"หมอสุรัตน์" ไขข้องข้องใจปมนวดกดคอทำให้เสียชีวิต เผยผลเอกซเรย์ "ผิง ชญาดา" ไม่พบกระดูกกดทับสันหลัง คนไข้เสียชีวิตอาจไม่ใช่การนวด คาดเกิดจากปัญหาไขสันหลัง
จากกรณีที่นักร้องสาว "ผิง ชญาดา" หรือ น.ส.ชญาดา พร้าวหอม ลูกทุ่งหมอลำจากค่าย Guitar Record เสียชีวิตกะทันหันเชื่อว่าสาเหตุมาจาก "การนวดบิดคอ" ในร้านนวดไทยแห่งหนึ่งที่ จ.อุดรธานี ก่อนจะกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ล่าสุดเพจเฟซบุ๊ก สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์ ของคุณหมอสุรัตน์ แสดงความคิดเห็นบอกว่า " *update 9 Dec ข่าวคนไข้ ที่เสียชีวิต น่าไม่ใช่จากการนวดนะครับ เห็นว่า น่าจะมีอักเสบและติดเชื้อ "x ray ไม่พบมีกระดูกกดสันหลัง"
คราวนี้กรณีนี้เป็นไง
คนไม่รู้ บอกลาการนวด ด่าหมอนวด ใจเย็น การที่น้องมีอาการปวดแบบแปลกๆ บอกเลยมีปัญหาไขสันหลังแหงๆ อาจอักเสบ หรือไขสันหลังบวมด้วยซ้ำ ไม่รู้นวดจนไขสันหลังมีปัญหาก่อนเป็นเหตุ หรือนวดแล้วพร้อมมีโรคอักเสบแทรกพอดี จึงให้นวดแรงไปด้วย คือปวดจากไขสันหลังนะ โคตรปวด เพราะเป็นปวดเซลล์ประสาทส่วนกลาง central pain syndrome จึงไปนวดซ้ำเรื่อยๆ
แบบนี้ เรียก hyperalgesia คือ เซลล์รับความรู้สึกทำงานผิดปกติ จะสร้างการปวดเองนะ มักจากการอักเสบ จึง ปวดไม่หาย สำคัญคือ เมื่อปวดมาก ก็จะให้หมอ กดให้แรงที่สุด จึงเป็นแบบที่เห็นนะ เฮ้ย หมอ แรงๆ ส่วนหมอ ก็นะ ตามใจ จัดเต็มที่
กรณี มีโรคอื่นแทรกด้วย อาจมีโรคการอักเสบ NMO neuromyelitis optica ก็เป็นได้ ทำให้ปวด ทนไม่ได้ ต้องนวดให้แรง เพราะหากนวดแรง สมองจะรับความรู้สึกแรงกดจากนวด ทำให้ความรู้สึกเจ็บจากสันหลัง ไม่ผ่านเจ้า ตาม gate control theory ประตูความปวดรับได้ ความรู้สึกเดียว (เหมือนคนปวดหัว ลอง เอามือ ต่อยหน้าแรงๆ สิ หายปวดหัว ปวดหน้าที่โดนต่อยแทน)
อีกอย่าง ปวดต่อมา ลงมาถึงราวนม ระดับ T4 ต่ำกว่า ที่ไขสันหลังตรงคอมาก คล้ายมีการลามลงมา แต่ถ้าหมอนวด บ้าระห่ำขนาด นวดให้คอหักไปเลย นี่ก็ บ้าเกินไป ไม่เคยเห็น แต่ถ้าเกิดจริง เข้าคุกแน่ๆ ไปหักคอเขา เอาว่ากรณีนี้ไม่พิสูจน์ทราบ อะไรเป็นไก่ เป็นไข่ หมอบางคน แบบสรุปความก็ด่ากันไป แต่ใจเย็นนะ เด็ก หมอนวดไทยตกงานกัน ซวยเฉย ที่ดีๆ เค้าก็มี เยอะแยะ
ส่วนเหตุเสียชีวิต ไม่น่าใช่จากไขสันหลังโดยตรง ปกติรอยโรคไขสันหลัง อาการเป็นต่ำจากรอยโรคที่คอลงมา ไม่ขึ้นไปที่สมอง น่าจะเสียจากภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เกิดจากนอนติดเตียง ทำไม อจ รู้เรื่องนวด อะ 7 ปีที่แล้ว เป็น หัวหน้าศูนย์แพทย์แผนไทยและผสมผสาน TTCM คณะแพทย์ มช. ไงหละ น้องชาย ก็ ปอ โท แผนไทย และ อจ ก็เป็น อจ หมอ สมอง ที่ คิดหน่อย วิเคราะห์หน่อย ไม่งั้นผิดทางหัวจะปวด เท่านี้แหละ ยังไงขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง
