นักวิชาการจุฬาฯ เผยประสบการณ์วิจัยด้านการพนันมา 20 ปี พบประเทศพัฒนาแล้วมีสถานบันเทิงครบวงจร ที่มีกาสิโนถูกกฎหมายยังควบคุมยาก เตือนเป็นแหล่งฟอกเงิน-ค้ามนุษย์
รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวบนเวทีเสวนาสัมมนาทางวิชาการภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ประจำปี 2568 ในหัวข้อ "Entertainment Complex ทางหลายแพร่ง" วันที่ 19 พ.ค. 68 ระบุว่า การทำให้กาสิโนถูกกฎหมายไม่ได้แก้ไขปัญหาการพนันผิดกฎหมายอย่างที่หลายคนเข้าใจ
ตนเองทำงานวิจัยเกี่ยวกับเศรษฐกิจนอกกฎหมายและนโยบายสาธารณะมาตั้งแต่ก่อนปี 2540 โดยในช่วงแรกไม่ได้สนใจศึกษาเรื่องการพนัน แต่เน้นศึกษาเรื่องยาเสพติด การค้ามนุษย์ การค้าแรงงาน และสินค้าหนีภาษี จนกระทั่งได้รับทุนวิจัยและถูกแนะนำให้ศึกษาเรื่องการพนันเพราะเป็นเรื่องใหญ่และมีความซับซ้อน
จากการศึกษาประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ที่ทำให้กาสิโนถูกกฎหมายแล้ว ทำให้พบความจริงว่าการควบคุมกำกับดูแลกาสิโนเป็นเรื่องยากมาก โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษาในประเทศออสเตรเลีย ที่แม้จะมีมาตรการห้ามการให้กู้ยืมเงินในกาสิโนเพื่อป้องกันปัญหาหนี้สิน แต่ก็มีองค์กรอาชญากรรมแฝงตัวเข้ามาให้บริการปล่อยกู้ นำไปสู่ปัญหาการทวงหนี้ จนถึงขั้นมีการจ้างมือปืนจากต่างประเทศเข้ามาสังหารเพื่อเป็นตัวอย่าง
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการฟอกเงินผ่านชิปที่ใช้ในกาสิโน โดยชิปเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในการแลกเปลี่ยนซื้อขายยาเสพติด ซึ่งความจริงที่เราเข้าใจว่าเมื่อเอาถูกกฎหมายแล้ว ทุกอย่างมันจะดีขึ้น มันควบคุมลำบาก ฟอกเงินก็มา ชิปก็คือเรื่องฟอกเงินชัดๆ
ข้อเท็จจริงที่พบจากการศึกษาประเทศต่างๆ พบว่าการทำให้กาสิโนถูกกฎหมายไม่ได้ทำให้การพนันผิดกฎหมายหายไป แต่จำเป็นต้องมีการปฏิรูปองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย และจัดการเรื่องคอร์รัปชันไปพร้อมกัน จึงจะสามารถจัดการปัญหาการพนันผิดกฎหมายได้
รศ.ดร.นวลน้อย เผยอีกว่า มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับรายได้จากกาสิโนที่หลายคนคิดว่าจะสร้างรายได้มหาศาลให้กับรัฐบาล แต่ความจริงแล้ว พบว่าส่วนที่สร้างรายได้ไม่ได้มาจากเกมบนโต๊ะเล่น (table game) เช่น บัคคาร่า แบล็คแจ็ค หรือรูเล็ต แต่มาจากเครื่องสล็อต (slot machine)
ซึ่งส่วนใหญ่คนที่เล่นเป็นผู้มีรายได้น้อย แต่เล่นต่อเนื่องเป็นเวลานาน และกำไรจากเครื่องสล็อตสูงถึง 50% เมื่อเทียบกับเกมบนโต๊ะที่มีกำไรแค่ 2-3% หรือสูงสุด 10% ทำให้กาสิโนส่วนใหญ่กลายเป็นธุรกิจที่เก็บเงินจากคนจน
รศ.ดร.นวลน้อย ยังยกตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ เช่น กรณีในมาเก๊าที่แม้จะเป็นกาสิโนถูกกฎหมายแต่ก็ยังมีปัญหาฟอกเงิน หรือกรณีในฟิลิปปินส์ที่มีการบุกจับกาสิโนที่ได้รับใบอนุญาตในกรุงมะนิลา และพบชาวต่างชาติที่ถูกกักขังอยู่เป็นจำนวนมาก คล้ายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เมืองชเวโก๊กโก่
กาสิโนมีธรรมชาติบางอย่าง เนื่องจากเงินมันหมุนเวียน สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือมันดึงดูดอาชญากรและอาชญากรรมเข้ามา ทั้งพวกที่เข้ามาต้องการมาฟอกเงินอย่างเดียวก็มี วิธีการฟอกเงินในกาสิโนมีเยอะมากเลย มีวิธีการเยอะแยะที่จะทำ การกำกับดูแลกาสิโนจึงเป็นเรื่องที่ยาก โดยเฉพาะประเด็นการฟอกเงิน หลายประเทศถ้าเราไม่แข็งแรงอยู่แล้ว เราฟอกหน้าอยู่แล้ว อันนี้ก็จะทำให้ความยากยิ่งเพิ่มมากขึ้น ถ้าหากเราไม่มีความพร้อม
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นผลกระทบจากการพนัน โดยจากการสำรวจในปี 2566 ในกลุ่มบุคคลอายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่ามีคนที่ได้รับผลกระทบจากการพนันประมาณ 7,400,000 คน
รศ.ดร.นวลน้อย ยังเตือนว่า การจัดตั้งธุรกิจกาสิโนขนาดใหญ่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจท้องถิ่น กล่าวคือ พอตั้งพวกนี้ขึ้นมาจะกลายเป็นแหล่งเอนเตอร์เทนเมนต์ที่เงินอุดหนุนเข้ามาที่นี่ ปรากฏว่าธุรกิจท้องถิ่นเจ๊งไปเยอะเลย และยังอธิบายว่าการท่องเที่ยวที่ดีคือการท่องเที่ยวที่สามารถกระจายรายได้ ให้คนทุกส่วนมีส่วนร่วม ไม่ใช่ดึงนักท่องเที่ยวเข้ากาสิโนเท่านั้น
หากประเทศไทยไม่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้และต้องใช้ทุนต่างชาติ สุดท้ายเงินอาจถูกส่งกลับประเทศของนักลงทุน ยิ่งดูดเงินเก่งมากเท่าไหร่ มันก็จะยิ่งไปมากขึ้นเท่านั้น
ที่มา : thansettakij
ข่าวที่เกี่ยวข้อง