svasdssvasds

เตือนภัย! ปริ้นสเตทเม้นออนไลน์ อาจสูญเงินในบัญชีเกลี้ยง

เตือนภัย! ปริ้นสเตทเม้นออนไลน์ อาจสูญเงินในบัญชีเกลี้ยง

ปัญหาการโจรกรรมเงินออนไลน์ยังคงเป็นกระแสการหลอกลวงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเพจ Drama Addict ออกมาแจ้งเตือนภัยการขอ Statement ผ่านทางเว็บไซต์ในคอมพิวเตอร์ แต่กลับเจอแฮคเกอร์ให้กดตามขั้นตอน จนสูญเงินหมดบัญชี

ทางเพจ Drama-Addict ได้ออกมาแจ้งข่าวเตือนลูกเพจเกี่ยวกับกรณีการขอเอกสารทางการเงินผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเป็นการแจ้งทำธุรกรรมผ่านเว็บไซต์ โดยค้นหาผ่านคำใน Google ว่า "ปริ้นสเตทเม้น กรุงเทพ" จากนั้นเจอข้อความโฆษณาว่าเป็นเว็บไซต์ของ ธนาคารกรุงเทพ ด้วยความไม่ระวังจึงกดลิงก์เข้าไปเพื่อยื่นขอเอกสาร แต่กลับเจอหลอกให้กรอกข้อมูลและรหัส OTP จนทำให้สูญเงินในบัญชีไปทั้งหมด

ทั้งนี้ ในโพสต์ดังกล่าวไม่ได้มีการให้รายละเอียดเกี่ยวกับผู้เสียหาย แต่เป็นการบอกเล่าวิธีการของการโดนโจรกรรม ซึ่งตักเตือนไปยังผู้ที่ต้องการขอเอกสารสำหรับการทำธุรกรรมต่างๆ ไม่ควรเข้าใช้งานช่องทางธนาคารจาก Google แต่ควรเลือกใช้จากแอปหรือเว็บไซต์ของธนาคารตรง ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย หรือ ธนาคารกรุงศรี ซึ่งต้องมีสัญลักษณ์กุญแจบอกถึงความปลอดภัยหน้า url ของธนาคารนั้นๆ

จากภาพตัวอย่างจะเห็นว่าเป็นการค้นหาและเจอลิงก์โฆษณา ซึ่งจาก URL ดังกล่าวจะเห็นว่าไม่ได้มาจากธนาคารแต่เป็นการยิงโฆษณาดักไว้ หากไม่สังเกตก็อาจถูกหลอกลวงได้

ภาพประกอบจาก Drama Addict

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม

 

อย่างไรก็ตาม การโจรกรรมข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์นั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่พบเจอได้บ่อย เพราะพฤติกรรมคนไทยนิยมการค้นหาข้อมูลผ่าน Google และอาจไม่ระวังในการตรวจสอบที่มาของลิงก์ให้ชัดเจนก่อนกดเข้าไปและทำตามขั้นตอนการหลอกลวง จนกลายเป็นการขโมยข้อมูลส่วนตัวและสูญเสียเงินในหลายกรณี

เนื้อหาในโพสต์ของ Drama-Addict มีใจความว่า

เคสนี้น่ากลัวครับ ลูกเพจแจ้งมา เขากำลังหาข้อมูลเรื่องการพิมพ์สเตทเม้นท์ของธนาคารกรุงเทพจากกูเกิ้ล ทีนี้ พอกูเกิ้ลไป มันขึ้นเว็บปลอมขึ้นมา แล้วเขาหลงเชื่อกดเข้าไป นึกว่าเป็นหน้าเว็บธนาคารจริงๆ ก็กรอกข้อมูลจะ ล๊อคอิน ซักพักมันส่ง OTP มา เขาก็กรอกลงไปอีก เท่านั้นล่ะครับ

หมดตัวเลย

มิจฉาชีพเข้าถึงบัญชีเขาแล้วโอนเงินออกหมดเลย ตอนนี้ไปแจ้งความแล้ว ใครที่ใช้งานเว็บไซท์ธุรกรรมการเงิน ระวังกันด้วย

ภาพประกอบจาก Drama Addict

จากภาพตัวอย่างจะเห็นค่อนข้างชัดเจนว่าสัญลักษณ์ของธนาคารกับลิงก์จะเป็นต่างธนาคารกัน ภาพโลโก้ธนาคารจะเป็นของ TTB ส่วนลิงก์จะเป็นธนาคารกรุงเทพ แม้ว่าภาพหน้าธนาคารจะเหมือนหน้าแอปหรือเว็บของธนาคารมาก แต่ผู้ใช้งานก็ต้องสังเกตให้มากเช่นกัน

ที่มา : Drama Addict

related