SHORT CUT
จะฝ่าไปได้ไหม? ความท้าทายที่รัฐไทยต้องเผชิญ สู่การเปิด “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” เดิมพันครั้งใหญ่ที่อาจเปลี่ยนอนาคตทั้งเศรษฐกิจและสังคม
เมื่อรัฐไทยผุดแนวคิด “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” เปิดพื้นที่คาสิโนในสนามที่มีกติกาและโปร่งใส หวังสร้างรายได้เข้าประเทศ ขณะที่การพนันผิดกฎหมายและออนไลน์ยังคงแพร่กระจายอย่างไร้การควบคุม
ปัจจัยสำคัญคือ 'การก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัล' ได้นำพาการพนันใต้ดิน ไปสู่ "เครือข่ายการพนันออนไลน์" ที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้ทุกที่ ทุกเวลา แพร่หลายข้ามพรมแดนได้อย่างเสรี เพียงใช้อุปกรณ์อย่างโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์เท่านั้น
ท่ามกลางกระแสตอบรับจากผู้คนจำนวนมากที่ยังคงมีเสียงต่อต้านและตั้งคำถามถึงศีลธรรมและความโปร่งใส นี่อาจเป็นเดิมพันครั้งใหญ่ของรัฐไทย ที่อาจเปลี่ยนอนาคตทั้งเศรษฐกิจและสังคม
ความท้าทายจากการบังคับใช้กฎหมาย
ประเทศไทยยังใช้ พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ. 2478 ซึ่งไม่ครอบคลุม "การพนันออนไลน์" และมีการบังคับใช้ไม่เข้มงวด ขณะที่รัฐพยายามสั่งปิดเว็บไซต์พนันหลายเว็บไซต์ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบในระดับสากล กฎหมายการพนันออนไลน์มีทั้งที่สั่งห้ามเด็ดขาด (เช่น ซาอุดิอาระเบีย) และ อนุญาตภายใต้การควบคุม (เช่น อังกฤษ อิตาลี สวีเดน) บางประเทศออกใบอนุญาตให้เว็บไซต์พนันหลายราย บางประเทศผูกขาด บางแห่งมีรัฐเป็นผู้ดำเนินงานเอง เพื่อสร้างมาตรฐาน ป้องกันปัญหา และเก็บภาษีได้อย่างเป็นระบบ
ความท้าทายจากการขยายวงอย่างรวดเร็วของการพนันในไทย
ขณะที่การสำรวจของศูนย์ศึกษาฯ ประจำปี 2564 พบว่า
• ร้อยละ 59.6 ของคนไทยอายุ 15+ เล่นการพนันอย่างน้อยปีละครั้ง เพิ่มเป็น 32.3 ล้านคน เมื่อเทียบกับปี 2562
• เยาวชน 15–18 ปี มีผู้ที่เข้าข่ายนักพนันถึง 29.5% และ 19–25 ปี มีนักพนันถึง 54.6%
• ล็อตเตอรี่ยังคงได้รับความนิยมสูงสุด แต่การพนันออนไลน์เติบโต 135.8% ในช่วงเดียวกัน โดยมีผู้เล่นออนไลน์ทั้งปี 2564 จำนวนราว 1.95 ล้านคน
การพนันยังสร้างปัญหาสุขภาพจิต การมีปากเสียงในครอบครัว หนี้สิน และรายได้ลดลง ผู้ที่ประเมินตนว่าเป็นนักพนันมีปัญหา (PGSI) อยู่ถึง 3.5 ล้านคน โดยเฉพาะระดับเด็ก เยาวชน และผู้สูงวัย บ่งชี้ชัดว่า “การพนันมากขึ้น = ปัญหามากขึ้น” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม แนวคิดการตั้ง “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” ของรัฐบาลไทย ไม่ใช่เพียงมุ่งเปิดคาสิโนเพื่อแก้ปัญหาการพนันใต้ดิน แต่ตั้งใจใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจท่องเที่ยวให้แข่งขันกับศูนย์กลางบันเทิงระดับโลก เช่น สิงคโปร์ มาเก๊า หรือดูไบ
โดยวางกรอบให้ผู้ประกอบการต้องมีทุนไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท และได้รับสิทธิประกอบกิจการยาวนานถึง 30 ปี โดยคาสิโนจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการขนาดใหญ่ที่รวมโรงแรม ห้างฯ ศูนย์ประชุม สนามกีฬา และสวนสนุกไว้ในพื้นที่เดียวกัน
จากผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนปี 2568 พบว่ากว่า 80% ของผู้ตอบแบบสอบถามจากทั่วประเทศสนับสนุนแนวคิดนี้ หากมีมาตรการควบคุมและป้องกันผลกระทบทางสังคมอย่างเข้มงวด
ความท้าทายจากความกังวลของสังคม
แม้จะมีแรงหนุนจากภาคเศรษฐกิจ แต่ความท้าทายที่แท้จริงของโครงการนี้คือ “ความเชื่อมั่นของสาธารณชน” โดยเฉพาะต่อคำถามใหญ่ 3 ข้อ คือ
1.จะควบคุมปัญหาการติดการพนันได้จริงหรือ?
