่

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า กองทัพเมียนมา มาถูกกลุ่มก่อความไม่สงบชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ที่เป็นพันธมิตรกับกองกำลังต่อต้านรัฐประหารอื่นๆ โจมตีเป็นเวลาหลายสัปดาห์ และกองกำลังทหารหลายร้อยคนที่ดูแลพื้นที่ชายแดนสำคัญอย่างเมียวดียอมแพ้แล้ว ซึ่งเมียวดีเป็นเส้นทางการค้าทางบกส่วนใหญ่ระหว่างไทยและเมียนมา

กองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือกลุ่ม KNU (Karen National Union) ประกาศเมื่อวันศุกร์ (5 เม.ย.) ว่าได้ยอมรับการจำนนของกองพันที่ประจำการในเมืองติงกะหยิงหย่อง (Thingannyinaung) ที่ห่างจากเมืองเมียวดีไปทางตะวันตก 10 กิโลเมตร และได้โพสต์วิดีโอนักรบเผยให้เห็นอาวุธยุทโธปกรณ์มากมายที่ยึดมาได้

เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของ รัฐบาลทหารเมียนมา ที่เพิ่งเสียพื้นที่ชายแดนขนาดใหญ่ที่ติดกับจีนอย่างรัฐฉาน และรัฐยะไข่ใกล้ชายแดนบังกลาเทศเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และการต่อสู้ระหว่างกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารและกองทัพเมียนมา ทำให้ทหารเมียนมาหลายพันคนเสียชีวิต หรือยอมจำนน หรือแปรพักตร์ไปอยู่ฝ่ายต่อต้าน ส่งผลให้กองทัพต้องเกณฑ์ทหารเพื่อชดเชยจำนวนทหารที่สูญเสียไป

ทั้งนี้ กลุ่มเคเอ็นยูต่อสู้กับรัฐบาลเมียนมาเพื่อคงการปกครองตนเองเพื่อชาวกะหรี่ยงมานานหลายปี นับตั้งแต่เมียนมาได้เอกราชในปี 2491 แต่ก็พ่ายแพ้ให้กับกองกำลังรัฐบาลหลายครั้งในช่วงทศวรรษ 90 และหลังจากปี 2558 กลุ่มเคเอ็นยูก็ลงนามหยุดยิงทั่วประเทศกับรัฐบาล

แต่แล้วการ รัฐประหารเมียนมา ปี 2564 ก็ส่งผลกระทบต่อข้อตกลงดังกล่าว โดยกลุ่มเคเอ็นยูประกาศว่า การโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งนำโดยนางอองซาน ซูจี นั้น ทำให้ข้อตกลงหยุดยิงเป็นโมฆะ

รัฐกะเหรี่ยงที่อยู่ใกล้เมืองย่างกุ้ง ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในเมียนมา และเป็นเส้นทางไปยังชายแดนไทยที่สะดวกที่สุด ทำให้รัฐกะเหรี่ยงกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่นิยมในบรรดากลุ่มผู้เห็นต่าง เพื่อใช้หลบหนีการปราบปรามอย่างโหดร้ายของกองทัพเมียนมาหลัง รัฐประหาร

ที่มา : BBC 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

related