SHORT CUT
"เขื่อนแก่งเสือเต้น" เป็นคำขมของคนในพื้นที่ ต.สะเอียบ ที่เครียดทุกครั้งเมื่อรัฐบาลกลับมาพูดถึงมัน แต่สำหรับนักการเมืองนี่อาจเป็นเรื่องขายฝันสร้างความนิยมมากกว่าความเป็นจริง เพราะเขื่อนแก่งเสือเต้นเกิดขึ้นได้ยากมากในสมัยนี้
“ในหน้าแล้งป่าสักตรงนี้จะทิ้งใบ เราจะมองได้ชัดเลยว่านี่คือป่าสักทั้งผืนเลย เราสำรวจด้วยการบินตรวจสภาพป่า เขาก็บินที่นี่ และบอกว่าที่นี่คือป่าสักผืนใหญ่ที่สุด ตรงนี้จึงถือเป็นระบบนิเวศที่สำคัญ ถ้าเรารักษาไว้ได้ คุณค่าของประเทศไทยก็ยังคงอยู่ เพราะเราก็ไม่ทราบว่าประเทศเพื่อนบ้าน เมียนมาหรือลาว ป่าเหล่านี้จะหมดไปหรือยัง”
นายก้องไมตรี เทศน์สูงเนิน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ยม เล่าให้เราฟังขณะยืนมองยอดต้นสักทองธรรมชาติจากผาอิงหมอกในเขตอุทยานฯ พื้นที่ อ.สอง จ.แพร่ โดยพยายามชี้ให้เห็นว่ายอดไม้ที่มีสีเขียวคล้ำกว่าต้นอื่นๆ คือต้นสักที่แยกยอดออกมา ที่นี่มีป่าเบญจพรรณที่มีต้นสักทองเป็นไม้เด่นขนาดกว่า 40,000 ไร่ และเป็นพื้นที่เดียวกันกับที่เคยถูกวางแผนว่าจะสร้าง “เขื่อนแก่งเสือเต้น” โครงการชลประทานเมกกะโปรเจคที่ถูกพับไปตั้งแต่ 30 กว่าปีที่แล้วเพราะความไม่คุ้มค่า แต่มักถูกหยิบขึ้นมาพูดถึงเสมอที่มีน้ำท่วม-น้ำแล้ง
ทิวทัศน์อุทยานแห่งชาติแม่ยมจากผาอิงหมอก ยอดเขียวคล้ำคือต้นสักทอง
โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ขนาดความจุ 1,175 ล้านลูกบาศก์เมตร เกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2523 ตอนแรกเป็นโครงการของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คิดจะสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าในชื่อเขื่อนโครงการผันน้ำกก-อิง-ยม-น่าน แต่ก็ล้มเลิกไป ส่งต่อร่างโครงการให้กับกรมชลประทานเมื่อปี 2528 ก่อนที่จะมีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยมในปี 2529 ขนาดกว่า 284,218.75 ไร่ หรือ 454.75 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดได้แก่ แพร่ น่าน พะเยา และลำปาง โดยบางส่วนได้ประกาศอุทยานทับพื้นที่อยู่อาศัยเดิมของประชาชนที่มีโฉนด บางส่วนมองว่าทำเพื่อหวังเวนคืนพื้นที่โดยไม่ต้องชดเชยหากจะมีการสร้างเขื่อน แต่ในปัจจุบันกฎหมายอุทยานฯ ก็อนุญาตให้ประชาชนอาศัยอยู่ในพื้นที่อุทยานได้หากพบว่าอยู่มาก่อน
คณะรัฐมนตรี มีมติเดินหน้าโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นครั้งแรกเมื่อปี 2532 ให้กรมชลประทานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่พบว่ารายงานฉบับนั้นไม่มีความสมบูรณ์และมีความผิดเพี้ยนไปมาก ประกอบกับการเคลื่อนไหวของประชาชนในพื้นที่ออกมาต่อสู้คัดค้านอย่างเข้มข้น เพื่อรักษาบ้านและป่าที่พวกเขาหาอยู่หากิน ชาวบ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ รู้ดีว่าบ้านเขาจะต้องจมบาดาล ต้องย้ายไปอยู่ที่อื่นแน่ จึงลุกขึ้นมาต่อสู้
ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า ชาวบ้านสะเอียบ เป็นกลุ่มชาวบ้านที่เข้มแข็งที่สุด หายากมากที่ชุมชนจะสามารถยืนหยัดคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนได้ถึง 35 ปี ชาวบ้านปรับวิถี จากเดิมที่หากินกับป่า ทำไม้ ขายไม้เถื่อน เปลี่ยนเป็นผู้อนุรักษ์ดูแลป่าและประกอบอาชีพที่สร้างรายได้มากให้ชุมชน คือการทำสุราเถื่อน ชาวบ้านสะเอียบขายช้างทุกเชือกที่เขามีในชุมชน และส่งคืนอุปกรณ์ทำไม้ให้รัฐไปตั้งแต่ปี 2536
