svasdssvasds

กรมวิทย์ฯ ยันยังไม่พบโควิดสายพันธุ์ BQ.1.1 - XBB ในไทย ส่วนใหญ่เป็น BA.5

กรมวิทย์ฯ ยันยังไม่พบโควิดสายพันธุ์ BQ.1.1 - XBB ในไทย ส่วนใหญ่เป็น BA.5

กรมวิทย์ฯ ยันไทยไม่มีรายงานการตรวจพบโควิด19 สายพันธุ์ “BQ.1.1” และ “XBB” ที่สามารถแพร่เชื้อได้เร็ว ดื้อภูมิคุ้มกันมากกว่าทุกสายพันธุ์ ในไทยส่วนใหญ่เป็น โอไมครอน สายพันธุ์ย่อย BA.5

 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยถึงกรณีข่าวต่างประเทศตรวจพบโอมิครอนกลายพันธุ์ตัวใหม่ "BQ.1.1" และ “XBB” สามารถแพร่เชื้อได้เร็ว และดื้อภูมิคุ้มกันมากกว่าทุกสายพันธุ์ ว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 ยังไม่มีรายงานการตรวจพบสายพันธุ์ดังกล่าวในประเทศไทย ขณะนี้เชื้อโควิด 19 ที่แพร่ระบาดในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็น "โอมิครอน" สายพันธุ์ย่อย BA.5 จากฐานข้อมูล GISAID ณ วันที่ 7 ต.ค. 2565 ประเทศไทยพบ BA.4 จำนวน 218 ราย ในส่วน BA.2.75 และลูกหลาน BA.2.75.1, BA.2.75.2 พบ 24 ราย สายพันธุ์ BA.5 และลูกหลาน พบ 2,152 ราย

"สายพันธุ์ย่อยหลักที่พบมากในไทย ได้แก่ สายพันธุ์ BA.5.2 พบรายงาน 1,709 ราย แนวโน้มสอดคล้องกับทั่วโลก คือ BA.5 ยังเป็นสายพันธุ์หลัก ส่วน BA.4, BA.2.75 และลูกหลาน พบเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย" นพ.ศุภกิจกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• สธ. เผย ติด “โควิด” รักษาตามอาการ อาการเล็กน้อยแนะนำแยกตัว 5 วัน ยึด DMH 100%

• กทม. ยกเลิกประกาศมาตรการควบคุมโควิด19 ทุกฉบับ มีผล 1 ต.ค.65

• ยกเลิกโควิด19 ดีเดย์ 1 ต.ค. 65 สธ. ปรับโควิดเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง

 นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า การกลายพันธุ์เป็นเรื่องธรรมชาติของไวรัส สำหรับสายพันธุ์ BQ.1.1 เป็นสายพันธุ์ย่อยของ BA.5 ที่มีการกลายพันธุ์ 3 ตำแหน่งบนส่วนหนาม ได้แก่ R346T, K444T, และ N460K ช่วยให้หลบภูมิคุ้มกันได้ดี ส่วนสายพันธุ์ XBB มีต้นตระกูลมาจาก BA.2 นั้น เป็นลูกผสมระหว่างโอมิครอน BJ.1 และ BA.2.75 ปัจจุบันทั่วโลกรายงาน XBB 260 ราย BJ.1 จำนวน 114 ราย และ BA.2.75 จำนวน 9,047 ราย สำหรับไทยพบเฉพาะสายพันธุ์ BA.2.75 จำนวน 18 ราย ยังไม่พบสายพันธุ์ BJ.1 และ XBB
 

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด19 อย่างต่อเนื่อง หากพบสัญญาณว่าตัวใดมีปัญหาจะจับตาเป็นพิเศษ ขณะนี้ไทยยังไม่มีสัญญาณการกลายพันธุ์ที่ต้องกังวล ขอให้ใช้ชีวิตตามปกติ ไม่ควรตื่นตระหนกจากข้อมูลบางส่วนในสื่อโซเชียล ซึ่งอาจก่อให้เกิดความสับสน เน้นย้ำว่าวัคซีนเข็มกระตุ้นยังจำเป็น ขอให้ฉีดกระตุ้นอย่างน้อย 4 เดือน จากเข็มล่าสุด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ควรรับถึงเข็มที่ 4 มาตรการป้องกันตนเอง ใส่หน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่าง ยังรับมือได้ทุกสายพันธุ์

related