ด่วน สศช. ประกาศตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 1 ของปี 2568 เศรษฐกิจไทย ขยายตัว 3.1% ส่วนทั้งปี 2568 ปรับลดประมาณการใหม่เหลือ 1.8% หลังเจอผลกระทบนโยบายรัฐบาลสหรัฐฯ
วันที่ 19 พฤษภาคม 2568 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ 1 ของปี 2568 และแนวโน้มปี 2568 ว่า ไตรมาสที่ 1 ของปี 2568 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของไทย ขยายตัว 3.1% เป็นผลมาจากภาคการผลิต และการใช้จ่ายยังคงขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะปริมาณการการส่งออกสินค้า ขยายตัว 13.8% และการส่งออกบริการขยายตัว 12.3% เช่นเดียวกับการลงทุนภาครัฐขยายตัว 26.3%
ส่วนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.89% สูงกว่า 0.88% ในไตรมาสก่อนหน้า แต่ต่ำกว่า 1.01% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 1.1% และ 0.9% ตามลำดับ
ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 10.5 พันล้านดอลลาร์ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 อยู่ที่ 245,300 ล้านดอลลาร์ และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2568 มีมูลค่าทั้งสิ้น 12.08 ล้านล้านบาท คิดเป็น 64.4% ของ GDP
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกที่ขยายตัว เป็นผลมาจากการเร่งนำเข้าสินค้าจากประเทศปลายทาง โดยในช่วงก่อนเดือนเม.ย. ดัชนีที่เกี่ยวข้องยังปรับตัวดี แต่กลับตกลงช่วงเดือน เม.ย. ซึ่งระยะข้างหน้ายังไว้ใจไม่ได้ เพราะยังมีความไม่แน่นอนจากมาตรการการค้าระหว่างประเทศ ที่ยังมีความผันผวน และหาข้อยุติไม่ได้ โดยเฉพาะมาตรการภาษีของสหรัฐฯ แม้ตอนนี้จะผ่อนปรนลงแล้วส่วนหนึ่งก็ตาม
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ในปี 2568 สศช. ได้ปรับประมาณการใหม่ จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว อยู่ที่ 2.3 - 3.3% (ค่ากลางของการประมาณการอยู่ที่ 2.8%) เหลือเพียง ขยายตัว 1.3 – 2.3% (ค่ากลางการประมาณการอยู่ที่ 1.8%)
ทั้งนี้คาดว่าการอุปโภคบริโภค จะขยายตัว 2.4% และการลงทุนภาคเอกชนลดลง 0.7% ขณะที่มูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์ ขยายตัว 1.8% อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.0 - 1.0% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.5 ของ GDP
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2568 สศช. ประเมินว่าจะมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายลงทุนภาครัฐ สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้น ของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 รวมทั้งการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน ท่ามกลางอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง
การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งปียังมีข้อจำกัดจากภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก และผลกระทบจากการดำเนินมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ รวมทั้งความเสี่ยงจากความผันผวนในภาคเกษตร
เครื่องยนต์สำคัญที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจในปี คือ การใช้จ่ายภาครัฐที่ต้องเร่งเบิกจ่ายให้มากขึ้น การบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยว ทั้งสามเครื่องยนต์นี้ต้องเร่งให้มากขึ้น ส่วนปัจจัยเสี่ยง ตัวสำคัญคือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ซึ่งตอนนี้การเจรจาการค้ายังไม่ได้ข้อุติ และหลายประเทศกำลังเข้าคิวรอ ขณะที่ในประเทศยังมีปัญหาหนี้สินครัวเรือนในระดับสูงด้วย
ที่มา : thansettakij
ข่าวที่เกี่ยวข้อง