svasdssvasds

นิรโทษกรรมทางการเมือง เรื่องเจ็บๆที่ไม่เคยจะจำ

นิรโทษกรรมทางการเมือง  เรื่องเจ็บๆที่ไม่เคยจะจำ

เมื่อเส้นเวลาของการเมืองไทย หมุนเวียนมาหาคำว่า "นิรโทษกรรมทางการเมือง" อีกครั้ง เหมือนเด็กที่เรียนซ้ำชั้น วนอยู่กับปัญหาเดิม จนลืมมองทางแก้ที่ยั่งยืนคือ การพัฒนาคน

กระแสข่าวที่กล่าวขานถึงเรื่องการนิรโทษกรรม เริ่มมีผู้ออกมาแสดงความคิดเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งสถานการณ์ทางการเมือง คืบคลานเข้าใกล้การส่งสัญญานการเลือกตั้ง ก็ยิ่งมีการพูดถึงมากขึ้นตามลำดับ

ก็ต้องถามกลับสังคมกันดังๆว่า นิรโทษกรรมทางการเมือง ใช่ทางออกของความปรองดองในชาติ จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงคำหรูที่ถูกนำมาใช้ในบทบาททางการเมืองเพื่อเปิดช่องเปิดทางให้บางอย่าง โดยอ้างคำว่า “เพื่อส่วนรวม”

หากจะมองย้อยกลับไปที่ต้นตอของปัญหาทางการเมือง ที่นำไปสู่การกระทำความผิดจนต้องมีการเสนอทางออกด้วยการ นิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดทางการเมือง ก็คงมีอยู่หลายปัจจัย เช่น เมื่อมีความขัดแย้งทางการเมืองจนถึงขั้นเกิดการยึดอำนาจการปกครอง ผู้ชนะ ก็จะออกกฎหมาย นิรโทษกรรมให้ตนเอง เพื่อปกป้องตนเองจากการกระทำนอกเหนือกฏหมายในการเข้ายึดอำนาจ

ความวุ่นวายทางการเมืองในอดีตของประเทศไทย

หรืออีกกรณีหนึ่ง ที่ต้องย้อนกลับไปในอดีตที่ผ่านมา ราวเดือน มีนาคม พ.ศ.2555 หลังจากที่บ้านเมืองตกอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายสับสนจนมีการยึดอำนาจเกิดขึ้น แต่บ้านเมืองก็เหมือนยังไม่กลับคืนสู่ภาวะปกติ คนในชาติยังขัดแย้งแตกแยกอย่างหนัก จนต้องมีการเสนอ แนวทางการสร้างความปรองดองในชาติ ต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ทั้งหมด 4 ข้อ แต่มีหลักสำคัญ 2 เรื่องคือ

  1. การจัดการกับความจริงของเหตุการณ์รุนแรงที่นำมาซึ่งความสูญเสีย โดยการสนับสนุนคณะกรรมการอิสระค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ให้ดำเนินการค้นหาความจริงให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ควรเปิดเผยข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่ไม่ระบุตัวบุคคลในระยะเวลาที่เหมาะสม
  2. การให้อภัยแก่การกระทำที่เกี่ยวข้องผ่านกระบวนการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง โดยรวมถึงกลุ่มผู้ชุมนุมทุกฝ่าย เจ้าหน้าที่รัฐและผู้บังคับบัญชา ตลอดถึงผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยใช้การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองทุกประเภท แต่คดีอาญาที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง จะไม่ได้รับการยกเว้น เช่น การทำลายทรัพย์สินของรัฐ หรือเอกชน หรืออีกทางเลือก คือ การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเฉพาะคดีการกระทำความผิดตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ทั้ง 2 ทางเลือกให้ยกเว้นกรณีความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยให้กรณีดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ส่วนข้อ สามกับข้อสี่คือการสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และการตั้งกติกาทางการเมืองต่างๆ

การค้านการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม จนนำไปสู่การขัดขวางการเลือกตั้ง เนื่องจากผู้คนไม่เชื่อมั่นในระบบ

ประเด็นอยู่ที่ การนิรโทษกรรมที่ถูกเสนอมานั้น ถูกกล่าวถึงในลักษณะว่าเป็นแนวทางในการสร้างความปรองดอง โดยเชื่อว่า การนิรโทษกรรม การให้อภัย ผู้กระทำความผิดทางการเมือง การยกเลิกการดำเนินการหลายๆอย่าง เพื่อต้องการดึงให้เรื่องราวกลับเข้าสู่การดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมปกติ จะช่วยสร้างให้เกิดความปรองดองได้  แต่เหตุการณ์ก็ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะในที่สุดบ้านเมืองก็เข้าสู่สู่ความวุ่นวาย และลงท้ายด้วยการยึดอำนาจการปกครองโดยทหารอีกครั้ง ในปี พ.ศ.2557

ความวุ่นวายทางการเมือง ที่นำไปสู่การสูญเสียในที่สุด

คำถามคือ การ นิรโทษกรรม ในเวลานี้ เป็นหนทางสร้างความปรองดองจริงหรือไม่?