ในทางวิชาการ “เขื่อนแก่งเสือเต้น” เป็นโครงการที่เกิดขึ้นได้จริงยากมากจนแทบจะเป็นไปไม่ได้แล้วใน พ.ศ.นี้ เพราะ
“เขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้น สิ่งที่มันเป็นกระแสมันแค่มาจากนักการเมืองที่ไม่มีความรับผิดชอบ ถ้าคุณจะรื้อฟื้นโครงการนี้ คุณฝ่าด่านอีกเยอะ โดยเฉพาะด่านของชุมชนที่เขาไม่ยอมอีกต่อไป”
ด้านนายณัฐปคัลภ์ ศรีคำภา ประธานคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นในฐานะตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ ระบุว่า ต้องการพาสื่อมวลชนมาให้เห็น “ป่าสักทอง” ของจริง ที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก ไม่มีภูเขาหัวโล้นอย่างที่นักการเมืองที่นั่งในห้องแอร์และไม่ได้ลงพื้นที่จริงพูด ก่อนหน้านี้คนภายนอกอาจจะมองว่าคนสะเอียบเป็นคนใจแคบ ก็อยากถามกลับไปถึงคนที่พูดคำนี้ เราไม่ได้เสนอสะเอียบโมเดลที่จะทำเป็นหลุมขนมครกอย่างเดียวแต่เรายังพัฒนาในเรื่องของเศรษฐกิจ และดำรงไว้ซึ่งการอนุรักษ์ผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์
ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้นกลายเป็น “เรื่องเหนือหลักวิชาการ” ไปแล้ว แต่เป็นเพียงความเชื่อว่าถ้ามีแล้วจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมสุโขทัยได้ เป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรมายืนยัน
เขื่อนเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่รับน้ำได้มากก็จริง แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการเขื่อนด้วย ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ กำลังศึกษาและดำเนินการขยายทางเบี่ยงน้ำ เพื่อเพิ่มอัตราการระบายน้ำหลากเหนือ จ.สุโขทัยให้ได้มากขึ้น แบบที่จะไม่กระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างมากเกินไป อ.สิตางศุ์ เชื่อว่า ในยุครัฐบาลที่มี รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หรือ อ.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็นรัฐมนตรี จะไม่มีการเดินหน้าโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นแน่นอน
ทีมข่าวได้สอบถามความเห็นเรื่องนี้กับ ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี ที่ปรึกษาศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ในรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร และอดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนไม่ขัดขวางว่าใครจะเชื่ออะไรและจะทำอะไร แต่ตนเองเชื่อว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นจะเป็นโครงการที่จะแก้ปัญหาในลุ่มน้ำยมได้อย่างแท้จริง ส่วนแนวคิด “สะเอียบโมเดล” หรือการเปลี่ยนอ่างเป็นหลุมขนมครก เป็นคนละเรื่องกับการสร้างเขื่อนในที่ลุ่ม เพราะฝนตกบนเขาท่วมในที่ราบลุ่ม การเก็บน้ำในลำน้ำสาขา ก่อนไหลลงที่ราบ จึงไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้จริง
คนไทยคิดเห็นอย่างไร? เขื่อนหรือป่า คนในป่าหรือคนในเมือง เพราะทุกทางเลือกมี “ค่าเสียโอกาส” เสมอ อยู่ที่ว่าเราพร้อมเสียสิ่งไหน เพื่อให้ได้อีกสิ่งหนึ่งหรือไม่?