"แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง" ของ เอริช มาเรีย เรอมาร์กก สะท้อนความโหดร้ายสงครามโลกครั้งที่ 1 และผู้คนซึ่งกลายเป็นเครื่องมือในภารกิจของชาติ
“เอริช มาเรีย เรอมาร์ก” (Erich Maria Remarque) นักเขียนชาวเยอรมัน ผู้เขียนนวนิยายต่อต้านสงครามชื่อก้องโลกอย่าง All Quiet on the Western Front หรือในชื่อไทย “แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง” นิยายที่อิงมาจากประสบการณ์ที่เจ้าตัวเคยร่วมรบใน World War 1
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1916 เรอมาร์ก ในวัย 18 ปี และชายหนุ่มในรุ่นราวคราวเดียวกัน ถูกเกณฑ์เข้าเป็นทหารของกองทัพจักรวรรดิเยอรมัน และได้รับการฝึกซ้อม ฤดูร้อนปีถัดมา เรอมาร์กถูกเกณฑ์ไปร่วมรบที่แนวรบฝั่งตะวันตกในประเทศเบลเยียม ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ
สงครามโลกครั้งที่ 1 คือมหาสงคราม (Great War) ที่โลกไม่เคยพบ ช่วงแรก สงครามครั้งนี้เหมือนจะเป็นเพียงความขัดแย้งเล็ก ๆ แต่เวลาต่อมาก็ได้ยกระดับเป็นศึกระหว่างจักรวรรดิต่าง ๆ ในยุโรป โดยมี 2 ฝ่ายหลัก ได้แก่ 1. ฝ่ายสัมพันธมิตร ประกอบไปด้วย เซอร์เบีย รัสเซีย ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี สหรัฐฯ 2. ฝ่ายมหาอำนาจกลาง ประกอบไปด้วย เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี บัลแกเรีย และจักรวรรดิออตโตมัน
ว่ากันว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 มีผู้ชายถูกเกณฑ์ไปรบมากกว่า 65 ล้านคน ภายหลัง มีการเปิดเผยว่าส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda ) จากผู้มีอำนาจ (ทั้ง 2 ฝ่าย) เป้าประสงค์ของโฆษณาชวนเชื่อมีหลายประการ แน่นอน กระตุ้นให้ชายหนุ่มสมัครเข้ากองทัพด้วยความสมัครใจ และเพื่อรักษาขวัญกำลังใจและมุ่งมั่นในการสู้เพื่อชาติ
สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นการต่อสู้ในสนามเพลาะ (Trench Warfare) มีลักษณะเป็นหลุมยาว ๆ ที่ทหารขุดไว้อยู่อาศัย และนำถุงดินถุงทรายมาวางป้องกันกระสุนไว้ สภาพในหลุมสนามเพลาะดินโคลนเปรอะเปื้อน สภาพชื้นแฉะ ทำให้หลายคนเป็นโรคเท้าเปื่อย มักมีหนูคอยขโมยเสบียงอาหาร กัดเสื้อผ้า และเป็นพาหนะนำโรค
หลังจากยือเยื้อมานาน 4 ปี ในที่สุดเยอรมัน ในฐานะฝ่ายมหาอำนาจกลาง ได้ติดต่อฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อขอเจรจาสงบศึก จากนั้น ทั้งสองฝ่ายจึงได้ลงนามในสัญญาสงบศึกบนรถไฟ ณ เมืองคองเปียน ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 1918 เป็นอันสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 อย่างเป็นทางการ
But at what cost?
