SHORT CUT
“สสส. ผนึกภาคีรณรงค์สงกรานต์ปลอดเหล้า ดันแคมเปญ ‘ดื่มแล้วขับ อาจเป็นฆาตกร’” หลังพบสถิติ 7 วันอันตรายปี 2567 มีผู้เสียชีวิต 287 ราย
สงกรานต์คือช่วงเวลาแห่งความสุข สนุกสนาน และการกลับไปหาครอบครัว แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นช่วงที่อุบัติเหตุบนท้องถนนพุ่งสูง โดยเฉพาะจากพฤติกรรม “เมาแล้วขับ” ที่อาจเปลี่ยนการเฉลิมฉลองให้กลายเป็นโศกนาฏกรรม ไม่เพียงแค่ทำร้ายตัวเอง แต่ยังอาจพรากชีวิตของผู้บริสุทธิ์ไปด้วย
ด้วยเหตุนี้ วันที่ 2 เมษายน 2568 ที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) และภาคีเครือข่าย จึงจัดแถลงข่าวภายใต้หัวข้อ “ดื่มแล้วขับ อาจเป็นฆาตกร” เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความปลอดภัยในการขับขี่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงโทษและผลกระทบอันรุนแรงจากพฤติกรรมดื่มแล้วขับ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
ภายในงาน นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เปิดเผยว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วง 7 วันอันตรายของเทศกาลสงกรานต์ ปี 2567 พบว่า มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นถึง 2,044 ครั้ง บาดเจ็บ 2,060 ราย และเสียชีวิต 287 ราย โดยสาเหตุหลักมาจากการขับเร็วถึง 41.49% รองลงมาคือดื่มแล้วขับ 22.7% และการตัดหน้ากระชั้นชิด 18.1% แม้จะมีมาตรการเข้มข้นในการป้องกันอุบัติเหตุ แต่การดื่มแล้วขับยังคงเป็นปัญหาหลักที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างจริงจัง ด้วยเหตุนี้ สสส. จึงร่วมมือกับภาคีเครือข่ายจัดรณรงค์ “ดื่มแล้วขับ อาจเป็นฆาตกร” เพื่อสื่อสารและกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบจากแอลกอฮอล์ ซึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะส่งผลต่อสมรรถภาพในการขับขี่ ทั้งการตอบสนองช้าลง การตัดสินใจเบรกไม่ทัน และการกะระยะผิดพลาด ซึ่งอาจนำไปสู่อุบัติเหตุร้ายแรง การตัดสินใจเพียงเสี้ยววินาทีบนท้องถนนอาจเปลี่ยนชีวิตใครบางคนไปตลอดกาล สสส. จึงเชิญชวนภาคีเครือข่ายร่วมกันสร้างวัฒนธรรมสงกรานต์วิถีไทย ผ่านพื้นที่เล่นน้ำที่ปลอดภัยและปลอดเหล้า เพื่อร่วมกันลดความสูญเสียในช่วงเทศกาลแห่งความสุขนี้.
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สงกรานต์นี้ สสส. ร่วมกับ 1. มูลนิธิเมาไม่ขับและเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับกว่า 100 เครือข่ายทั่วประเทศ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดทั่วประเทศ เพิ่มมาตรการดูแลความปลอดภัย
2. ร่วมกับเครือข่ายตำบลสุขภาวะ 2,000 แห่ง และมี 189 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน 35 อำเภอ 20 จังหวัด ดำเนินการเข้มข้นดูแลประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้าง “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” และดูแลพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ใน 222 อำเภอเสี่ยง เน้นดื่มไม่ขับ-ไม่ขับเร็ว-สวมหมวกนิรภัย และตั้งด่านชุมชน-ด่านปากหวาน เน้นการป้องปรามและตักเตือนเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่ชุมชน
3. พร้อมสนับสนุนอาสาสมัครจราจร และเยาวชน Gen Z เฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยง
4. ร่วมกับหน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคมขยายมาตรการ “สงกรานต์วิถีไทย สนุก ปลอดภัย ไร้แอลกอฮอล์” สร้างความปลอดภัยในพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัย ร่วมกันผลักดัน “พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้าปลอดภัย” กว่า 100 พื้นที่ มีถนนตระกูลข้าว ปลอดเหล้า 60 พื้นที่” นพ.พงศ์เทพ กล่าว (รีไรทิให้หน่อย)