ด้าน นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี (สสจ.อุดรธานี) แถลงข่าวกรณีนักร้องหมอลำ “ผิง ชญาดา” เสียชีวิต ซึ่งครอบครัวตั้งข้อสังเกตว่า อาจมาจากการนวดบริเวณต้นคอ ที่ร้านนวดในพื้นที่เขตเทศบาลนครอุดรธานีนั้น
จากการลงไปตรวจสอบ และพูดคุยกับครอบครัวแล้วได้รับข้อมูลของผู้ป่วยได้เข้ารักษาในวันที่ 5 ต.ค. มีอาการเริ่มต้นปวดคอ บ่า ไหล่ และอ้างว่ามีการนวดบีบคอด้วย หลังจากนั้นเริ่มปวดท้ายคอ ชา แขน แต่กลับไปนวดร้านเดิม ต่อมา 2 สัปดาห์อาการไม่ดีขึ้น และไปนวดร้านเดิม และอีก 2 สัปดาห์ก็มีอาการหนักพลิกตะแคงด้านขวาไม่ได้
ซึ่งจากการตรวจเอ็กซเรย์ของแพทย์พบว่า ผู้ป่วยมีอาการแขน ขา อ่อนแรง ไม่มีปัญหากระดูกหักบริเวณต้นคอ แพทย์จึงเจาะหลัง และพบว่าผู้เสียชีวิตเป็นไขสันหลังอักเสบ จึงมีการให้ยาตามหลักวิชาชีพ โดยหลังจากให้ยาอาการดีขึ้น จึงให้กลับไปพักที่บ้าน
กระทั่งวันที่ 18 พพ.ย.ที่ผ่านมา พบว่าผู้ป่วยมีอาการเกร็ง กระตุก กระทั่งเข้าไอซียู จึงนำส่งโรงพยาบาล และเข้าไอซียูวันที่ 22 พ.ย.นี้ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด
ล่าสุด จากกรณีการเสียชีวิตของนักร้องสาว “ผิง ชญาดา” ที่มีข่าวว่าเสียชีวิตจากการนวดแผนไทย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาชี้แจงว่า ผลการตรวจวินิจฉัยยืนยันว่า “ผิง ชญาดา” เสียชีวิตจาก “โรคไขสันหลังอักเสบ” ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการนวดแผนไทย เผยผลเอ็กซ์เรย์และเอ็มอาร์ไอ ไม่พบว่ามีกระดูกคอหักหรือเคลื่อน ผลตรวจน้ำไขสันหลังชี้ชัดว่าเป็นโรคไขสันหลังอักเสบ ผู้เสียชีวิตมีอาการป่วยและเข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้งก่อนหน้านั้น
โดย นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ขอให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัยของการนวดแผนไทย และขอให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
หลายคนอาจสงสัยว่าโรคไขสันหลังอักเสบคืออะไร
โรคไขสันหลังอักเสบ (Transverse Myelitis) คือ ภาวะการอักเสบของไขสันหลัง ซึ่งส่วนใหญ่มักส่งผลกระทบต่อเซลล์ประสาทและปลอกหุ้มใยประสาทที่เรียกว่ามัยอีลิน ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ปวด, กล้ามเนื้ออ่อนแรง, เป็นอัมพาต, ปัญหาเกี่ยวกับประสาทสัมผัส, และกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ทำงานผิดปกติ
สาเหตุของโรคไขสันหลังอักเสบ ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่อาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา และปรสิต สามารถทำให้เกิดการอักเสบที่ไขสันหลังได้ เช่น ไวรัสเริม, ไวรัสตับอักเสบบี, ไข้หวัดใหญ่, โรคหัด, โรคไลม์, ซิฟิลิส, วัณโรค, เชื้อราแอสเปอร์จิลลัส และโรคขี้แมว หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (MS), โรคปลอกประสาทอักเสบชนิดเอ็นเอ็มโอ (NMO), โรคลูปัส, กลุ่มอาการโจเกรน และโรคซาร์คอยโดสิส อาจทำให้เกิดไขสันหลังอักเสบได้
