แมว ล่าและกินสัตว์อื่น ๆ จนสูญพันธุ์ไปแล้ว 2,000 สปีชีส์ นักวิจัย รวบรวมหลักฐานจากหนังสือหลายร้อยเล่ม ที่ถูกตีพิมพ์ในช่วงระยะเวลา 100 ปี Spring News พาย้อนดูความเป็นมา การแพร่กระจายของแมว สัตว์ที่ถูกล่า พร้อมทั้งวิธีแก้ไขปัญหาสัตว์ถูกแมวกิน
แม้ภายนอกจะดูนุ่มนิ่ม น่ารักน่าชัง เห็นแล้วต้องเข้าไปกอดรัดฟัดเหวี่ยงให้หายคิดถึง แต่แมวเราต้องไม่ลืมว่า “แมวคือสัตว์นักล่า” ที่แอบอิงอยู่ในร่างอันบอบบางนี้
แมวเป็นสัตว์ที่หมดเวลาไปกับการนอนมากที่สุดราว ๆ 16 – 20 ชม. ต่อวัน และปัจจุบันก็กลายพันธุ์เป็นสัตว์ประจำบ้าน พร้อมมี “ทาสแมว” อยู่ใต้อาณัติมากมาย
Spring News ชวนย้อนประวัติศาสตร์แมว มีความเป็นมาอย่างไร แมวแพร่กระจายไปยังทวีปอื่น ๆ ได้อย่างไร การมีอยู่ของแมวอันตรายต่อสัตว์อื่น ๆ มากน้อยแค่ไหน และประเทศใดที่มีมาตรการรับมือกับแมวออกล่าสัตว์จนสูญพันธุ์แล้วบ้าง ติดตามได้ที่บทความนี้
แมวมาจากไหน?
ประวัติความเป็นมาของสัตว์ชนิดนี้ ถูกบันทึกไว้อย่างแตกต่างและหลากหลาย ประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดที่ถูกบันทึกเอาไว้ ที่บ่งบอกว่าแมวเริ่มมีความเชื่อมโยงกับชีวิตมนุษย์ ต้องย้อนกลับไป 9,500 ปีก่อน ในสมัยอียิปต์โบราณ
ในการศึกษาสมัยใหม่ มีการขุดพบ “มัมมี่แมว” ซึ่งสาเหตุที่ศพแมวถูกนำไปพันเป็นมัมมี่ก็เกิดขึ้นจากรากความเชื่อที่ว่า แมวคือสัตว์วิเศษ ที่สามารถให้โชคแก่ผู้เลี้ยงดูมันได้ และเพื่อเสริมสร้างบารมีให้กับตัวเอง ครอบครัวที่ร่ำรวยจึงให้แมวสวมใส่เพชร พลอย จินดา พร้อมทั้งเลี้ยงดูด้วยอาหารอย่างดี และเมื่อตายก็ถูกนำไปพันเป็นมัมมี่แมว
แมวแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ได้อย่างไร?
ข้อมูลหลายแห่งเขียนตรงกันว่า วิธีที่น่าจะเป็นไปได้ที่สุดคือการพาแมวขึ้นไปกับเรือสินค้า เพื่อใช้เป็น ‘ตำรวจเฝ้าเสบียง’ เพื่อป้องกันสัตว์เล็กมาแอบกินอาหารของคนบนเรือ น่าสนใจอย่างมากว่า คนสมัยโบราณค้นพบฟังก์ชั่นนี้ของแมวได้อย่างไร
หลังจากนั้น เมื่อแมวถูกลำเลียงไปกับเรือ ก็เกิดการแพร่พันธุ์ และปรับตัวไปตามลักษณะภูมิประเทศของพื้นที่ต่าง ๆ จนปัจจุบัน โลกนี้มีแมวมากถึง 41 สายพันธุ์ อีกหนึ่งข้อมูลที่ถูกบันทึกมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้วก็คือ “แมวคือสัตว์นักล่า” หากใช้แว่นของมนุษย์ยุคโบราณก็จะเห็น ว่าพวกเขามองแมวเป็นสัตว์นักล่ามานานแล้ว
คำว่า “นักล่า” หมายความว่าต้องมี “ผู้ถูกล่า” หรือ “เหยื่อ” แน่นอนว่ามีสัตว์จำนวนไม่น้อยที่ถูกแมวจับกินเป็นอาหาร จนสูญพันธุ์ไปถึง 2,000 สปีชีส์ Spring News เรียบเรียงข้อมูลจากงานวิจัยของ Christopher Lepczyk มาให้ได้อ่านกัน
แมวถูกนักวิจัยแฉ