ขณะที่นายดุสิต ศิริวราศัย ผู้อำนวยการกองบูรณาการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ได้ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง ผ่านกลไกของ ศปถ. ในทุกระดับ ทั้งกรุงเทพมหานคร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และระดับอำเภอ เพื่อจัดการกับปัจจัยเสี่ยงด้านอุบัติเหตุทางถนนในทุกมิติ โดยเน้นการบังคับใช้กฎหมายควบคู่กับการรณรงค์สร้างจิตสำนึกในการขับขี่อย่างปลอดภัย พร้อมใช้กลไกทางสังคมในการเฝ้าระวัง ป้องปราม และตักเตือนผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอย่างเข้มข้น
สำหรับแผนการป้องกันและลดอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ปีนี้ จะเน้นในประเด็น “เร็ว เมา หมวก” ควบคู่กับการดำเนินมาตรการเชิงรุกในพื้นที่ เช่น การประชาสัมพันธ์ให้ผู้ขับขี่ตรวจสภาพรถก่อนเดินทาง การป้องกันการบรรทุกของหรือโดยสารท้ายกระบะในลักษณะอันตราย และส่งเสริมการทำประกันภัยทั้งภาคบังคับและสมัครใจ
ด้านพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ ปภ. ได้จัดโซนปลอดภัย (Zoning) โดยดูแลทั้งด้านความปลอดภัยในการเดินทาง และการป้องกันอาชญากรรม ควบคู่กับการขอความร่วมมือจากร้านค้าและสถานประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎหมายการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัด ห้ามขายให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี หรือผู้ที่อยู่ในอาการมึนเมา รวมถึงกำหนดเขตห้ามขายและห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน.
ขณะที่ นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า สงกรานต์ปีนี้ สคอ. ร่วมกับ สสส. สนับสนุนการทำงานของกลไก ศปถ. หลัก ที่มุ่งให้ความสำคัญกับการสื่อสารกระตุ้นเตือนสังคมให้รับรู้ถึงความเสี่ยง ความสูญเสียที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาล โดยจะผลิตในรูปแบบสื่อรณรงค์ ภายใต้แคมเปญ “ดื่มแล้วขับ อาจเป็นฆาตกร” กระจายไปยังภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ และร่วมกับกลไก ศปถ.หลัก ติดตามเฝ้าระวังตลอด 7 วัน พร้อมกับลงพื้นที่ค้นหาความจริงเพิ่มเติมกรณีเกิดอุบัติเหตุใหญ่ นำมาวิเคราะห์เจาะลึกสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร กำหนดมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนต่อไป
ส่วนนางสาวดุษฎี ปรีชากร รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลท่าคอย อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่า อบต.ท่าคอยได้ดำเนินมาตรการ “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ศปถ.อปท.) เพื่อเป็นกลไกหลักในการบริหารจัดการ พร้อมขับเคลื่อนแผนงานต่าง ๆ ได้แก่ การรณรงค์สวมหมวกนิรภัย 100% การลดอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับ และการแก้ไขจุดเสี่ยงในพื้นที่ให้สอดคล้องกับแนวทางของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) และแผนป้องกันของ สสส.
การดำเนินงานแบ่งออกเป็นสองระยะ ได้แก่ ระยะก่อนเกิดเหตุ มีการประชุมเตรียมความพร้อม ซักซ้อมแผนงาน บริการตรวจเช็กสภาพรถ ปรับปรุงภูมิทัศน์สองข้างทาง ซ่อมแซมถนนและไฟส่องสว่าง ส่วนใน ระยะเกิดเหตุ มีแผนช่วยเหลือประชาชนโดยการตั้งด่านชุมชนและด่านบริการ เตรียมพร้อมบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลท่ายาง เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ดับเพลิง ผู้นำชุมชน และทีมกู้ชีพ-กู้ภัย เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน นอกจากนี้ ยังมีการเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยง โดยเฉพาะกรณีดื่มแล้วขับ ซึ่งจะมีการตักเตือนทันทีเมื่อพบเห็น พร้อมส่งเสริมให้ผู้นำชุมชนเป็นแบบอย่างในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย
ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ที่ผ่านมา พบว่า พื้นที่ตำบลท่าคอยไม่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ และมีผู้บาดเจ็บเพียง 4 ราย ซึ่งเกิดจากปัญหาด้านโครงสร้างจราจรบริเวณแยกที่ไม่มีสัญญาณไฟหรือ "แยกวัดใจ".
