ส.ก. ห่วงประชาชนเข้าไม่ถึงสิทธิบัตรทอง หลังโรงพยาบาล-คลินิกทยอยถอนตัว จี้ กทม. เร่งหาทางรองรับ โวยระบบบริการสาธารณสุขคล้าย “มาเฟีย” ปิดกั้นเอกชน-ประชาชนเสียโอกาส
นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง เสนอญัตติในที่ประชุมสภา กทม. 9 ก.ค. 2568 เรียกร้อง กทม. เร่งแก้ปัญหาประชาชนเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุข หลังโรงพยาบาล-คลินิกหลายแห่งทยอยถอนตัวจากระบบบัตรทอง
โดยยกตัวอย่าง รพ.มงกุฎวัฒนะ ที่ยกเลิกสิทธิ์ ทำให้ผู้ป่วยกว่า 30,000 คน ต้องเดินทางไกลไป รพ.มเหศักดิ์ ย่านสีลม เพิ่มภาระค่าใช้จ่าย การเดินทางลำบาก ขัดหลักการ 30 บาทรักษาทุกโรค
และหากแนวโน้มนี้ยังเกิดต่อเนื่อง ประชาชนจะเข้าใจผิดว่าเป็นความผิดของ กทม. ทั้งที่เป็นอำนาจของ สปสช. พร้อมเรียกร้องให้ กทม. เร่งหารือ และวางแนวทางรองรับอย่างเร่งด่วน
นายตกานต์ สุนนทวุฒิ ส.ก.เขตหลักสี่ กล่าวว่า ผู้ใช้สิทธิในเขตของตนต้องจ่ายค่ารถไปโรงพยาบาลสูงถึง 1,200 บาท บางแห่งไม่มีแพทย์เฉพาะทาง ขณะที่ระบบยังขาดการบริหารจัดการจาก กทม. แม้จะเป็นเรื่องของ สปสช.
น.ส.รัตติกาล แก้วเกิดมี ส.ก.เขตสายไหม ตั้งข้อสังเกตถึงความพร้อมของบุคลากรสาธารณสุข หาก กทม. ต้องรับดูแลสิทธิ์บัตรทองมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นกว่า 2 แสนคน เช่น เขตสายไหม
ขณะที่นายวิพุธ ศรีวะอุไร ส.ก.เขตบางรัก ชี้แจงที่พาดพิงโรงพยาบาลที่อยู่ในเขตรับผิดชอบของตัวเองว่า ยืนยันว่าการเดินทางมายังโรงพยาบาลมเหศักดิ์สะดวก เพราะมีทั้งรถไฟฟ้าทั้งบีทีเอส หรือเอ็มอาร์ที สถานที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง แต่สิ่งที่ตนกังวลคือประชาชนที่ต้องเดินทางข้ามจากเขตที่ระยะทางไกลพอสมควรมายังย่านบางรัก สีลม สาทร โดยเฉพาะช่วงบ่ายถึงเย็นไม่ง่ายเลย
ด้าน นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา ระบุว่า เขตของเขายังไม่มีโรงพยาบาลแม้แต่แห่งเดียว แม้เตรียมข้อมูลเสนอสร้างโรงพยาบาลตามหลักเกณฑ์ครบถ้วน แต่ยังไม่มีความคืบหน้าเพราะไม่มีที่ดินรองรับ
ขณะที่ นายประพฤทธ์ หาญกิจจะกุล ส.ก.เขตห้วยขวาง กล่าวว่า เอกชนที่ได้รับงบจาก สปสช. ควรได้มีบทบาทช่วยดูแลประชาชน แต่กลับถูกกีดกันด้วยเงื่อนไขมากมาย “แม้แต่รถทำฟันเคลื่อนที่ยังต้องแบ่งสัมปทาน เหมือนระบบสาธารณสุขกลายเป็นมาเฟีย” เขากล่าว พร้อมตั้งคำถามว่า หากไม่มีคนในแวดวง จะเข้ามาช่วยประชาชนไม่ได้เลยหรือ
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. ชี้แจงถึงศักยภาพของระบบสาธารณสุขตามนโยบายของฝ่ายบริหารและกล่าวถึงแนวทางการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ว่า กทม. อยู่ระหว่างประสานกับ สปสช. เพื่อขอขยายสถานพยาบาลในพื้นที่ที่ประชากรเพิ่มขึ้น และจะเร่งวางแผนให้บริการสาธารณสุขเพียงพอในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง