svasdssvasds

ประวัติ "วิทัย รัตนากร" ว่าที่ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ผู้คุมระบบการเงินคนใหม่ ธปท.

ประวัติ "วิทัย รัตนากร" ว่าที่ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ผู้คุมระบบการเงินคนใหม่ ธปท.

เปิดประวัติ "วิทัย รัตนากร" ว่าที่ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนใหม่ นักปฏิรูปสายการเงิน มือเก๋าออมสิน กับภารกิจพลิกโฉม ธปท.

"วิทัย รัตนากร" คือชื่อที่กำลังถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในวงการเศรษฐกิจไทย ขณะนี้เขาคือแคนดิเดตเต็งหนึ่งที่จะขึ้นดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนที่ 25 แทนที่ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ที่กำลังจะครบวาระในเดือนกันยายน 2568

วิทัยเป็นนักการเงินสายวิเคราะห์ที่ไต่เต้าจากข้าราชการรุ่นใหม่ จนกลายเป็นผู้บริหารระดับสูงในหลายองค์กร ก่อนจะก้าวเข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ที่สร้างชื่ออย่างมากจากการ “ปฏิรูปองค์กร” และ “เข้าถึงประชาชน”

ประวัติ "วิทัย รัตนากร" แคนดิเดตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ 

นายวิทัย รัตนากร ปัจจุบันอายุ 54 ปี เติบโตมากับครอบครัวที่มีเศรษฐกิจและกฎหมายเป็นพื้นฐานความรู้ เป็นลูกชายของ ศิริลักษณ์ รัตนากร อดีตกรรมการผู้จัดการ (เอ็มดี) หญิงคนแรกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กับ โสภณ รัตนากร อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งส่งผลให้เขามีความรู้และทักษะในการบริหารเป็นอย่างดี

การศึกษา

  • ปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ปริญญาโท เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ปริญญาโท กฎหมายธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ปริญญาโท การเงิน Drexel University, U.S.A. 

ก่อนหน้านี้นายวิทัยได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "กรุงเทพธุรกิจ" เกี่ยวกับแนวคิดสำคัญสำหรับบทบาท ธปท. ว่า “ต้องเป็นอิสระแต่ไม่โดดเดี่ยว” 

โดย ธปท.ต้องมีอิสระในการตัดสินใจแต่ต้องทำงานร่วมทุกภาคส่วนเพื่อเป้าหมายระยะยาว และแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจที่นโยบายการเงินอย่างเดียวแก้ไม่ได้ และต้องทำงานร่วมกับนโยบายการคลัง, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) , กระทรวงพาณิชย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกรับอานิสงส์บางส่วนจากการส่งออกที่เติบโตดีช่วง 3-4 เดือนแรก และจำนวนนักท่องเที่ยวเดือนม.ค.- มี.ค.แต่แนวโน้มครึ่งปีหลังน่ากังวลเพราะไม่แน่นอน เช่น ภาษีสหรัฐ สงครามยืดเยื้อ และความไม่แน่นอนการเมืองในประเทศ 

ทั้งนี้ ธปท.รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาคได้ดี เช่น ดูแลอัตราเงินเฟ้อต่ำ และทำให้สถาบันการเงินแข็งแกร่ง แต่บริบทเศรษฐกิจเผชิญปัจจัยภายนอกที่ซับซ้อนขึ้นอาจต้องเพิ่มบทบาทดูแลการเติบโตเศรษฐกิจมากขึ้น

สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันหนักกว่าวิกฤติปี 2540 ที่ส่วนใหญ่กระทบคนรวย และสถาบันการเงิน แต่วิกฤติปัจจุบันกระทบคนส่วนใหญ่ ในขณะที่ไทยมีปัญหาขีดความสามารถการแข่งขันระยะยาวทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว หนี้ครัวเรือนสูง และปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งการแก้ปัญหาต้องคิดใหม่ทำใหม่ และมีความร่วมมือทุกภาคส่วน

related