svasdssvasds

เปิดวิธีเช็กสิทธิ "บัตรทอง" 5 ช่องทาง ตรวจสอบสิทธิ-หน่วยบริการด้วยตัวเอง

เปิดวิธีเช็กสิทธิ "บัตรทอง" 5 ช่องทาง ตรวจสอบสิทธิ-หน่วยบริการด้วยตัวเอง

เช็กสิทธิ "บัตรทอง" 5 ช่องทาง สปสช. เช็คสิทธิรักษาพยาบาลง่ายๆ ด้วยตัวเอง ใครบ้างมีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดรายชื่อ 9 โรงพยาบาลเอกชนที่ถูกยกเลิกสัญญา

 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กำหนดให้คนไทยทุกคนมีสิทธิ ได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ โดยจัดให้มี "กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ ส่งเสริมให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งขาติ หรือ สปสช. ทำหน้าที่บริหารกองทุนให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด "สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" หรือ "สิทธิบัตรทอง" หรือ "สิทธิ 30 บาท" เป็นสิทธิตามกฎหมายที่รัฐบาลจัดให้คนไทยทุกคนตั้งแต่แรกเกิด และตลอดช่วงชีวิต (ไม่ใช่สิทธิเพื่อการสงเคราะห์เฉพาะกลุ่ม)

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 3 ข้อ คือ

1. เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย

2. มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

3. ไม่มีสิทธิประกันสุขภาพจากหน่วยงานรัฐ (ที่ใช้จ่ายจากเงินงบประมาณของรัฐ) ได้แก่ สิทธิตามกฎหมายประกันสังคม สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ / พนักงานส่วนท้องถิ่น หรือสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของหน่วยงานรัฐอื่นๆ เช่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน ข้าราชการการเมือง

ใครบ้างมีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ?

• เด็กแรกเกิด ที่ไม่มีสิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการจากบิดามารดา

• บุตรข้าราชการที่บรรลุนิติภาวะ (อายุ 20 ปีขึ้นไปหรือสมรส) และไม่มีสิทธิประกันสุขภาพจากหน่วยงานรัฐ

• บุตรข้าราชการคนที่ 4 ขึ้นไป และไม่มีสิทธิประกันสุขภาพจากหน่วยงานรัฐ เช่น สิทธิข้าราชการคุ้มครองบุตรเพียง 3 คน

• ผู้ประกันตนที่ขาดการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม (หมดสิทธิประกันสังคม)

• ข้าราชการที่เกษียณอายุหรือออกจากราชการโดยมิได้รับบำนาญ

• ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และไม่ได้เป็นผู้ประกันตน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• เช็กเลย! สิทธิประโยชน์ใหม่บัตรทอง 6 รายการ

• ผู้ป่วยโควิด สิทธิบัตรทอง พบแพทย์ Telemedicine ส่งยาฟรีถึงบ้าน

• เช็กเลย! ค่าใช้จ่ายผู้ป่วยโควิด-19 "กลุ่มสีเขียว" กรณีใช้สิทธิบัตรทอง

5 ช่องทางในการตรวจสอบสิทธิและหน่วยบริการ 

• ช่องทางที่ 1 การตรวจสอบสิทธิผ่านแอปพลิเคชันของทาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายทั้งระบบ Android และ IOS เพียงพิมพ์ที่ช่องค้นหาว่า สปสช. หลังจากลงทะเบียนเสร็จเรียบร้อยก็สามารถไปใช้งานฟังก์ชั่น “ตรวจสอบสิทธิ์ตนเอง” ได้เลย

• ช่องทางที่ 2 ตรวจสอบสิทธิผ่านไลน์ @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และไปยังเมนู “ตรวจสอบสิทธิ”

• ช่องทางที่ 3 ตรวจสอบสิทธิด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ของ สปสช. (www.nhso.go.th) โดยไปที่เมนู “สำหรับประชาชน” และเลือก “ตรวจสอบสิทธิหลักประกันสุขภาพ” หรือคลิก https://eservices.nhso.go.th/eServices/mobile/login.xhtml

• ช่องทางที่ 4 ตรวจสอบสิทธิผ่านเพจเฟซบุ๊ก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

• ช่องทางที่ 5 โทรสายด่วน สปสช. 1330 และกด 2 จากนั้นกดเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก (ระบบการตรวจสอบสิทธิอัตโนมัติ)

 ทั้งนี้ สปสช.แจงเหตุผลยกเลิกสัญญา 9 รพ.เอกชน เป็นไปตามมติบอร์ด สปสช.และ อปสข.กทม. เนื่องจากผลการตรวจสอบพบเอกสารหลักฐานว่า รพ.เอกชนทั้ง 9 แห่ง เรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขไม่ถูกต้อง ย้ำเตรียมการรองรับไว้แล้ว ประชาชนไม่ได้รับผลกระทบ 

9 รพ.เอกชนมีดังนี้ จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป 

1. รพ.มเหสักข์ 

2. รพ.บางนา 1 

3. รพ.ประชาพัฒน์ 

4. รพ.นวมินทร์ 

5. รพ.เพชรเวช 

6. รพ.ผู้สูงอายุกล้วยน้ำไท 2 

7. รพ.แพทย์ปัญญา 

8. รพ.บางมด 

9. รพ.กล้วยน้ำไท 

หากต้องการเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ ต้องทำอย่างไร ?

ประชาชนที่มี สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถเปลี่ยนหน่วยบริการประจำไปได้ไม่เกิน 4 ครั้งต่อปี (รอบปีงบประมาณ นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 30 กันยายนของปีถัดไป)

เปลี่ยนหน่วยบริการได้สิทธิทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน นำบัตรประจำตัวประชาชน สำหรับเด็กถ้าไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ให้ใช้สูติบัตร (ใบเกิด) แทน

กรณีที่อยู่อาศัยไม่ตรงกับทะเบียนบ้าน แสดงหลักฐานเพิ่ม อย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ 

• หนังสือรับรองการพักอาศัยจากเจ้าบ้าน พร้อมสำเนาทะเบียนบ้าน

• หนังสือรับรองจากผู้นำชุมชน พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้นำชุมชน 

• เอกสารหลักฐานแสดงที่ตั้งบริษัท/ห้างร้าน นายจ้าง/ผู้ว่าจ้างรับรองการพักอาศัยจริง พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ว่าจ้าง/ผู้รับจ้าง

• เอกสารหรือหลักฐานอื่น ใบเสร็จค่าสาธารณูปโภคต่างๆ หรือสัญญาเช่าที่มีชื่อตนเองที่แสดงว่าพักอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆ 

โดยติดต่อด้วยตนเองในวันและเวลาราชการ ที่

ต่างจังหวัด

• หน่วยบริการในระบบ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) หรือสถานีอนามัย ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง โรงพยาบาลของรัฐ 

• สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 

• สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 1-12

กรุงเทพมหานคร

• สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชั้น 2 อาคารบี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. 

related