svasdssvasds

สถิติ "ยุบสภา" ในไทย การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจากอดีต ควรรู้ก่อนเลือกตั้ง 2566

สถิติ "ยุบสภา" ในไทย การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจากอดีต ควรรู้ก่อนเลือกตั้ง 2566

นับถอยหลังเลือกตั้ง 2566 สู่การเข้าคูหาใช้สิทธิเลือกตั้งอีกครั้ง วันนี้จะพาไปย้อนดูสถิติการยุบสภาในประเทศไทย ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจากอดีตถึงปัจจุบัน ถ้านับรวมครั้งนี้เท่ากับว่าไทยเคยผ่านการยุบสภามาแล้วรวม 15 ครั้ง

นับถอยหลังเลือกตั้ง 2566 หลังจากที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุวันนี้ (20 มีนาคม 2566) ว่าพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ทูลเกล้าฯพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว รอประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าอาจจะมีการประกาศในวันนี้ ซึ่งสื่อมวลชนได้ไปถามพล.อ.ประยุทธ์ เช่นกันว่าจะมีการประกาศในเวลาใด ซึ่งนายกรัฐมนตรี กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “ขอให้รอ” 

สถิติ "ยุบสภา" ในไทย การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจากอดีต ควรรู้ก่อนเลือกตั้ง 2566

นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน (2552) บทบัญญัติเรื่องการยุบสภาได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับ ยกเว้น

  • พระราชบัญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475
  • ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502
  • ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515
  • รัฐธรรมนูญแห่งอาณาจักร พุทธศักราช 2519
  • ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 และธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. พุทธศักราช 2534

ซึ่งบทบัญญัติเกี่ยวกับการยุบสภาของรัฐธรรมนูญจะมีหลักการคล้ายกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ไว้ว่า

"มาตรา 108 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่"

สถิติ "ยุบสภา" ในไทย การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจากอดีต ควรรู้ก่อนเลือกตั้ง 2566

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลจาก สถาบันพระปกเกล้า และ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้ย้อนรอยสถิติ "ยุบสภา" ของไทย 75 ปี ตั้งแต่ปี 2481-2556 ได้ใกล้เคียงกัน เมื่อสรุปแล้วพบว่าประเทศไทยมีการประกาศยุบสภามาแล้วทั้งสิ้น 14 ครั้ง (ไม่รวมครั้งล่าสุด ปี 2566)

สถิติ "ยุบสภา" ในไทย การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจากอดีต ควรรู้ก่อนเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ 1 : วันที่ 11 ก.ย.2481

ในรัฐบาล พันเอกพระยาพหลพลหยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐบาลขัดแย้งกับสภาเกี่ยวกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ

ครั้งที่ 2 : วันที่ 15 ต.ค.2488 

ในรัฐบาลม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากสภายืดอายุมานานในช่วงสงคราม หลังจากได้มีพระราชบัญญัติขยายกำหนดเวลาให้อยู่ในตำแหน่งต่ออีก 2 ครั้ง เนื่องจากไม่อาจจัดให้มีการเลือกตั้งในระหว่างสงครามขณะนั้นได้ ทำให้ ส.ส.ชุดดังกล่าวอยู่ในตำแหน่งนานเกินควร

ครั้งที่ 3 : วันที่ 16 ธ.ค.2516 

ในรัฐบาล นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากสมาชิกสภานิติบัญญัติลาออกเหลือ 11 คน จนไม่สามารถทำหน้าที่ของสภาได้ 

ครั้งที่ 4 : วันที่ 12 ม.ค.2519 

ในรัฐบาล ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดปัญหาความแตกแยกและขัดแย้งในคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นรัฐบาลผสมในขณะนั้นอย่างรุนแรง อันเป็นเหตุให้เกิดอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน

ครั้งที่ 5 : วันที่ 19 มี.ค.2526 

ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประชาชนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 

 

ครั้งที่ 6 : วันที่ 1 พ.ค.2529 

ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐบาลขัดแย้งกับสภากรณีการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 

ครั้งที่ 7 : วันที่ 29 เม.ย.2531 

ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีเช่นกัน เนื่องจากเกิดความขัดแย้งภายในรัฐบาล ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความไม่มั่นคงในเสถียรภาพของรัฐบาล และส่งผลให้เกิดอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน 

