SHORT CUT
ผู้อำนวยการศูนย์อินเดียศึกษา วิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้งในแคว้นแคชเมียร์ระหว่างอินเดีย-ปากีสถาน ไม่ลุกลามเป็นสงครามนิวเคลียร์ด้วย 4 ปัจจัย
ท่ามกลางการปะทะระหว่างอินเดียและปากีสถาน หลังกลุ่มติดอาวุธโจมตีนักท่องเที่ยวในดินแดนแคชเมียร์ส่วนที่ปกครองโดยอินเดียในวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา จนชาวอินเดียเสียชีวิต 25 รายและเนปาล 1 ราย ทำให้อินเดียต้องเปิด "ปฏิบัติการซินดูร์" เพื่อตอบโต้ในพื้นที่แคชเมียร์ส่วนที่ปกครองโดยปากีสถานและพื้นที่ปากีสถาน นำมาสู่การตั้งคำถามถึงสงครามนิวเคลียร์ระหว่างสองประเทศที่ต่างครอบครองขีปนาวุธ
รศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล ผู้อำนวยการศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับ SPRiNG ถึงโอกาสเกิดสงครามนิวเคลียร์ระหว่างอินเดียและปากีสถาน ว่า เป็นไปได้ยาก เพราะในโลกปัจจุบัน ใครที่คิดจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อน คงจะไม่มีพื้นที่อยู่ในโลก เนื่องจากมันสร้างความเสียหายมหาศาล และหากมีใครใช้อาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมา อาจจะกระทบถึงมหาอำนาจในโลกที่จะต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง
นอกจากนี้รัฐบาลอินเดียเองยังออกแถลงการณ์ยืนยันว่า การปฏิบัติโจมตีมุ่งเป้าหมายไปที่โครงสร้างพื้นฐานของผู้ก่อการร้ายในปากีสถานและในพื้นที่แคว้นแคชเมียร์ส่วนที่ปากีสถานปกครองอยู่เท่านั้น ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกทางทหารของปากีสถานตกเป็นเป้าหมาย เพื่อไม่ให้สถานการณ์บานปลาย ในขณะที่ฝั่งของปากีสถานเอง หากจะนำพาประเทศเข้าสู่สงครามเพราะเหตุการณ์ในแคชเมียร์คงเป็นเรื่องยาก เพราะรัฐบาลกำลังเผชิญหน้ากับภาวะทางเศรษฐกิจและเสี่ยงที่จะเข้าสู่การเป็นรัฐล้มเหลว อีกทั้งอินเดียเองก็ยังมีกำลังพลและยุทโธปกรณ์เยอะกว่าด้วย
ขณะเดียวกันมหาอำนาจ อย่างจีนที่เป็นมิตรประเทศกับปากีสถาน หรือสหรัฐอเมริกาที่เป็นมิตรประเทศกับอินเดียก็ไม่ได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์นี้
สุดท้าย คือ ท่าทีของประชาชนชาวมุสลิมที่มองเห็นการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่นำมาสู่คุณภาพชีวิตและปากท้อง หลังการยกเลิกมาตรา 370 และทำให้การท่องเที่ยวในแค้นแคชเมียร์ของอินเดียเฟื่องฟู การจะกลับไปสู่ความขัดแย้งจึงไม่ใช่หนทางที่ดีนัก
รศ.สุรัตน์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เช่นปี ค.ศ. 2019 หากไม่มีแรงจูงใจที่มาขึ้นกว่านี้ ทั้งสองฝ่ายจะค่อยๆ เงียบไป และสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติเหมือนที่ผ่านมา แต่อาจจะต้องใช้เวลา
ในภาพรวมอินเดียมีความเหนือกว่าในด้านกองทัพแบบดั้งเดิมแทบทุกมิติ
อินเดียมีกำลังพลประจำการประมาณ 1.46 ล้านนาย และกำลังพลสำรอง 1.16 ล้านนาย ในขณะที่ปากีสถานมีกำลังพลประจำการราว 6.54 แสนนาย และกำลังพลสำรองประมาณ 6.50 แสนนาย นอกจากนี้อินเดียมีประชากรมหาศาลกว่า 1.4 พันล้านคน และยังมีประชากรวัยหนุ่มสาวเข้าสู่วัยเกณฑ์ทหารปีละประมาณ 24 ล้านคน เทียบกับปากีสถานที่ประมาณ 4.8 ล้านคน ซึ่งบ่งชี้ถึงกำลังสำรองที่แข็งแกร่งกว่าในระยะยาว
อินเดียใช้จ่ายงบประมาณด้านกลาโหมสูงกว่าปากีสถานอย่างมาก ทั้งจากขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าและความจำเป็นเตรียมรับภัยคุกคามสองด้าน (คือทั้งปากีสถานและจีน) ในปีงบประมาณ 2024-2025 อินเดียจัดสรรงบประมาณกลาโหม ประมาณ 6.8 แสนล้านรูปี (6.8 ล้านล้าน รูปี หรือประมาณ 79–86 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งคิดเป็นราว 1.9–2.1% ของ GDP อินเดีย ทำให้อินเดียติดอันดับ 3 ของประเทศที่ใช้งบกลาโหมสูงสุดของโลก (รองจากสหรัฐฯ และจีน)
ส่วนปากีสถาน แม้จะทุ่มเทงบประมาณด้านการทหารสูงเมื่อเทียบสัดส่วน GDP แต่ด้วยข้อจำกัดทางเศรษฐกิจทำให้งบกลาโหมในปีงบประมาณ 2024-2025 อยู่ที่ ประมาณ 12 ล้านล้านรูปีปากีสถาน (ประมาณ 7.6–10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือราว 3.6% ของ GDP ปากีสถาน คิดเป็นเพียงประมาณ หนึ่งในแปด ของงบกลาโหมอินเดียเท่านั้น
ข้อมูลในปี 2024 อินเดียครอบครองหัวรบนิวเคลียร์ประมาณ 172-180 หัวรบ ส่วนปากีสถานมีประมาณ 170 หัวรบ โดยหลักนิยมการใช้อาวุธนิวเคลียร์ อินเดียยึดถือนโยบาย “ไม่ใช้นิวเคลียร์ก่อน” อย่างเป็นทางการ โดยประกาศว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อตอบโต้เท่านั้นหากถูกโจมตีด้วยนิวเคลียร์ อาวุธชีวภาพ หรืออาวุธเคมีก่อน ส่วนปากีสถานใช้แนวคิด “การป้องปรามทุกระดับ” เพื่อหยุดยั้งการคุกคามความมั่นคงของประเทศอย่างร้ายแรง