SHORT CUT
การอำลาครั้งสุดท้ายของพระสันตะปาปาผู้ไม่ปรารถนาความโอ่อ่า แต่ขอเป็นเพียงศิษย์ผู้ซื่อสัตย์ของพระคริสต์
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสจะเข้าสู่พิธีศพในวันเสาร์ เวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (08.00 GMT) ณ นครวาติกัน โดยมีแขกและผู้ร่วมไว้อาลัยนับแสนคนจากทั่วโลกหลั่งไหลมาร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีอำลาอย่างเป็นทางการครั้งสุดท้ายของพระองค์
แต่ต่างจากพิธีศพของพระสันตะปาปาในอดีต ครั้งนี้จะเป็นพิธีที่เรียบง่าย ตามเจตจำนงของฟรานซิสที่ต้องการย้ำว่า เขาเป็นเพียง “ศิษย์ของพระคริสต์” ไม่ใช่ “ผู้ทรงอำนาจในโลกนี้”
เมื่อปี 2024 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้มีการปรับเปลี่ยน “พิธีฝังศพของพระสันตะปาปา” (Rite of Burial for Roman Pontiffs) ด้วยพระองค์เอง โดยตัดทอนความหรูหรา ลดลำดับพิธีการ และเปลี่ยนภาษาที่ใช้เรียกขาน
พระองค์จะถูกเรียกว่า “บิชอปแห่งโรม” หรือ “บาทหลวง” แทนคำที่ฟังยิ่งใหญ่เช่น “พระสันตะปาปาสูงสุดแห่งพระศาสนจักรสากล” ขณะที่โลงศพจะมีเพียงหนึ่งใบ ไม่ใช่สามชั้นแบบเดิม
“พิธีศพครั้งนี้ไม่ใช่ของผู้นำสูงสุดทางศาสนา หากแต่เป็นของศิษย์พระคริสต์ผู้ถ่อมตน” อาร์ชบิชอป ดิเอโก ราเวลลี ผู้ดูแลพิธีกรรมของพระสันตะปาปากล่าว
การจากไปของพระสันตะปาปานั้นไม่เพียงเป็นเหตุการณ์ศาสนา หากยังเป็นปรากฏการณ์ทางการทูตระดับโลก เพราะตำแหน่ง “พระสันตะปาปา” นั้นหมายถึงประมุขแห่งนครวาติกัน และประธานแห่งสันตะสำนัก ซึ่งเป็นรัฐเอกราชที่มีที่นั่งถาวรในองค์การสหประชาชาติ
ผู้นำโลกหลายรายยืนยันการเดินทางมาร่วมพิธี ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ, นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ และประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน
รัฐบาลอิตาลีประเมินว่าจะมีชาวต่างชาติอย่างน้อย 200,000 คนเดินทางมาโรมเพื่อร่วมพิธีศพ ทว่า บางฝ่ายคาดว่าตัวเลขนี้อาจพุ่งสูงกว่านั้นอย่างมาก โดยเปรียบเทียบกับพิธีศพของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมสูงถึง 4 ล้านคน
มิสซาศพจะจัดขึ้นโดยคาร์ดินัลโจวันนี บัตติสตา เร เดอะดีนแห่งคณะคาร์ดินัลวัย 91 ปี โดยมีการอ่านพระคัมภีร์และสวดภาวนาในหลายภาษา รวมถึงละติน อิตาลี อังกฤษ สเปน โปแลนด์ อาหรับ และจีน เพื่อสะท้อนถึงความเป็นสากลของพระศาสนจักรคาทอลิก
พิธีนี้จะไม่ใช่เพียงแค่การไว้อาลัย หากเป็นการแสดง “ความเชื่อในพระคริสต์ผู้ทรงฟื้นคืนพระชนม์” ตามเจตนารมณ์ของผู้วายชนม์
หลังเสร็จสิ้นพิธีศพ โลงของพระสันตะปาปาฟรานซิสจะถูกนำไปยัง มหาวิหารซันตามาเรียมัจโจเร ซึ่งอยู่นอกกำแพงวาติกัน โบสถ์แห่งนี้เป็นสถานที่ที่พระองค์มักไปเยี่ยมเยือน และจะเป็นสถานที่ฝังศพของพระสันตะปาปาเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 17
ตามพินัยกรรมสุดท้ายของพระองค์ ขอให้หลุมฝังเป็นเพียง “หลุมธรรมดาในดิน ไม่ต้องมีการตกแต่งใดๆ” โดยมีเพียงคำว่า “Franciscus” เป็นคำเดียวจารึกไว้บนหินหน้าหลุม
ที่มา aljazeera
ข่าวที่เกี่ยวข้อง