แม้ร่างกฎหมายจะมีมาตรการกำหนดคุณสมบัติของคนไทยผู้เข้าเล่น เช่น ต้องมีรายได้ชัดเจน มีประวัติภาษีย้อนหลัง หรือเสียค่าเข้าแพง แต่ก็ยังมีข้อกังขาว่าจะสามารถคัดกรองผู้มีความเสี่ยงได้จริงเพียงใด หรือเพียงแค่สร้าง “กำแพงเบาๆ” ที่สุดท้ายก็ถูกข้ามโดยกลไกตลาดมืด
2. ผลกระทบต่อชุมชนรอบข้างจะได้รับการเยียวยาอย่างไร?
ประสบการณ์จากประเทศอื่นพบว่า การตั้งคาสิโนในบางพื้นที่อาจนำมาซึ่งปัญหาอาชญากรรม การฟอกเงิน และการเสื่อมถอยของคุณภาพชีวิตในชุมชน
3. รัฐบาลจะสามารถกำกับดูแลโครงการระดับหมื่นล้านนี้อย่างโปร่งใสหรือไม่?
โครงการขนาดใหญ่มักเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทับซ้อน การวิ่งเต้น และอิทธิพลทางการเมือง ซึ่งประชาชนกังวลว่าหากไร้กลไกตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ โครงการนี้อาจกลายเป็นประตูเปิดสู่การคอร์รัปชันครั้งใหญ่
ความท้าทายจากผลกระทบทางการเมือง
แม้รัฐบาลจะพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรเข้าสู่การพิจารณาของสภาในช่วงต้นปี 2568 แต่สถานการณ์ก็พลิกผันอย่างไม่คาดคิด
ในเดือนกรกฎาคม 2568 คณะรัฐมนตรีตัดสินใจ “ถอนร่างกฎหมายออกจากการพิจารณา” ท่ามกลางกระแสการเมืองที่ร้อนแรง โดยมีเหตุการณ์ฉาวเกี่ยวกับการสื่อสารของผู้นำรัฐบาล และกระแสต่อต้านในสังคมที่เริ่มทวีความรุนแรง รวมถึงเสียงเรียกร้องให้จัดทำ “ประชามติ” ก่อนเปิดไฟเขียว
แม้รัฐบาลให้เหตุผลว่าเป็นเพียง “การพักการพิจารณาชั่วคราว” เพื่อรอจังหวะที่เหมาะสม แต่ก็สะท้อนความจริงว่า โครงการนี้ยังต้องการ “ความยอมรับทางสังคม” มากกว่าความพร้อมเชิงเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว
โอกาสใหม่ หรือเสี่ยงซ้ำรอยเดิม?
อย่างไรก็ตาม การถอนร่างกฎหมายไม่ได้หมายความว่าความฝันของเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ได้สิ้นสุดลง เพราะทั้งภาคธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติต่างยังจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
สิ่งที่รัฐบาลไทยหรือผู้มีอำนาจนโยบายในอนาคตควรพิจารณา คือการ “ออกแบบใหม่” ให้โครงการนี้สามารถเดินหน้าได้อย่างยั่งยืน
ยกตัวอย่างในหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ที่พิสูจน์แล้วว่าคาสิโนถูกกฎหมายทำได้ หากมีระบบควบคุมที่เข้มงวดและโปร่งใส ไม่มองแค่ตัวเลขเศรษฐกิจ แต่สร้างสมดุลระหว่างรายได้และความมั่นคงทางสังคม
นั่นหมายความว่าแนวทางผลักดัน “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” ในไทยอาจเดินหน้าต่อได้ หากรัฐออกแบบระบบให้รอบคอบ ท่ามกลางความเห็นชอบจากสังคม เช่น จัดประชามติ ทดลองโครงการในพื้นที่จำกัด (Sandbox) สร้างกลไกตรวจสอบอิสระ และวางมาตรการเยียวยาสังคมอย่างจริงจัง เพื่อจะก้าวสู่อนาคตใหม่อย่างยั่งยืน