ในแง่ความสูญเสีย สงครามโลกครั้งที่ 1 พรากชีวิตทหารในสนามรบเฉลี่ยวันละ 6,000 นาย รวมทั้งสิ้น 9.7 ล้านนาย และมีพลเรือนเสียชีวิตราว 13 ล้านชีวิต เคยมีการคำนวณว่าทหารที่เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 โอกาสที่จะมีชีวิตรอดจนสงครามสิ้นสุดคือ 0.74%
หนึ่งในไม่กี่เปอร์เซนต์ของทหารผู้รอดชีวิต มีรายชื่อของ “เอริช มาเรีย เรอมาร์ก” รวมอยู่ด้วย ในปี 1922 เรอมาร์คย้ายไปทำงานเป็นนักเขียนโฆษณาและเป็นบรรณาธิการให้กับ Echo Continental วารสารของบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์
ปี 1925 เรอมาร์ค ย้ายไปอยู่เบอร์ลิน แต่งงานครั้งแรกกับอิลเซ ยุตตา ซัมโบนา (Ilse Jutta Zambona) ช่วงเวลาแถว ๆ นี้เอง ที่เรอมาร์คใช้เวลาหลังเลิกงานเขียนนิยายต่อต้านสงคราม Im Westen nichts Neues หรือ All Quiet on the Western Front เพื่อบันทึกเรื่องเลวร้ายที่เขาเคยประสบในอดีตระหว่างเป็นทหาร
ปี 1929 นิยาย Im Westen nichts Neues ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรก และถูกแปลเป็นภาษาไทยในปีเดียวกันโดย หม่อมเจ้าขจรจบกิตติคุณ กิติยากร ใช้ชื่อว่า ‘แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง’ นิยายเล่มนี้ ถูกแปลไปถึง 26 ภาษา มียอดขายทั่วโลกกว่า 20 ล้านเล่ม (ณ ปี 2007)
ต่อจากนี้จะเป็นการสาธยายถึงเนื้อหาจากนิยาย Im Westen nichts Neues ที่ ‘เรอมาร์ก' กลั่นกรองมาจากความหวาดกลัว ความเจ็บปวด ความสิ้นหวัง ที่กัดกินจิตใจ และแม้จะผ่านกาลมาร่วม 100 ปี แต่ดูเหมือนว่าเนื้อหาจะยังร่วมสมัยอยู่เสมอ
“ข้าพเจ้ายังหนุ่มแน่น อายุยี่สิบปี แต่กลับไม่รู้จักชีวิตอื่นใด นอกจากความสิ้นหวัง ความตาย ความกลัว และความตื้นเขินอันไร้สาระ ข้าพเจ้าเห็นผู้คนต่างสู้กัน ฆ่าฟันกันโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว อย่างโง่เขลา อย่างเชื่อฟัง และด้วยใจบริสุทธิ” ส่วนหนึ่งจากนิยาย Im Westen nichts Neues
นิยาย All Quiet on the Western Front เล่าเรื่องผ่านมุมมองของตัวเอกชื่อ พอล บอยเมอร์ กล่าวอย่างย่นย่อที่สุด มันว่าด้วยเรื่องความรู้สึกนึกคิด การตั้งคำถามของชายหนุ่มผู้ไร้เดียงสา ที่สมัครเข้ามาเป็นทหารด้วยการชักจูง มีความฮึกเหิม และเชื่ออย่างสนิทใจว่าการได้ร่วมรบคือวีรกรรมที่น่าสดุดี
แต่สงครามได้สร้างความสูญเสีย ทหารล้มตาย วนซ้ำอยู่แบบนี้ทุกวัน หลายคนจิตใจพังย่อยยับ จากที่คิดว่าจะมารบแค่ไม่กี่สัปดาห์ แล้วจะกลับไปใช้ชีวิตอันสงบสุข กลับถูกสั่งให้ยืนหยัดรบจนท้ายที่สุด ทุกฝ่ายต่างสูญเสีย มีคนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก
“นี่เป็นครั้งแรก ที่ข้าเห็นว่าเจ้าก็เป็นมนุษย์เหมือนกันกับข้า ข้าเคยนึกถึงระเบิดในมือของเจ้า ปลายดาบปืนของเข้า ปืนไรเฟิลของเจ้า แต่ตอนนี้ ข้าเห็นใบหน้าภรรยาของเข้าบนใบหน้าของเจ้า ให้อภัยข้าเถิดสหาย เรามักเห็นความจริงเมื่อสายเกินไปเสมอ”
“ทำไมพวกเขาไม่เคยบอกเลยว่าเราต่างเป็นมนุษย์เหมือนกัน เรากลัวตายเหมือนกัน เจ็บปวดทรมานเหมือนกัน ให้อภัยข้าเถิดสหาย เราจะเป็นศัตรูกันได้อย่างไร”
อีกหนึ่งประเด็นที่คิดว่าเราควรทำความเข้าใจกันก็คือ ‘ผลพวงที่สงครามทิ้งเอาไว้’ ทั้งนิยายและเวอร์ชันหนังของ All Quiet on the Western Front ฉายให้เราเห็นว่าสงครามไม่ได้พรากแค่ชีวิตผู้บริสุทธ์ บ้านเมือง แต่ในสภาวะสงคราม ผู้คนจำนวนมากมีชีวิตขัดสน และสงครามได้เปลี่ยนให้มนุษย์ห้ำหั่นกันโดยไม่ระลึกถึงความผิดชอบชั่วดี
เราเข่นฆ่ากันไป ด้วยการชักจูงจากผู้มีอำนาจ ด้วยอารมณ์โกรธ ด้วยความเคียดแค้น มองมนุษย์ด้วยกันเป็นศัตรู หรือบางคนก็อาจตั้งเล็งกระสุนใส่อีกฝ่าย เพียงเพื่อจะให้เหตุการณ์นี้มันจบ ๆ ไป เป็นอันเสร็จสิ้นภารกิจเพื่อชาติ
Yeah…But at what cost ?
ที่มา: Hoover Institution,
ข่าวที่เกี่ยวข้อง