ประวัติชีวิต "วอร์เรน บัฟเฟตต์" มหาเศรษฐีที่เคยขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของโลก สร้างความมั่งคั่งทั้งหมดมาจากการลงทุนเพียงอย่างเดียว ด้วยมือของตัวเอง
วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) หนึ่งในนักลงทุนระดับตำนานที่ร่ำรวยที่สุดในโลก มียอดทรัพย์สินสุทธิ 140,000 ล้านดอลลาร์หรือราว 4.6 ล้านล้านบาท เป็นที่รู้จักกันในด้าน “ความใจกว้าง” โดยเขามอบเงินหลายพันล้านดอลลาร์ให้กับองค์กรการกุศลหลายแห่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา
"วอร์เรน บัฟเฟตต์" เกิดเมื่อวันที่ 30 ส.ค.1930 ในเมืองโอมาฮา รัฐเนบราสกา เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวน 3 คน ของเลลาและโฮวาร์ด บัฟเฟตต์ ปู่ทำร้านขายของชำ พ่อเป็นนักลงทุนและคณะกรรมการโรงเรียนโอมาฮา ก่อนได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิสภาคองเกรสในปี 1942 สังกัดพรรครีพับลิกัน
เมื่ออายุได้ 11 ปี บัฟเฟตต์ซื้อหุ้นครั้งแรกเป็นหุ้นบริษัทก๊าซธรรมชาติ Cities Service จำนวนสามหุ้นในราคา 38 ดอลลาร์ต่อหุ้น หลังจากหุ้นดิ่งลงแล้วพุ่งขึ้นเป็น 40 ดอลลาร์ เขารีบขายทันที แต่ราคายังขึ้นต่อเนื่อง เจ้าตัวได้บทเรียนครั้งใหญ่ว่า การพยายามคาดเดาว่าจะซื้อหรือขายหุ้นเมื่อใดไม่ใช่ความคิดที่ดี
เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น บัฟเฟตต์ส่งหนังสือพิมพ์ในวอชิงตันมีรายได้มากพอเข้าไปลงทุนในฟาร์มแห่งหนึ่งของเนบราสกา
บัฟเฟตต์เข้าเรียนที่วิทยาลัยวอร์ตันมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียเมื่ออายุ 17 ปี แล้วโอนหน่วยกิตไปสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเนแบรสกา ลินคอล์น ในอีกสองปีต่อมา ได้รับปริญญาตรีสาขาบริหารธุรกิจ
บัฟเฟตต์เข้าเรียนต่อระดับบัณฑิตศึกษาที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ได้เบนจามิน เกรแฮม ปรมาจารย์ด้านการลงทุนแบบเน้นมูลค่าเป็นที่ปรึกษาซึ่งนอกจากพ่อแม่แล้ว บัฟเฟตต์ยังถือว่าแกรห์มเป็นครูที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาอีกด้วย
ความสำเร็จของบัฟเฟตต์ไม่ได้เกิดจากโชคช่วย แต่มาจากการยึดมั่นในหลักการลงทุนที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง หนึ่งในหัวใจสำคัญคือแนวคิด "การลงทุนในคุณค่า" (Value Investing) ที่ได้รับอิทธิพลจากเบนจามิน เกรแฮม นักเศรษฐศาสตร์และอาจารย์ของเขา
วอร์เรน บัฟเฟตต์ เข้าสู่โลกของบริษัทขนาดใหญ่ตอนที่บริษัท บัฟเฟตต์ พาร์ทเนอร์ชิป ซื้อหุ้นของเบิร์กเชียร์ ปี 1965 เขาควบคุมธุรกิจที่เหลือทั้งหมด
ปัจจุบันเบิร์กเชียร์เป็นเจ้าของหลายกิจการตั้งแต่รถไฟบรรทุกสินค้า BNSF ไปจนถึงบริษัทประกันภัยรถยนต์ Geico บริษัทพลังงานมากมาย แม้แต่บริษัทค้าปลีกอย่าง Dairy Queen และ See’s Candies ในปี 2024 บริษัทเหล่านี้มีกำไรจากการปฏิบัติการ 4.74 หมื่นล้านดอลลาร์
บัฟเฟตต์ยังเพิ่มพอร์ตหุ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงลงทุนครั้งใหญ่ในบริษัทอย่างแอปเปิ้ลอิงค์และอเมริกันเอกซ์เพรส วิธีนี้ทำให้เบิร์กเชียร์มีส่วนร่วมกับกำไรของบริษัทใหญ่ได้โดยไม่ต้องเป็นเจ้าของเต็มตัว
ตอนที่บัฟเฟตต์เห็นชอบซื้อ BNSF วงเงิน 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2009 เขาเรียกดีลนี้ว่า “การทุ่มหมดหน้าตักกับอนาคตเศรษฐกิจของสหรัฐ” อภิมหาเศรษฐีรายนี้มีความหวังกับเศรษฐกิจของประเทศเสมอ
ในจดหมายถึงนักลงทุนปี 2015 บัฟเฟตต์ระบุว่า สหรัฐยิ่งใหญ่ได้เพราะผลิตภาพที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดชีวิตของเขาผลผลิตทางเศรษฐกิจของสหรัฐเพิ่มขึ้นหกเท่าต่อหัวประชากร
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง