svasdssvasds

รู้ทัน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิต

รู้ทัน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิต

หากรู้สึกแน่น หายใจไม่ออก เจ็บหน้าอกเวลาออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมประจำวัน จนรู้สึกร้าวไปที่ไหล่ ใจสั่น บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ เหงื่อออก หัวใจเต้นแรงผิดปกติ หากพบอาการเหล่านี้ อาจเกิด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ควรรีบพบแพทย์ในทันที เพราะอาจอันตรายถึงชีวิต

ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

เกิดมาจากลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหัวใจที่ตีบแคบอยู่ก่อนแล้ว ถึงจะไม่สามารถรู้ได้ว่าหลอดเลือดจะอุดตันเมื่อใด กล้ามเนื้อหัวใจจะขาดเลือดตอนไหน แต่เมื่อใดก็ตามที่เกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยมักมีอาการแน่นหน้าอกเป็นอาการเตือนที่สำคัญ

ปัจจุบันแม้ผู้ป่วยที่ประสบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งผู้ป่วยก็มีอายุน้อยลง แต่ข่าวดีก็คือ อัตราคนไข้ที่เสียชีวิตจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันลดลง โดยจากสถิติกลุ่มผู้ที่เกิดภาวะดังกล่าวพบว่า ประมาณร้อยละ 10 – 15 เสียชีวิตตั้งแต่ยังมาไม่ถึงโรงพยาบาล ขณะที่ร้อยละ 10 เสียชีวิตที่โรงพยาบาล กลุ่มที่ได้รับการรักษาเร็วก็จะมีโอกาสรอด ความเสียหายต่อกล้ามเนื้อหัวใจจะน้อย สามารถกลับไปมีชีวิตเป็นปกติได้ แต่ถ้ากล้ามเนื้อหัวใจเสียหายมาก แม้จะรอดชีวิต ในระยะยาวผู้ป่วยที่เคยประสบภาวะดังกล่าว ย่อมมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต อาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนกำลังจนบีบตัวไม่ไหว ทำงานหนักขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมีสุขภาพร่างกายเหมือนคนอ่อนแรง เหนื่อยง่าย กลายเป็นผู้ป่วยติดเก้าอี้ ติดเตียง

 

ปัจจัยเสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงและแก้ไขได้ เช่น

  • เพศ จากข้อมูลทางสถิติที่ผ่านมา พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
  • อายุ พบผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในวัยกลางคนขึ้นไปถึงวัยสูงอายุ เพศชายอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป และเพศหญิงอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป
  • พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเดียวกันป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดร่วมด้วย โดยเฉพาะคนในครอบครัวที่เริ่มมีอาการตั้งแต่วัยกลางคนขึ้นไป จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้มากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคนี้ร่วมด้วย

 

ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถเปลี่ยนแปลง และแก้ไขได้

  • โรคประจำตัว หรือโรคที่พบร่วมด้วย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง อ้วน เป็นต้น
  • พฤติกรรมเสี่ยงจากการสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย ภาวะเครียดเรื้อรัง

รักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

หากมีภาวะหลอดเลือดอุดตันเฉียบพลัน วิธีแก้ไขอันดับแรก คือ ต้องทำให้เลือดกลับมาไหลโดยเร็วที่สุด ในอดีตแพทย์จะนิยมให้ยาละลายลิ่มเลือด แต่ปัจจุบันมีการรักษาโดยใช้สายสวนเพื่อขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน ซึ่งเป็นวิธีที่ประสบความสำเร็จกว่าการรับประทานยา

แม้ผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการแสดงที่หลากหลาย แต่กลุ่มผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกร่วมกับอาการผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) ที่เรียกว่า ST Elevation MI (STEMI) เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง เพราะในกระบวนการรักษา ปัจจัยสำคัญที่สุดคือ “ระยะเวลา” โดยกล้ามเนื้อหัวใจจะเริ่มตาย เมื่อขาดเลือดประมาณ 40 นาที ซึ่งในเวลานี้หากทำให้เลือดกลับมาไหลสู่หัวใจได้ ความเสียหายของหัวใจจะน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย ส่วนอีกช่วงเวลาสำคัญที่อาจกล่าวได้ว่าเป็น Golden Period ของการช่วยชีวิตผู้ป่วยที่ดีที่สุด คือประมาณ 4 ชั่วโมง ดังนั้นการวินิจฉัยของแพทย์ที่มีประสบการณ์และมีความชำนาญเฉพาะด้านจึงมีความสำคัญ เพราะจะทำให้วินิจฉัยการรักษาอย่างเหมาะสมและทันเวลา โอกาสช่วยชีวิตผู้ป่วยให้รอดได้มาก ปัจจุบันเริ่มมีการขยายระยะเวลาเปิดหลอดเลือดไปถึง 12 ชั่วโมง  แม้โอกาสดังกล่าวจะเหลือน้อยมาก แต่ก็ถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการรักษาชีวิตผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด 

 

ข้อมูลขาก : โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ , โรงพยาบาลเปาโล

related