ครั้งที่ 8 : วันที่ 30 มิ.ย.2535 

ในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากการเป็นรัฐบาลเฉพาะกิจเพื่อยุบสภาภายหลังเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในเดือน พ.ค.2535

สถิติ "ยุบสภา" ในไทย การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจากอดีต ควรรู้ก่อนเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ 9 : วันที่ 19 พ.ค.2538 

ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดความขัดแย้งในรัฐบาล ในหลายพรรคการเมืองและระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลจนไม่สามารถจะดำเนินการทางการเมืองได้อย่างมีเอกภาพ ประกอบกับมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องการออกเอกสารสิทธิให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) 

ครั้งที่ 10 : วันที่ 28 ก.ย.2539 

ในรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดความขัดแย้งในรัฐบาล ภายหลังมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ระหว่างวันที่ 18-20 ก.ย.2539 โดยฝ่ายค้านเน้นอภิปรายที่ตัวนายบรรหาร เรื่องประเด็นสัญชาติ เมื่อการอภิปรายสิ้นสุดลง ที่ประชุมพรรคร่วมรัฐบาลมีมติร่วมกันว่าจะขอให้นายบรรหาร ศิลปอาซา ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งนายบรรหารประกาศจะลาออกภายใน 7 วัน โดยระหว่างนั้นจะพิจารณาบุคคลที่เหมาะสมขึ้นมาเป็นนายกฯ ก่อนจะเปลี่ยนใจประกาศยุบสภาในท้ายที่สุด

ครั้งที่ 11 : วันที่ 9 พ.ย.2543 

ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากปฏิบัติภารกิจสำคัญแล้วเสร็จหรือลุล่วงลง โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 

ครั้งที่ 12 : วันที่ 24 ก.พ.2549 

ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากวิกฤติการณ์ทางการเมืองต่อการขับไล่นายกรัฐมนตรี จากข้อเรียกร้องในทางการเมือง และได้ขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง ถึงแม้รัฐบาลขณะนั้นได้เปิดให้มีการอภิปรายโดยไม่มีการลงมติในที่ประชุมรัฐสภา ก็ไม่อาจแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันระหว่างผู้ชุมนุมเรียกร้องกับรัฐบาล

ครั้งที่ 13 : วันที่ 10 พ.ค.2554 

ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากวิกฤติการณ์ทางการเมืองต่อการขับไล่นายกรัฐมนตรี ประกอบกับรัฐสภาได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2550 ไปเรียบร้อยแล้ว 

ครั้งที่ 14 : วันที่ 9 ธ.ค.2556 

ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากวิกฤติการณ์ทางการเมืองต่อการคัดค้านการออกร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในปี 2556 

และแน่นอนที่สุด เมื่อราชกิจจาประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อใด ครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 15 ของประเทศไทยที่มีการประกาศยุบสภา ภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

สถิติ "ยุบสภา" ในไทย การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจากอดีต ควรรู้ก่อนเลือกตั้ง 2566 สำหรับการ "ยุบสภา" ทุกครั้งจะมีคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่า ครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ เพื่อให้ประเทศไม่เป็นสุญญากาศในการบริหาร แต่รัฐมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น 

เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุของการยุบสภาผู้แทนราษฎรแต่ละครั้ง  ก็พบว่าแต่ละครั้งของการยุบสภาผู้แทนราษฎรล้วนมีเหตุการณ์และเงื่อนไขที่เป็นสาเหตุแตกต่างกันไป ซึ่งพอสรุปถึงสาเหตุใหญ่ 3 ประการหลักๆ  ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ ,ความขัดแย้งภายในพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล , ปัญหาทางการเมืองหรือวิกฤตการณ์ทางการเมือง

แต่การยุบสภา 2566 ครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังการปิดสมัยประชุมสภาแล้ว จึงไม่ได้มีความขัดแย้งระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารแต่อย่างใด น่าจะเป็นเพียงการอำนวยความสะดวกให้นักการเมืองในการย้ายพรรค เพื่อให้มีเวลาครบตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมากกว่า

related