รายงานที่ติพิมพ์ใน Nature Communication เป็นการศึกษาของ Christopher Lepczyk จากมหาวิทยาลัย Auburn ในสหรัฐ ที่ย้อนดูประวัติศาสตร์ “เหยื่อ” ของแมวไล่ตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน โดยศึกษาจากหลักฐานต่าง ๆ อาทิ หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ตำรา และรายงานมากกว่า 530 ฉบับ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในช่วงระยะเวลา 100 ปี
งานวิจัยชิ้นนี้ รวบรวมสัตว์ 5 ชนิด ซึ่งกลายเป็นอาหารอันโอชะของแมว จนสูญพันธุ์ไปจากโลกในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ได้แก่
อันที่จริงแล้ว การถกเถียงเรื่อง “กำจัดแมว” เกิดอยู่ตลอด ซึ่งก็มีทั้งฝั่งที่ให้กำจัดให้หมด เพราะสัตว์พื้นถิ่นอื่น ๆ รวมถึงมนุษย์ได้รับผลกระทบ แต่ฝ่ายนักอนุรักษ์ก็ให้เหตุผลว่า แมวเป็นสัตว์นักล่าก็จริง แต่ถ้าเรามีวิธีหรือมาตรการควบคุมอย่างเหมาะสม แมวก็มิใช่สัตว์ที่อันตรายแบบที่เข้าใจ
ปัญหา “แมวเหมียว” ในแดนจิงโจ้
ประเทศออสเตรเลียขึ้นชื่อลือชาอย่างมากในเรื่องกฎระเบียบด้านความปลอดภัยของสัตว์ในประเทศ เนื่องมีภูมิประเทศเป็นเกาะ เมื่อเกิดเหตุการณ์เลวร้ายอาทิ โรคระบาด เป็นเรื่องยากที่จะป้องกัน ดังนั้น รัฐบาลออสเตรเลีย จึงได้ออกมาตรการที่เรียกว่า “Pet Quarantine”
เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2022 ที่ผ่านมา รัฐบาลออสเตรเลียรายงานว่า ได้สร้างศูนย์กักกันพืช-สัตว์นำเข้าแห่งใหม่เสร็จสิ้นแล้ว เหตุผลที่สร้างสถานที่แห่งนี้ขึ้นก็เพื่อให้มั่นใจว่า สัตว์ที่กำลังจะเข้าไปอาศัยอยู่ในประเทศ ต้องสะอาด ปลอดโรคอย่างถึงที่สุด
นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังมีมาตรการเรื่องการปกป้องดูแลสัตว์ที่น่าสนใจอาทิ มาตรการควบคุมสัตว์รบกวนและปรสิต ซึ่งผูกโยงอยู่กับที่กล่าวไปข้างต้น ว่ามีการสร้างสถานกักกันสำหรับสัตว์นำเข้า เพื่อคัดกรองคุณภาพ และความปลอดภัย
แล้ว “แมว” จัดอยู่ในสถานะใดในประเทศออสเตรเลีย?
หากเรียกว่าเป็น “ปัญหาระดับชาติ” คงไม่ผิดนัก ออสเตรเลียมีประชากรแมวราว 2.8 ล้านตัว โดยอาศัยอยู่ครอบคลุม 99.9% ของประเทศ ข้อมูลจาก Smithsonian ระบุว่า ในบางปีที่สภาพอากาศ อาหาร และสิ่งแวดล้อมเป็นใจ พบว่าประชากรแมวพุ่งสูงถึง 6 ล้านตัว
ด้วยจำนวนที่นับไม่ถ้วนเช่นนี้ ทำให้สัตว์พื้นถิ่นปรับตัวจาก “ผู้ล่าหน้านิ่ง” อย่างแมวไม่ได้ จนทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 34 ชนิดต้องสูญพันธุ์ไป และมีอีกกว่า 74 ชนิดที่กำลังถูกคุกคาม ทั้งในด้านชีวิตและถิ่นอาศัย
หากนับข้อมูลรายปี พบว่า แมวหนึ่งตัวจะฆ่าและกินสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประมาณ390 ตัว สัตว์เลื้อยคลาน 225 ตัว และนกอีก 130 ตัว นักล่าก็คือนักล่ายังวันยังค่ำ...
หลายท่านอาจพอได้ยินมาบ้างว่า แมวสามารถรับรู้ถึงความรู้สึกของมนุษย์ได้ ยามเราเศร้า คอตกกลับมาจากที่ทำงาน เจ้าแมวเหมียวเหล่านี้ก็เดินมาคลอเคลียอยู่เป็นเพื่อน พลางสูบฉีดให้หัวใจ “ทาสแมว” คืนสีสดใสอีกครั้ง
แต่อย่างไรก็ดี ตัวเลขและสถิติไม่เคยโกหกใคร จากข้อมูลที่ Christopher Lepczykและทีมวิจัยของเขาได้รวบรวมข้อมูลมา แสดงให้เราเห็นว่า โลกนี้อาจมีสัตว์เพิ่มขึ้นอีก 2,000 สปีชีส์
หากแมวได้รับการควบคุมดูแล แต่ต้องยอมรับกันตามตรงว่า สถานะของแมวในความเข้าใจของเรา มีความแตกต่างจากสัตว์อื่น ๆ เล็กน้อย แต่ก็ใช่ว่าในบางประเทศจะไม่มีมาตรการควบคุมดูแล “แมวจร” อยู่เลย
ส่องมาตรการควบคุมแมว
วิธีที่คนส่วนใหญ่ให้การยอมรับคือ จับ-ทำหมัน-ปล่อย ในแง่หนึ่งมันสามารถควบคุมประชากรแมวได้ แต่แมวที่ถูกปล่อยไปก็ออกไปล่าสัตว์อื่น ๆ กินเป็นอาหารอยู่ดี ฉะนั้น ในแง่ของการควบคุมไม่ให้แมวไปกินสัตว์อื่น “วิธีนี้ไม่ได้ผล”
อีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจคือ รัฐบาลออสเตรเลียสั่งล้อมรั้ว ขนาด 90 ตารางกิโลเมตร ที่เขตอนุรักษ์สัตว์ป่านิวฮาเวน ที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ รั้งดังกล่าวถูกสร้างขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้แมวไม่เข้าไปล่าและกินสัตว์ในเขตอนุรักษ์ โดยจะติดตั้งเป็นระยะเวลา 1 ปี
เมืองวอลดอร์ฟ (Waldolf) ประเทศเยอรมัน ออกมาตรการที่เรียกว่า “ล็อคดาวน์” แต่มิได้ใช้กับคนแบบเมืองไทย แต่เป็นการล็อคดาวน์แมว ในความหมายคือ เจ้าของแมวต้องไม่ปล่อยแมวให้ออกมาเพ่นพ่านในช่วงฤดูผสมพันธุ์ของนกจาบฝนหงอน (Crested Lark) ซึ่งชอบมาวางไข่อยู่ตามพื้น
‘นกจาบฝนหงอน’ เป็นนกที่ใกล้สูญพันธุ์ ฉะนั้น เจ้าของแมวอาจมีความผิดถ้าปล่อยแมวออกไปด้านนอกบ้าน โดยจะโดนปรับ 500 ดอลลาร์สหรัฐ และสำหรับแมวที่ไปล่า ไข่หรือนกจาบฝนหงอนจนเสียชีวิต เจ้าของแมวต้องจ่ายค่าปรับ 50,000 สหรัฐ
ย้ำอีกครั้ง! แมวเป็นสัตว์นักล่าโดยสัญชาตญาณ ทว่า บทบาทหรือภาพจำในปัจจุบันเปลี่ยนไปกลายเป็นสัตว์ตัวเล็กตัวน้อย และมี “ทาส” อยู่ทั่วโลก แต่ความจริงที่ว่าแมวได้คร่าสัตว์กว่า 2,000 สปีชีส์ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง กุญแจสำคัญในเรื่องนี้คือ จำเป็นต้องมีมาตรการ กฎหมาย ที่คอยควบคุมเอาไว้ เพื่อพิทักษ์ชีวิตของสัตว์ที่เสี่ยงสูญพันธุ์
ที่มา: Library of Congress
nature world
เนื้อหาที่น่าสนใจ