svasdssvasds

ส่องวิวัฒนาการ : ต้องมี ยาบ้า กี่เม็ดถึงเป็น ผู้เสพ และรอดคุก แค่เข้าบำบัด

ส่องวิวัฒนาการ  : ต้องมี ยาบ้า กี่เม็ดถึงเป็น ผู้เสพ และรอดคุก แค่เข้าบำบัด

ชวนส่องวิวัฒนาการ เรื่องของ ยาบ้า ซึ่งกำลังเป็นเรื่องร้อนของสังคมอีกครั้ง เพราะในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2566 สธ.ชง"ยาบ้า10 เม็ด" เท่ากับผู้เสพต้องเข้าบำบัด คาดเคาะ ธ.ค. 2566 นี้ เรื่องนี้จะมีช่องโหว่หรือไม่ ?

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทยฯ เป็นผู้จุดประเด็น เรื่องยาเสพติด มีแนวคิดปรับเกณฑ์การครอบครองยาบ้า เพื่อนำผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา โดยผู้ที่ครอบครอง 10 เม็ดเท่ากับผู้เสพ เข้ากระบวนการบำบัด อยู่ระหว่างหารือกับ ป.ป.ส. และเตรียมประกาศใช้ ธ.ค. 2566 นี้  โดยหากมีการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ คาดว่าผู้เสพยาบ้ามีประมาณ 1.5 ล้านคน เป็นผู้ใช้ ผู้เสพ และผู้ติดยา 

ในอดีตนั้น ช่วง ปี 2539 สมัยที่ เสนาะ เทียนทอง รมว.สาธารณสุข  ยุคนายกฯ บรรหาร ศิลปอาชา เปลี่ยนชื่อ ยาม้า เป็น ยาบ้า มาก่อน ซึ่ง ณ เวลานั้น ก็สร้าง "กระแส" ความตระหนักของโทษแห่งพิษภัยของยาบ้า 

โดยผู้ใช้คือผู้เสพไม่มีอาการ ใช้บางครั้งบางคราว ผู้เสพ คือ มีอาการต้องการใช้ยามากขึ้น และผู้ติด คือ คนที่มีอาการติดยาชัดเจน ซึ่งจะมีการจัดตั้งมินิธัญญารักษ์ดูแลผู้ป่วยยาเสพติดระยะยาวให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

ปี 2539 สมัยที่ เสนาะ เทียนทอง รมว.สาธารณสุข  ยุคนายกฯ บรรหาร ศิลปอาชา เปลี่ยนชื่อ ยาม้า เป็น ยาบ้า

การปรับเปลี่ยนดันกฎหมายลูกยาเสพติด จุดประสงค์ของ รมว. สาธารณสุข คนปัจจุบัน ก็คือ ต้องการให้ผู้เสพได้เข้าสู่กระบวนการบำบัด แต่อาจเป็นช่องว่างให้นักค้ายา หรือข้าราชการนอกรีตแสวงหาผลประโยชน์ ก็เป็นได้  

เพราะเดิมที กฎหมายยาเสพติดมีการกำหนดว่าถ้าครอบครองยาบ้าเกิน 15 เม็ด ถือเป็นผู้ค้า ซึ่งถ้ามีครอบครองต่ำกว่า 15 เม็ด เป็นไปเพื่อเสพ แต่การดันกฎหมายลูกในการครอบครองต่ำกว่า 10 เม็ด แสดงว่าโทษสูงขึ้น แต่ในกระบวนการแก้ปัญหายาเสพติดยังอยู่ในวังวนเดิม

ที่ผ่านมา เคยมีการแก้กฎหมายครอบครองยาบ้ามาแล้ว ในการกำหนดว่าถ้าครอบครองเกิน 15 เม็ด ให้สันนิษฐานว่ามีไว้จำหน่าย จึงยังไม่เห็นประโยชน์ในการกำหนดใหม่ ขณะที่กระบวนการในการช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติดหลังจากถูกจับ กระบวนการบำบัดมาหลังเข้าสู่ราชทัณฑ์ แต่ทางที่ดีสาธารณสุขควรเข้ามาให้ความรู้ตั้งแต่ก่อนคนเหล่านั้นจะกลายเป็นนักเสพ

ดังนั้น เมื่อมาลอง ย้อนไทม์ไลน์ ยาบ้า มาดู วิวัฒนาการ เกณฑ์ครอบครองยาเสพติด (ยาบ้า) เพื่อเข้ารับการบำบัดรักษา  ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ได้มีการปรับเปลี่ยนการครอบครองยาเสพติด เพื่อแบ่งประเภท ผู้เสพ ผู้ติด และผู้ค้า ให้ได้รับการบำบัดรักษา

โดยในสมัย ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  โดยในช่วง 2545 กำหนด ครอบครองยาบ้าไม่เกิน 15 เม็ด ให้จัดเป็นผู้เสพไม่ใช่ผู้ค้า ให้ส่งตัวไปบำบัดรักษาตามนิยามผู้เสพคือผู้ป่วย ไม่ต้องส่งไปเรือนจำในฐานะผู้ค้ายาเสพติด และที่จริงแล้ว ในยุคนั้น  ในยุค “ทักษิณ” ดีเดย์จริงๆ สงครามกับยาเสพติดจริงๆ  เริ่มต้นในวันที่ 1 ก.พ. 2546 และสิ้นสุดลงในเดือนเมษายน 2546 เป็นเวลาเพียง 3 เดือน  โดย ผลการดำเนินการ  จับกุมผู้ค้ายาเสพติดได้ 43,012 ราย จากจำนวน 46,522 ราย , วิสามัญฆาตกรรมคนร้าย 37 ศพ  เสียชีวิตด้วยสาเหตุอื่น หรือฆ่าตัดตอน จำนวน 1,612 ราย 

ส่วน รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศนโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2554 ภายใต้แนวคิดหลัก “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” เพื่อให้ผู้เสพติดได้รับการบำบัดอย่างถูกต้อง จนทำให้คดียาเสพติดลดลงอย่างต่อเนื่อง

ต่อมา ในช่วงยุครัฐบาลประยุทธ์ , นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เคยมีไอเดีย จะเสนอให้มี การแก้กฎหมาย ครอบครองยาบ้า 1 เม็ด เท่ากับผู้เสพ และ 2 เม็ดขึ้นไป เป็นผู้จำหน่าย เพื่อไม่ให้ต้องไปรับโทษในเรือนจำ แต่เกิดการยุบสภาเสียก่อน เรื่องนี้ จึงยังไม่เกิดขึ้น 

ขณะที่ วันที่ 30 ต.ค.2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ได้ประกาศ ว่า กำลังอยู่ระหว่างการหารือ แก้ไขการครอบครองยาเสพติด (ยาบ้า)ร่วมกับ ป.ป.ส. หากครอบครอง 10 เม็ดขึ้นไป ถือเป็นผู้ค้า แต่หากน้อยกว่า 10 เม็ดให้เป็นผู้เสพเข้ารับการบำบัดรักษา

แต่อย่างไรก็ตาม ล่าสุด พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ป.ป.ส.  เห็นตรงกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่จะใช้เกณฑ์ครอบครองยาบ้า 5 เม็ด จัดอยู่ในสถานะผู้เสพ ไม่ใช่ 10 เม็ด ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เพื่อป้องกันปมผู้ค้ารายย่อย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related