svasdssvasds

‘หัวเลี้ยวหัวต่อ’ ของซีเรียจะเป็นอย่างไร หลังผ่านยุคอัสซาด?

‘หัวเลี้ยวหัวต่อ’ ของซีเรียจะเป็นอย่างไร หลังผ่านยุคอัสซาด?

ผู้ต่อต้านรัฐบาลซีเรียต่างออกมาฉลองหลังทราบข่าวว่า กลุ่มกบฎเข้ายึดกรุงดามัสกัสเมืองหลวงของประเทศซีเรียสำเร็จ นับเป็นปิดฉากการครองอำนาจของตระกูลอัล-อัสซาด ที่ปกครองชาวซีเรียกว่า 53 ปี

จุดจบของอัล-อัสซาดเกิดจากอะไร?

ดร.ศราวุธ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยวิเคราะห์ถึงจุดจบของอัสซาดว่ามาจาก ‘ความอ่อนแอภายใน’ เป็นหลัก เลยทำให้ทุกอย่างเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ระบอบบาชาร์ อัล-อัสซาด ที่อยู่ได้มาตลอดระยะเวลาที่เกิดสงครามกลางเมือง ประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือ 

1.นายทหารจากอลาวีย์ ชีอะห์

คนเหล่านี้เป็นชนกลุ่มน้อยของซีเรีย แต่มีอำนาจทางการเมืองและการทหาร ภายหลังเกิดการคอรัปชั่นกันภายใน กลุ่มทหารเองก็ไม่พอใจ จากเงินเดือนที่เท่าเดิมแต่เศรษฐกิจกลับแย่ลงเรื่อยๆ

2.กลุ่มนักธุรกิจซุนหนี่

หลังการเข้าสู่อำนาจของบาชาร์ อัล-อัสซาด มีการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจมากขึ้น แม้ตัวอัล-อัสซาด จะเป็นชีอะห์ แต่เขากลับมีนโยบายเสรีทางเศรษฐกิจ ซึ่งแตกต่างจากพ่อของตัวเองมาก่อนหน้านี้ กลุ่มเหล่านี้ก็เป็นเครือข่ายที่คอยหนุนเขาในช่วงเวลาที่ผ่านมา

3.ตัวแสดงจากภายนอก - ประเทศมหาอำนาจ

การดำรงอยู่ของ อัล-อัสซาด มีประเทศมหาอำนาจที่หนุนอยู่เสมอมา แต่ในขณะนี้สถานการณ์เหล่านั้นเปลี่ยนไป อย่างกรณีรัสเซียที่มีสงครามที่ตัวเองต้องโฟกัส ซึ่งกำลังสู้รบกับยูเครน ในขณะที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ก็ติดพันการต่อสู้กับอิสราเอลทางตอนใต้ของเลบานอน รวมถึงอิหร่านเองที่มีศึกรอบด้าน

เมื่อ 3 เสาหลักที่ค้ำ อัล-อัสซาด ต่างอ่อนแอ และพังทลายลงมา จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และทำให้ต้องปิดฉากระบอบอัล-อัสซาด ในซีเรียที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 53 ปี


 

อัล-อัสซาด จะมีโอกาสกลับมาหรือไม่ในซีเรีย

“ไม่มีโอกาสได้กลับมา เนื่องจากระบอบบาชาร์ อัล-อัสซาด ตั้งอยู่บนพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์สังคมนิยม ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่ช่วงหลังสังคมอาหรับไม่ได้ชื่นชอบแล้ว”

ดร.ศราวุธระบุว่าอุดมการณ์เหล่านี้ได้หมดเวลาในสังคมอาหรับนานแล้ว แต่ที่ดำรงอยู่ได้เพราะการปกครองแบบเผด็จการ

“โลกอาหรับขณะนี้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว อาหรับแบบชาตินิยมหรือสังคมนิยมไม่ได้ความนิยมอีกต่อไป”


 

ซีเรียกับสำคัญอย่างไรในภูมิภาค

“ซีเรียเป็นดินแดนประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์ของโลกอิสลาม”

ซีเรียมีความอุดมสมบูรณ์ไม่ได้มีเพียงทะเลทรายเหมือนประเทศอาหรับอื่นๆ มีจุดเชื่อมต่อกับยุโรป รวมถึงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ

“ซีเรียยังแสดงบทบาททางการเมืองในโลกอาหรับมาอย่างยาวนาน เคยเป็นมหาอำนาจประเทศหนึ่งของอาหรับ”

สิ่งที่ ดร.ศราวุธ บอกให้เราจับตามองคือท่าที่ของประเทศมหาอำนาจ ถ้าฝั่งสหรัฐอเมริกา คือการรักษาผลประโยชน์ของอิสราเอล โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย ในขณะที่ฝั่งรัสเซีย นี่คือที่มั่นสุดท้ายของรัสเซียในภูมิภาคตะวันออกกลาง

อนาคตซีเรีย การเมืองเป็นอย่างไร

ดร.ศราวุธ ยังได้วิเคราะห์การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของซีเรีย โดยยกตัวอย่างกรณีอิรักที่เกิดความขัดแย้งและความไม่เป็นเอกภาค ส่งผลให้เกิดความไม่สงบต่อเนื่องหลังการเข้ามาของสหรัฐเพื่อโค่นล้มซัดดัม ฮุสเซ็น

“กรณีซีเรียนี้มีความแตกต่างกับอิรัก เพราะตอนนั้นสหรัฐเข้าไปอิรักแบบตรงๆ ทำให้หลายกลุ่มต้องการเข้าไปโค่นล้มมหาอำนาจด้วยเช่นกัน เลยเกิดความอีรุงตุงนัง”

ในขณะที่ซีเรียจุดเริ่มต้นจากอาหรับสปริงที่ประชาชนต้องการความเปลี่ยนแปลงจับอาวุธมาต่อสู้ และเกิดสงครามกลางเมืองมานานกว่า 14 ปี สร้างความเจ็บปวดให้กับคนทุกกลุ่ม ประชาชนตายไปแล้วกว่า 5 แสนราย บ้านเมืองเสียหาย เศรษฐกิจย่อยยับ

“จากประสบการณ์ของสงครมกลางเมืองตลอด 14 ปีที่ผ่านมา อาจทำให้ประชาชนเห็นว่า ถ้าขัดแย้งกันต่อไป จับอาวุธสู้กันต่อ มันจะทำให้เกิดผลกระทบและเกิดความเสียหายเจ็บปวดแบบไม่มีที่สิ้นสุด”

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ ดร.ศราวุธเชื่อว่า ทุกกลุ่มคงจะมานั่ง ‘จับเข่า’ คุยปรึกษาหารือ มองอนาคตของซีเรียร่วมกัน มากกว่าการเดินหน้า ‘จับอาวุธ’ ต่อสู้กันแบบเดิม
 

related