svasdssvasds

ทางสองแพร่ง “ประชาธิปัตย์” อนาคตพรรค กับอนาคตรัฐบาลพปชร.

ทางสองแพร่ง “ประชาธิปัตย์” อนาคตพรรค กับอนาคตรัฐบาลพปชร.

การพ่ายแพ้ศึกเลือกตั้งอย่างยับเยินหนนี้ของพรรคประชาธิปัตย์ แม้แต่กรุงเทพฯ ที่เคยเป็น “แชมป์เก่า”หลายสมัย แต่ครั้งนี้ไม่ได้เลยแม้แต่คนเดียว และภาคใต้ ที่ผูกขาดการเป็นเจ้าของพื้นที่มาโดยตลอด ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญว่า พรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของไทย 73 ปี จะก้าวเดินต่อไปบนเวทีการเมืองอย่างไร

หลังจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรค ตามที่เคยลั่นวาจาไว้ว่า หากได้ส.ส.ต่ำกว่า 100 คนจะลาออกจากตำแหน่ง

มีผลให้พรรคต้องประชุมใหญ่เลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการ “ชี้ชะตาอนาคต” ของพรรคประชาธิปัตย์ ว่าจะเอาอย่างไรต่อ

เป็นฝ่ายค้าน ทบทวนตัวเองเพื่อหาจุดบกพร่องและสาเหตุสำคัญของการแพ้ศึกเลือกตั้ง หรือเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ สนับสนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

กลุ่มแรก ประกอบด้วย กรรมการบริหารชุดเดิม รวมทั้งนายอภิสิทธิ์ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน แม้แต่นายชวน หลีกภัย ก็เคยแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับ ปชป.ที่จะไปสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ในพรรค หรือ NEW DEM อาทิ “ไอติม”นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ที่เรียกร้องให้ ปชป.ทำหน้าที่ “ฝ่ายค้านอิสระ” ซึ่งหมายถึง การทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างสร้างสรรค์ หนุนในสิ่งที่เห็นว่ามีประโยชน์ แต่คัดค้านในเรื่องที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม

ขณะที่อีกฝ่าย ต้องการให้ ปชป.เข้าร่วมตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ โดยมีแกนนำหลัก คือนายถาวร เสนเนียม ว่าที่ส.ส.สงขลา นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ว่าที่ส.ส.ตรัง และนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก นอกจากนี้ ยังมีว่าที่ส.ส.และอดีตส.ส.ที่เคยเคลื่อนไหวกับกลุ่ม กปปส.ที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ

สองฝ่ายนี้ มีความคิดทางการเมืองที่ไม่ตรงกันมาตั้งแต่การรณรงค์เลือกหัวหน้าพรรคโดยวิธี “ไพรมารีโหวต” ก่อนเข้าสู่โหมดเลือกตั้งส.ส.แล้ว โดยฝ่ายหลังถูกมองว่าเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อช่วยนายสุเทพ ที่ประกาศแนวทางชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า ต้องการให้ ปชป.หนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพราะไม่มีใครจะสามารถทำให้บ้านเมืองสงบได้เหมือนพล.อ.ประยุทธ์

อย่างไรก็ตามการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะสามารถผลักดันแนวคิดของกลุ่มตนให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้เบื้องต้นต้องวัดกันที่ฝ่ายไหนสามารถส่งคนเข้าไปนั่งกุมอำนาจในพรรคได้โดยเฉพาะตำแหน่งหัวหน้าพรรคซึ่งจะนำไปสู่ตำแหน่งอื่นๆทั้งเลขาธิการพรรคและกรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆ

คาดหมายว่า หลังการประชุมใหญ่ 24 เมษายน 2562 เพื่อสรุปบทเรียนและกำหนดทิศทางการเดินหน้าของพรรคแล้ว พรรคปชป. จะมีการประชุมเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่อีกครั้ง คาดว่าจะหลังวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่กกต.จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.

คู่แข่งสำคัญสำหรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคข่าววงในระบุว่า เหลือเพียง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค กับนายกรณ์ จาติกวณิช รักษาการรองหัวหน้าพรรคแต่ทั้งนี้  ต้องรอดูท่าทีของกลุ่มนายถาวร ว่าจะเสนอชื่อคนอื่นเข้าร่วมชิงชัยหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้มีกระแสว่า จะหนุนนายกรณ์ แต่ต้องไม่ลืมว่านายกรณ์ เป็นเพื่อนตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือที่อังกฤษกับนายอภิสิทธิ์

การเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ครั้งนี้ หากจะถือว่าเป็นจุดเริ่มสำคัญของ พรรคปชป.ภาคใหม่ ก็คงไม่ผิดนัก เพราะการตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลหรือยอมทำหน้าที่ฝ่ายค้าน จะสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการตัดสินใจของแกนนำในพรรค ซึ่งอาจจะรวมถึงระดับอาวุโสและเปี่ยมบารมีในพรรคอย่างนายชวน หลีกภัย

หากตัดสินใจพลั้งพลาดอีกหน อาจหมายถึงอนาคตทางการเมืองต่อไปของพรรคประชาธิปัตย์ อย่างไม่ต้องสงสัย

ขณะเดียวกันการตัดสินใจครั้งนี้  ยังจะส่งผลถึงการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐ ที่หนุน “บิ๊กตู่”เป็นนายกฯสมัยที่ 2 ด้วย จะราบรื่นและสานฝันสำเร็จได้หรือไม่ 

เพราะคะแนน 2 ขั้ว 2 ฝ่ายที่ชิงแข่งตั้งรัฐบาล ล้วนแต่ปริ่มน้ำทั้งคู่ แม้พลังประชารัฐจะได้เปรียบที่จะมีเสียงส่วนใหญ่ของส.ว.250 คนอยู่ในมือ อาจทำให้การใช่เสียงเกินกว่า 376 คนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ แต่การขับเคลื่อนด้านนิติบัญญัติ ผ่านระบอบรัฐสภา ที่ต้องใช้เสียงข้างมากทั้งวุฒิฯและสภาผู้แทนราษฎร ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน

ลำพังการดึงพรรคภูมิใจไทยของ “เสี่ยหนู”อนุทิน ชาญวีรกูล เข้าร่วม อาจไม่เพียงพอต่อจำนวนส.ส. ที่ต้องเกินกึ่งหนึ่งเพื่อเสถียรภาพ  หากไม่ได้พรรคปชป.เข้าร่วมเพิ่มจำนวนเสียงอีกหนึ่งพรรคใหญ่

ในทางกลับกัน หากปชป.เลือกทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาฯ อนาคตรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐ ก็จะยากขึ้นเป็นทวีคูณเช่นกัน

related