SHORT CUT
ชาวอิสราเอลส่วนใหญ่อาจสนับสนุนทรัมป์มากกว่าผู้นำของตนเอง หลังสหรัฐฯ ช่วยเจรจาให้ฮามาสปล่อยตัวประกันเพื่อยุติสงคราม
ชาวอิสราเอลจำนวนมากกำลังรู้สึกยินดี หลังกลุ่มฮามาสได้ปล่อยตัว 'เอดาน อเล็กซานเดอร์' ลูกครึ่งอเมริกัน-อิสราเอล และเป็นตัวประกันเชื้อสายอเมริกันคนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นผลมาจากการเจรจาลับระหว่างสหรัฐอเมริกาและกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา ก่อนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะเดินทางเยือนภูมิภาคตะวันออกกลางในสัปดาห์นี้
ประธานาธิบดีทรัมป์ ประกาศข่าวนี้ผ่านโซเชียลมีเดีย ระบุว่า นี่จะไม่ใช่ข่าวดีเพียงครั้งเดียว แต่นับเป็นก้าวสำคัญในการ "ยุติสงคราม" อันโหดร้ายครั้งนี้ และจะนำไปสู่การส่งคืนตัวประกันและร่างผู้เสียชีวิตทั้งหมดให้กับครอบครัวของพวกเขา
ด้านฮามาสประกาศว่า ตกลงที่จะปล่อยตัวอเล็กซานเดอร์ วัย 21 ปี หลังจากการเจรจากับสหรัฐฯ นานหลายวัน ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะบรรลุข้อตกลงหยุดยิงและกลับมาส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปยังฉนวนกาซาอีกครั้ง
ขณะที่อิสราเอลไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าว นอกจากการติดตามข้อมูลของการเจรจานี้ผ่านหน่วยข่าวกรองเท่านั้น
นักวิเคราะห์บางคนมองว่า นี่เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ผู้นำของอิสราเอล เพราะปัจจุบันมีชาวอิสราเอลจำนวนมากต้องการสนับสนุนแนวทางที่ทรัมป์ทำ และคัดค้านแนวทางของเนทันยาฮูที่มุ่งเป้าการทำสงครามกำจัดฮามาสในฉนวนกาซา
หนึ่งในสถานการณ์ที่ยืนยันได้ดี คือกระแสตอบรับของผู้โดยสารบนเครื่องบิน ในขณะที่อดัม โบห์เลอร์ ทูตพิเศษของทรัมป์ ได้บินไปอิสราเอลพร้อมกับแม่ของอเล็กซานเดอร์ก่อนที่ลูกชายของเธอจะได้รับการปล่อยตัว โดยโบห์เลอร์บอกทุกคนว่า "ประธานาธิบดีทรัมป์ บอกให้ผมไปพาตัวประกันทุกคนกลับมา และนี่คือจุดเริ่มต้นที่เราจะช่วยเหลือตัวประกันทั้งหมด เพราะสายสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและสหรัฐอเมริกาไม่เคยแข็งแกร่งเท่านี้มาก่อน" ก่อนที่จะได้รับเสียงปรบมือจากทุกคน
หลังจากอเล็กซานเดอร์ได้รับการปล่อยตัว ตัวประกัน 58 คนยังคงถูกควบคุมตัวในฉนวนกาซา โดยเชื่อว่าอย่างน้อย 20 คนยังมีชีวิตอยู่ และในบรรดาตัวประกันที่เสียชีวิตนั้นมีพลเมืองอเมริกัน 4 คนรวมอยู่ด้วย
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูเองก็ออกมาชื่นชมประธานาธิบดีทรัมป์ที่ช่วยให้อเล็กซานเดอร์ได้รับการปล่อยตัว โดยกล่าวว่านี่เป็นช่วงเวลาแห่งอารมณ์อ่อนไหว และความสำเร็จนี้เกิดขึ้นได้เพราะแรงกดดันทางทหารของอิสราเอลรวมกับแรงกดดันทางการทูตของสหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นการผสมผสานที่ลงตัว