DSI ลุยสอบ คดีฮั้วเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ทั่วประเทศ พบเงื่อนงำเงินหมุนผิดปกติ ผู้สมัครบางรายโต้เดือด อ้างศักดิ์สูงกว่า ไม่หวั่นหมายจับ
การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ปี 2567–2568 กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนแรงในแวดวงการเมืองไทย เมื่อมีการเปิดโปงขบวนการ “ฮั้วเลือกตั้ง” ที่เข้าข่ายทุจริตและผิดกฎหมาย โดยคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
เหตุการณ์เริ่มต้นขึ้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2568 ผู้สมัคร สว. 3 ราย ได้แก่ นางไพรวัลย์ แก้วพวง, นางบุญล้อม วรรณพัฒน์ และนางพิสมัย เข็มทอง เข้าแจ้งความว่ามีชายกลุ่มหนึ่งอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ DSI บุกเข้าบ้านโดยไม่แสดงบัตร และพยายามกดดันให้รับสารภาพว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฮั้วเลือกตั้ง โดยมีการตัดปลั๊กกล้องวงจรปิดและข่มขู่ในลักษณะผิดวิสัยเจ้าหน้าที่รัฐ
ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ นายณรงค์ เทพเสนา ได้ทำหนังสือด่วนรายงานกระทรวงมหาดไทย พร้อมสั่งการให้หน่วยงานท้องถิ่นติดตามพฤติกรรมผู้แอบอ้าง เนื่องจากเหตุการณ์นี้สร้างความตื่นตระหนกแก่ประชาชน และกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการสอบสวน
ความวุ่นวายยิ่งทวีความเข้มข้น เมื่อ นายอลงกต วรกี สมาชิกวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับขบวนการฮั้ว พร้อมตั้งคำถามต่ออำนาจของ DSI ว่ามีอำนาจจริงหรือไม่ในการดำเนินคดี พร้อมกล่าวท้าทายว่า หากแน่จริงควรมีหมายจับออกมาเลย หรือหมายค้นจากศาล และย้ำว่าตนเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ และบอกว่าตนมีศักดิ์สูงกว่า DSI
“ ขอเรียนตามตรงว่าดีเอสไอเป็นแค่หน่วยงานที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ แต่ผมเป็นวุฒิสมาชิก ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ ถ้าพูดตามตรง ผมศักดิ์สูงกว่า ผมสูงไม่มายุ่งกับข้างล่าง”
DSI ยังคงเดินหน้าร่วมมือกับ กกต. ตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวน 7 รายทั่วประเทศ เพื่อตรวจสอบความเชื่อมโยงระหว่างผู้สมัคร สว., เส้นทางการเงิน และพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง ทั้งการจูงใจ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และฟอกเงิน โดยเฉพาะรายงานการเงินหมุนเวียนผิดปกติที่คาดว่ามีมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท รวมถึงการลงคะแนนซ้ำที่ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย
ล่าสุด 7 พ.ค.2568 กกต.เผยว่า ขณะนี้การดำเนินการยังอยู่ใน ขั้นตอนแรกของกระบวนการสืบสวนและไต่สวน ตามระเบียบปี 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึงปี 2566 โดยขั้นตอนนี้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่ กกต. และ DSI เพื่อไต่สวนข้อกล่าวหาการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
หากพบว่า มีหลักฐานเพียงพอ คณะกรรมการจึงจะเสนอให้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ที่ถูกกล่าวหา เพื่อให้มีโอกาสชี้แจง แต่ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น และต้องผ่านการพิจารณาอีกหลายชั้นก่อนถึงการตัดสินใจขั้นสุดท้ายของ กกต. ชุดใหญ่
ทั้งนี้ กกต.ระบุว่า ข่าวที่เผยแพร่ออกมาไม่ใช่ข้อมูลจากสำนักงาน กกต.