อาการของโรคไขสันหลังอักเสบ อาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่ชั่วโมงหรือค่อยๆ เป็นมากขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ อาการที่พบบ่อย ได้แก่
ปวด: ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหลังส่วนล่าง ปวดร้าวลงแขนขา หรือปวดรอบลำตัว
ปัญหาด้านประสาทสัมผัส: อาจมีอาการชา, รู้สึกเหมือนเข็มทิ่ม, ร้อน, เย็น, ไวต่อการสัมผัส, หรือไวต่ออุณหภูมิที่แขน ขา หรือเท้า
กล้ามเนื้ออ่อนแรง: ผู้ป่วยอาจมีอาการแขนขาอ่อนแรง เดินสะดุด หรือเดินลากขา ในกรณีรุนแรงอาจเป็นอัมพาต
กระเพาะปัสสาวะและลำไส้ทำงานผิดปกติ: อาจมีอาการปัสสาวะบ่อย, กลั้นปัสสาวะไม่อยู่, ปัสสาวะลำบาก, หรือท้องผูก
การวินิจฉัยโรคไขสันหลังอักเสบ แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และอาจใช้การตรวจเพิ่มเติม ดังนี้
การถ่ายภาพรังสี: การทำ CT scan หรือ MRI scan เพื่อตรวจดูความผิดปกติของไขสันหลัง
การเจาะน้ำไขสันหลัง: เพื่อตรวจหาการติดเชื้อหรือการอักเสบ
การตรวจเลือด: เพื่อตรวจหาสาเหตุของการติดเชื้อหรือโรคอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้อง
การรักษาโรคไขสันหลังอักเสบ ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคไขสันหลังอักเสบให้หายขาด การรักษาจึงมุ่งเน้นไปที่การควบคุมอาการและการฟื้นฟูสมรรถภาพ วิธีการรักษาอาจรวมถึง:
การใช้ยา: ยาสเตียรอยด์, ยาต้านไวรัส, ยาแก้ปวด, ยากลุ่ม Intravenous Immunoglobulin (IVIg) และยาเพื่อรักษาภาวะแทรกซ้อน
การบำบัด: กายภาพบำบัด, กิจกรรมบำบัด และจิตบำบัด
ภาวะแทรกซ้อนของโรคไขสันหลังอักเสบ อาจพบภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ปวดเรื้อรัง, กล้ามเนื้อหดเกร็ง, อัมพาต, หย่อนสมรรถภาพทางเพศ, ซึมเศร้า และวิตกกังวล
การป้องกันโรคไขสันหลังอักเสบ เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด จึงไม่มีวิธีการป้องกันที่เฉพาะเจาะจง อย่างไรก็ตาม การดูแลสุขภาพโดยรวมให้แข็งแรง, การรักษาโรคประจำตัว, และการเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อบางชนิด อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เป็นโรคไขสันหลังอักเสบมักจะมีอาการดีขึ้นภายใน 3 เดือนแรก แต่อาจใช้เวลานานถึง 2 ปีหรือมากกว่านั้น และผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหลงเหลืออยู่
สิ่งสำคัญคือการไปพบแพทย์ทันที หากพบว่ามีอาการที่บ่งชี้ว่าอาจเป็นโรคไขสันหลังอักเสบ การวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ระยะแรกจะช่วยเพิ่มโอกาสในการฟื้นตัวและลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน
ที่มา : สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง