svasdssvasds

นักโทษไทยแน่นอันดับ 8 ของโลก อันดับ 4 ในเอเชีย

นักโทษไทยแน่นอันดับ 8 ของโลก อันดับ 4 ในเอเชีย

สหรัฐอเมริกา ครองอันดับ 1 ผู้ต้องขังมากที่สุดในโลก ส่วนคุกไทยแน่นติดอันดับ 8 แถมยังไม่ได้มาตรฐาน สิทธิมนุษยชนมีน้อยนิด

ก่อนที่จะหมดปี 2023 ทีม SPRINGNEW พามาดูกันหน่อยดีกว่าว่า ปัจจุบันนี้ ไทยยืนอยู่ตรงไหนในวงการเรือนจำโลก ซึ่ง WORLD PRISON BRIEF เว็บไซต์รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับระบบเรือนจำทั่วโลก ได้จัดอันดับประเทศที่มีนักโทษมากที่สุด ซึ่งได้ข้อมูลดังนี้

อันดับ 1 สหรัฐอเมริกา 1,767,200 คน

อันดับ 2 จีน 1,690,000 คน

อันดับ 3 บราซิล 839,672 คน

อันดับ 4 อินเดีย 573,220 คน

อันดับ 5 รัสเซีย 433,006 คน

อันดับ 6 ตุรกี 341,497 คน

อันดับ 7 อินโดนีเซีย 267,577 คน

อันดับ 8 ไทย 262,319 คน

อันดับ 9 เม็กซิโก 234,561 คน

อันดับ 10 อิหร่าน 189,000 คน

นักโทษไทยแน่นอันดับ 8 ของโลก อันดับ 4 ในเอเชีย

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวสำรวจจากภาพรวม และมาจากปีที่ต่างกัน จึงอาจแตกต่างจากเว็บไซต์อื่น และข้อมูลนี้ไม่รวมผู้กระทำผิดที่เป็นเยาวชน เนื่องจากทุกประเทศมีหน่วยงานพิเศษดูแลต่างหากอีกที

แต่จากข้อมูลเฉพาะเว็บไซต์ WORLD PRISON BRIEF จะพบว่า ประเทศไทยมีนักนักโทษสูงมากเป็นอันดับ 8 ของโลก นอกจากนี้ยังได้อันดับ 4 ในเอเชีย รองจาก จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ตามลำดับ

 

นักโทษในประเทศไทย

ไม่ว่าข้อมูลจะมาจากเว็บไซต์ไหน หรือจะจัดอันดับกี่ครั้ง ประเทศไทยก็มักจะติด 1 ใน 10 ของ ประเทศที่มีผู้ต้องขังมากที่สุดในโลกเสมอ

ในปี 2567 จากรายงานสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศ จากกรมราชทัณฑ์ พบว่า ประเทศไทย มีเรือนจำทั้งหมด 225 แห่ง (จากทั้งหมด 10 เขต) พบว่ามีผู้ต้องขังทั้งหมด 274,277 คน แบ่งเป็นดังนี้

  • นักโทษเด็ดขาด หมายถึง บุคคลซึ่งถูกขังไว้ตามหมายจำคุกหลังจากคำพิพากษาถึงที่สุด มีทั้งหมด 216,213 คน (ชาย 190,536 คน) (หญิง 25,677 คน) คิดเป็น 78.830 %
  • ผู้ต้องขังระหว่าง อุทธรณ์ ฎีกา ไต่สวน พิจารณา สอบสวน มีทั้งหมด 52,376 คน (ชาย 45,793 คน) (หญิง 6,583 คน) คิดเป็น 19.096 %
  • ผู้ถูกกักกัน หมายถึง การควบคุมผู้กระทำความผิดที่ทำเป็นนิสัยไว้ภายในเขตกำหนด เพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ หรือเพื่อฝึกหัดอาชีพ มีทั้งหมด 61 คน (ชาย 56 คน) (หญิง 5 คน) คิดเป็น 0.022 %
  • ผู้ต้องกักขัง หมายถึง ผู้ที่ถูกกักขังตามหมายกักขังของศาล แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.ศาลสั่งลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ฐานความผิดลหุโทษเปลี่ยนเป็นโทษกักขังแทนโทษจำคุก และ 2. กักขังแทนค่าปรับ โดยใช้อัตรา 500 บาท ต่อหนึ่งวัน และกักขังไม่เกิน 2 ปี มีทั้งหมด 5,610 คน (ชาย 4,818 คน) (หญิง 792 คน) คิดเป็น 2.045 %
  • เยาวชนฝากขัง มีทั้งหมด 17 คน คิดเป็น 0.006 %

แก้ปัญหาคนล้นคุกในไทย

ประเทศไทยได้มีความพยายามในการ “แก้ปัญหานักโทษล้นคุก” มาตลอด และเร็วๆ นี้ที่เป็นกระแสร้อนสุดๆ คือการที่ กรมราชทัณฑ์ได้ประกาศ ระเบียบว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2566 ซึ่งจะทำให้กรมราชทัณฑ์มีอำนาจในการกำหนดสถานที่คุมขัง นอกเรือนจำได้

ทว่าประเด็นดังกล่าวก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายว่า แท้จริงแล้วกฎระเบียบนี้ออกมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ใครหรือไม่ เพราะปัจจุบันกระแสคนชั้น 14 ก็ยังคงถูกจับตามองอยู่ และอาจมีนักการเมืองที่เป็นนักโทษชั้นเยี่ยมอีกหลายคน ที่อาจได้รับอานิสงส์จากกฎหมายฉบับนี้ด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ากฎนี้จะออกมาเพื่ออะไร ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คุกในประเทศไทยเต็มไปด้วยปัญหามากมายที่ต้องแก้ไข ไม่ว่าจะเป็น สภาพเรือนจำที่ไม่ได้มาตรฐาน สิทธิมนุษยชนที่มีอยู่น้อยนิด อาหารกับน้ำดื่มที่ไม่เหมาะสม รวมถึงการรักษาพยาบาลที่น้อยเกินไป นอกจากนี้คุกแต่ละแห่งยังมีนักโทษอยู่กระจุกกันเป็นจำนวนมาก และมีความเป็นอยู่ที่แออัดติดอันดับโลกอีกด้วย

related