ที่ต้องถาม เพราะประวัติศาสตร์การเมืองไทยในอดีต เมื่อมีการเดินหน้าเอ่ยถึงเรื่องการนิรโทษกรรม ก็กลับเป็นชนวนเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง แตกแยกอย่างหนักตามมาอีกครั้งในประเทศ

ต้นปี พ.ศ.2557 สองปีให้หลังจากที่มีการเสนอทางออกในการสร้างความปรองดองด้วยการให้อภัย การชุมนุมใหญ่เพื่อคัดค้าน การผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ยุคนั้นเรียกว่า "เหมาเข่ง" "สุดซอย" ก็เกิดขึ้น โดยมีคนจากพรรคการเมืองบางพรรคเข้าร่วมนำผู้คนลงถนนเดินขบวน การชุมนุมคัดค้านครั้งนั้น ขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ มีการแสดงออกจากทั้งดารา นักร้อง นักแสดง บุคคลจากหลากหลายอาชีพเข้าร่วมอุดมการณ์ เปิดปฏิบัติการ ชัตดาวน์กรุงเทพ และเกิดการขัดขวางการเลือกตั้ง จนเป็นที่มาของการยึดอำนาจการปกครองอีกครั้งโดยทหาร ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในขณะนั้น

การยึดอำนาจการปกครองโดยทหารเมื่อปี พ.ศ.2557

การ นิรโทษกรรมทางการเมือง ณ เวลานั้น เหมือนจะศูนย์เสียความศักดิ์สิทธิ์ไปสิ้นเชิง จากการที่ผู้คนขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากฝ่ายการเมืองก้าวเข้ามาแตะต้อง ล้วงลึก และแสดงท่าทีเหมือนจะยกโทษ ให้อภัยกันสุดซอย เหมาเข่ง ยกก๊วน แล้วแต่จะเรียกขานกัน จนเชื้อไฟจากการขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการของผู้คน จุดติดลุกโชนขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

เล่ามาถึงตรงนี้ ก็ต้องย้อนไปพูดถึงอำนาจอธิปไตยในระบอบประชาธิปไตยบ้านเรา ซึ่งถูกออกแบบมาให้ สามอำนาจ ตุลาการ นิติบัญญัติ บริหาร สามารถคัดคานอำนาจกันเองได้ เพื่อความโปร่งใสและยุติธรรม แต่เมื่ออำนาจใดอำนาจหนึ่งถูกครอบงำ  การคานอำนาจตามระบบที่ถูกออกแบบไว้ก็พังทลายไปโดยอัตโนมัติ

เรื่องราวทั้งหมดนี้ เป็นบทพิสูจน์ได้อย่างหนึ่งว่า การยึดอำนาจ มิได้มีเพียงแค่การทำปฏิวัติ รัฐประหาร จากกองกำลังทหารเท่านั้น แต่การยึดอำนาจผ่านระบบรัฐสภาก็สามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อพรรคการเมืองและนายทุนจับมือกันทำเผด็จการรัฐสภา จนสามารถครอบงำการคัดคานอำนาจในระบบไปได้

มาถึงจุดนี้ เหมือนว่าการ นิรโทษกรรม แม้กระทั่ง ณ เวลานี้ ก็จะยังไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น รังแต่จะสร้างความแตกแยกขัดแย้งรอบใหม่ๆให้เกิดขึ้นตามมาอีก

เพราะแท้จริงแล้ว ต้นตอของปัญหาไม่ได้อยู่ที่ระบบ แต่อยู่ที่ความไม่พร้อมของ “คน”  ตราบใดที่เราไม่เริ่มแก้ปัญหาที่ คน ต่อให้ระบบให้ดีแค่ไหน ก็ผลักดันชาติให้เจริญก้าวหน้า และมั่นคงได้ยาก

ในด้านหนึ่งกฎหมายมีไว้ควมคุม แต่อีกด้านหนึ่ง ถ้ายังมีผู้คน นักการเมือง นักธุรกิจส่วนหนึ่งที่คิดว่า กฎมีไว้แหก นั่นก็แสดงถึงคุณภาพประชากรที่ยังอ่อนด้อย และแสดงออกมาผ่านทางความคิด และเพราะแบบนี้ ถึงจะออกมาอีกร้อยกฎ ก็จะมีคนพยายามหาช่องเล็ดลอดออกไปหาประโยชน์ใส่ตัวอยู่ดี เพราะสำนึกและความรู้ผิดชอบชั่วดี มันยังไม่เกิดในจิตใจ

พักเรื่อง นิรโทษกรรม ไว้ก่อน แล้วหันมามองการพัฒนา “คน” พัฒนาสติปัญญา ความรู้คนในชาติ พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ ให้ก้าวทันโลกที่หมุนเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว น่าจะเป็นหนทางนำพาชาติให้ก้าวหน้า เติบโต มั่นคงได้มากกว่า เมื่อผู้คนฉลาด รู้เท่าทัน มีระเบียบ มีวินัย การนิรโทษกรรมก็แทบไม่จำเป็นต้องมี เพราะสุดท้าย ผู้คนจะรู้ ผิดชอบชั่วดีได้ ด้วยตัวเอง และนี่ น่าจะเป็นหนทางแห่งการกระทำเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริงมากกว่า....

related