นางสาวเครือมาศ ศรีจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต กล่าวว่า เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นเครือข่ายที่ทำงานกับเคสอุบัติเหตุทางถนน จึงอยากให้ทุกคนฉลองสงกรานต์อย่างมีความสุข อยู่บ้านกับครอบครัว หากดื่มก็ควรอยู่บ้านเพื่อไม่ออกมาเป็นฆาตกรทำร้ายเพื่อนร่วมทางถนน
ขอเน้นย้ำว่า อุบัติเหตุเมาแล้วขับส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ เพราะเมื่อเกิดขึ้นแล้วผลกระทบเป็นลูกโซ่ ขอยกเคสตัวอย่างที่ทำงานด้วย เมื่อ ปี 2560 เหยื่อเมาแล้วขับ 5 ศพ ผู้ประสบเหตุคือกู้ภัยและตำรวจที่กำลังไปช่วยอุบัติเหตุบนถนน แต่กลับเจออุบัติเหตุซ้ำซ้อน ทุกวันนี้ พ่อ แม่ ผู้เสียชีวิต 1 ใน 5 ไม่เคยผ่านแถวนั้นเลย เพราะรับไม่ได้กับการสูญเสียลูกชายวัยกำลังเรียน
มีหลายเคสจบที่การไกล่เกลี่ย จ่ายหลักหมื่นเพื่อจบ ซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะชีวิตคนไม่ได้ถูกประเมินค่าแบบนั้น ส่วนเคสที่ไม่ยอมเยียวยาผู้เสียหายก็มีการสู้กันหลายศาลตามขั้นตอน แต่ไม่ว่าจะจบแบบไหน ผู้สูญเสียคือคนที่ต้องทุกข์ทรมานมากที่สุดทุกเคส เพราะทุกความสูญเสียไม่ได้อยู่กับผู้สูญเสียแค่ 7 หรือ 10 วัน แต่อยู่กับคนในครอบครัวที่สูญเสียตลอดไป
ทางด้าน พระอาจารย์กาญจน์ สุญาณิกโพธิ แห่งวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ได้ฝากเตือนสติถึงคนไทยว่า ด้วยความที่ชาวไทยเป็นชนชาติที่รักสนุก ชอบความรื่นเริง ไม่ว่าจะเทศกาลไหนก็ถือโอกาสดื่มสุราได้ทั้งนั้น เลยมีวิธีคิดที่เกิดขึ้นมาว่า ถ้าได้ดื่มสุราสักหน่อย มันจะสนุกได้โดยที่ไม่ต้องกังวล ซึ่งขอเรียกความคิดแบบนี้ว่าเป็นความประมาท เพราะเมื่อสุราซึมเข้าร่างกายเข้า สมองก็จะมีถึงความผิดชอบชั่วดีลดลง
การที่จะทำให้อุบัติเหตุลดลงในช่วง 7 วันอันตรายได้ ต้องมาจากทุกคนมีความสำนึกรู้ร่วมกันว่า ถ้าจำเป็นต้องดื่มแล้วก็อย่าขับรถ แม้จะไปเที่ยวกับเพื่อ 5 – 10 คนแต่ถ้ามีคนขับรถได้คนเดียวดันดื่มสุราก็ไม่ควรขับรถ จะดื่มมากหรือน้อยต้องเตือนกัน ถ้าทำได้โอกาสที่เกิดอุบัติเหตุก็จะลดลง
อีกเรื่องคือ เพื่อนไม่ควรยั่วยุให้คนขับรถดื่ม หรือถ้าเห็นว่าเขาดื่มมา ก็ควรหาวิธีการกลับบ้านอย่างไรก็ได้โดยไม่ให้เขาขับรถ แต่ถ้าเราปล่อยให้เพื่อนขับทั้งๆ ที่เมาก็เท่ากับว่าเรามีส่วนปล่อยละเลยให้อุบัติเหตุมีโอกาสเกิดขึ้น
จริงๆ ไม่ใช่แค่เทศกาลสงกรานต์ แต่ตลอดเวลาควรที่จะเกิดความระลึกรู้ร่วมกันในสังคม ดื่มแล้วไม่สมควรขับอย่างยิ่ง หาวิธีอื่น ถ้าจำเป็นต้องทิ้งรถเอาไว้ก็ต้องทิ้ง อย่าตัดสินใจทำอะไรที่อาจนำไปสู่การเสียใจตลอดชีวิต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง