svasdssvasds

UNFPA วิเคราะห์ 8 แนวโน้ม หลังประชากรโลกทะลุ 8 พันล้านคน

UNFPA วิเคราะห์ 8 แนวโน้ม หลังประชากรโลกทะลุ 8 พันล้านคน

กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) วิเคราะห์ 8 แนวโน้ม หลังประชากรโลกทะลุ 8 พันล้านคน โดยคาดว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรจะชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง สัดส่วนประชากรเด็กน้อย ในขณะที่สัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง

จากกรณีที่สหประชาชาติ (UN) ได้มีการประกาศอย่างเป็นการว่า ประชากรโลกมีจำนวน 8 พันล้านคน เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ก็ได้วิเคราะห์ 8 แนวโน้มด้านประชากรที่เกิดขึ้นได้อย่างน่าสนใจ ในบทความที่ชื่อว่า 8 Trends for a World of 8 Billion People ดังต่อไปนี้   

1. อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรชะลอตัว

UNFPA ระบุว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากร จะสัมพันธ์กับอัตราการเกิดและการเสียชีวิต ซึ่งจากการปรับปรุงด้านโภชนาการ การดูแลสุขภาพ สภาพความเป็นอยู่ ฯลฯ ทำให้อัตราการเสียชีวิตของประชากรในช่วงวัยต่างๆ ลดลง และมนุษย์มีอายุที่ยืนยาวขึ้น โดยก่อนหน้านี้ ระหว่างปี 2505 - 2508 มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 2.1 % ต่อปี

แต่ถึงแม้ว่าอัตราการเสียชีวิตในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาจะลดน้อยลง แต่อัตราการเกิดก็ลดลงเป็นอย่างมากเช่นกัน โดยในปี 2563 อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรต่ำกว่า 1 % ซึ่งเป็นครั้งแรกนับจากปี 2493 โดยในปี 2565 อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรอยู่ที่ 0.8 % UNFPA จึงคาดการณ์ว่าแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของประชากรยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่องต่อไป

UNFPA วิเคราะห์ 8 แนวโน้ม หลังประชากรโลกทะลุ 8 พันล้านคน

บทความที่เกี่ยวข้อง

2. ประชากรวัยเด็กน้อย

UNFPA ระบุว่า จำนวนการเกิดโดยเฉลี่ยต่อผู้หญิงหนึ่งคน ลดลงอย่างต่อเนื่องมาหลายทศวรรษแล้ว ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยต่างๆ ทางสังคม อาทิ การแต่งงานและมีบุตรล่าช้า การคุมกำเนิด เป็นต้น

โดยในปี 2493 มีอัตราการเกิด 5 คน ต่อผู้หญิง 1 คน แต่ในปี 2565 อัตราการเกิดอยู่ที่ 2.3 คน ต่อผู้หญิง 1 คน และคาดว่า จะลดลงเหลือ 2.1 คน ต่อผู้หญิง 1 คน ในปี 2593 ส่งผลให้ทารกแรกเกิด - 14 ปี (ประชากรวัยเด็ก) น้อยลงตามไปด้วย

3. ประชากรโลกมีอายุยืนขึ้น

UNFPA ระบุว่า ปี 2562 มนุษย์มีอายุขัยเฉลี่ย 72.8 ปี เพิ่มขึ้นเกือบ 9 ปี นับตั้งแต่ปี 2533 และคาดว่า มนุษย์จะมีอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น 77.2  ในปี 2593 ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้อายุขัยของมนุษย์เพิ่มขึ้น ก็สืบเนื่องมาจากโภชนาการที่ดี การดูแลสุขภาพ และสภาพความเป็นอยู่ แต่ทั้งนี้ประเทศยากจนอายุขัยจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเกือบ 10 ปี ซึ่งหากย้อนไปในปี 2493 อายุขัยโดยเฉลี่ยของมนุษย์อยู่ที่ 46.6 ปีเท่านั้น

UNFPA วิเคราะห์ 8 แนวโน้ม หลังประชากรโลกทะลุ 8 พันล้านคน

4. การอพยพย้ายถิ่นฐานของประชากรยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

UNFPA ระบุว่า ปี 2533 มีประชากรประมาณ 128 ล้านคน อาศัยอยู่นอกประเทศบ้านกิด แต่ในปี 2563 มีประชากรอาศัยอยู่นอกประเทศบ้านเกิด ประมาณ 281 ล้านคน โดยซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ (ข้อมูลตรงนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญ) โดย UNFPA คาดว่า อัตราการย้ายถิ่นฐานของประชากรจะสูงขึ้นอีกในอนาคต โดยจะมีปัจจัยด้านผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

5. ประชากรสูงอายุ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

UNFPA ระบุว่า ระหว่างปี 2493 ถึง 2533 ประชากรอายุ 65 ปี ขึ้นไปมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 5 % เป็น 6 % และเพิ่มขึ้นเป็น 10 % ในปี 2565 โดย UNFPA คาดว่าจะเพิ่มสูงถึง 16 % ภายในปี 2593 ซึ่งเป็นสัดส่วนมากกว่า 2 เท่าของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ

6. ผู้หญิงอายุยืนกว่าผู้ชาย

UNFPA ระบุว่า แม้ว่าอัตราการเกิดของเด็กผู้ชายจะมากกว่าเด็กผู้หญิง 106 : 100 แต่เด็กผู้ชายมีอัตราการเสียชีวิตในวัยทารกและช่วงก่อนวัยเรียนมากกว่าเด็กผู้หญิง ตลอดจนช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ ผู้ชายก็ยังมีจำนวนการเสียชีวิตจากปัจจัยต่างๆ ที่สูงกว่า ส่งผลให้อายุขัยโดยเฉลี่ยของผู้หญิงจะมากกว่าผู้ชาย 5.4 ปี

ส่วนจำนวนประชากร ในปี 2565 ผู้ชายจะมีจำนวนมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย แต่คาดว่าภายในปี 2593 สัดส่วนระหว่างประชากรผู้หญิงกับผู้ชายจะเท่ากัน

UNFPA วิเคราะห์ 8 แนวโน้ม หลังประชากรโลกทะลุ 8 พันล้านคน

7. โรคระบาด เอดส์และโควิด ส่งผลกระทบกับจำนวนประชากร

UNFPA ระบุว่า ในปี 2563 และ 2564 มีผู้เสียชีวิตจากโควิด19 ทั้งทางตรงและทางอ้อม จำนวน 14.9 ล้านราย และนับตั้งแต่ปี 2524 มีผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 40 ล้านราย แต่หลังจากมีการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ก็สามารถลดจำนวนการเสียชีวิตจากโรคเอดส์ลงได้ถึง 68 %  ทำให้อายุขัยของประชากรเพิ่มขึ้น แต่การระบาดของโรคโควิด 19 เมื่อ 2 - 3 ปีที่ผ่านมา ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ก็ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยอายุขัยของประชากรลดลงอีกครั้ง  

8. ศูนย์กลางประชากร (มากที่สุดในโลก) เปลี่ยน 

UNFPA ระบุว่า ในปี 2565 ประชากรกว่าครึ่งโลกอาศัยอยู่ในทวีปเอเชีย โดยจีนและอินเดีย มีประชากรมากที่สุด แต่อัตราการเพิ่มของประชากรจีนเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อินเดียยังมีอัตราเพิ่มขึ้น 0.7 % ต่อปี ทำให้ในปี 2566 อินเดียจะแซงจีนขึ้นเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก

แต่ในช่วงปลายทศวรรษ 2603 ( ค.ศ. 2060 - 2069) คาดว่า ภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา จะมีประชากรมากที่สุดในโลก และอาจมีจำนวนประชากรสูงถึง 3.4 พันล้านคน ในปี 2643

ที่มา UNFPA : 8 Trends for a World of 8 Billion People

related