SHORT CUT
ลดความเหลื่อมล้ำ หรือรีดเลือดกับชนชั้นกลาง? มุมมอง "ศิริกัญญา" หลังขุนคลังเปิดประเด็นเก็บ Vat 15% เผยถ้าเป็นรัฐบาลจะเก็บภาษีจากคนที่ยังไม่จ่ายมากกว่า
หลังจากที่ "พิชัย ชุณหวชิร" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกมาเปิดประเด็นว่ากำลังศึกษา "การปรับโครงสร้างภาษี" ในสูตร 15:15:15 คือ ปรับ "ลด" ภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 20 เป็น 15% "เปลี่ยน"ระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบขั้นบันไดเป็นอัตราคงที่ที่ 15% และ "เพิ่ม"ภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7 เป็น 15% เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมให้การจัดเก็บภาษีสอดคล้องกับเศรษฐกิจมากขึ้น
SPRiNG ได้มีโอกาสพูดคุยกับ "ศิริกัญญา ตันสกุล" สส.และรองหัวหน้าพรรคประชาชน ที่มองว่าแนวคิดดังกล่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดูจะไม่ได้ตอบโจทย์ "ลดความเหลื่อมล้ำ" แต่เป็นการสร้างภาระให้ "เดอะแบก" ของสังคม นั่นคือคนชั้นกลางที่เป็นมนุษยเงินเดือน อยู่ในระบบภาษี ให้รับภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามากขึ้นกว่าเก่า "คนที่รายได้น้อยเสียภาษีเพิ่มขึ้น แต่คนที่มีรายได้เยอะจะเสียภาษีลดลง" แทนที่จะไปเก็บภาษีจากส่วนที่รัฐยังจัดเก็บไม่ได้ เช่น ร้านค้าออนไลน์ ภาษีค่าเช่า ภาษีที่ดินรวมแปลง
"โครงสร้างภาษีเดิมก็มีปัญหาอยู่ เพราะมีการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% มาเป็น 23% แล้วเหลือ 20% ในปี 2556 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่ในตอนนั้นไม่ได้ไปลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราสูงสุดลงมาด้วย
พูดง่ายๆคือ คนที่รวยและเป็นเจ้าของธุรกิจด้วย เขาก็จะไม่จ่ายเงินผ่านเงินเดือน เพราะเขาเสียภาษีขั้นสุดท้ายที่ 35% แต่ถ้าไปจ่ายเป็นเงินปันผล เขาจะจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคล 20% และหัก ณ ที่จ่ายของเงินปันผลอีก 10% เท่ากับเขาจ่ายภาษีส่วนเพิ่มตรงนี้แค่ 28% ปัญหานี้ไม่เคยได้รับการแก้ไข จนเราพบว่ามีคนจ่ายภาษีที่อัตราสูงสุด 35% อยู่เพียง 40,000 คน จากผู้ยื่นแบบฯ ทั้งหมดกว่า 10 ล้านคน"
ส่วนที่บอกว่าจะปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) ที่แฝงอยู่ในค่าสินค้าและ บริการต่างๆ เป็น 15% นั้น ศิริกัญญา กล่าวว่า คนชนชั้นกลางเป็นกลุ่มที่จ่าย Vat เยอะที่สุด เมื่อเทียบว่าเราจ่าย Vat เท่าไรเมื่อเทียบกับรายได้ พบว่าคนจนจ่าย Vat 2.2% เมื่อเทียบกับรายได้, คนที่รวยที่สุด จ่าย Vat ประมาณ 2.5% แต่กลุ่มชนชั้นกลางที่จ่าย Vat สูงสุดที่ 2.8% เมื่อเทียบกับรายได้ เพราะคนจนมักจะซื้อของประเภทที่ถูกยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น อาหารสด ข้าว นม จึงมีสัดส่วนน้อยกว่ากลุ่มอื่น ส่วนคนรวยมากๆเขาจะบริโภคได้ระดับหนึ่งเมื่อเทียบกับรายได้เท่านั้น เงินที่เหลือก็เป็นเงินออม ใช้จ่ายอย่างไรก็เฉลี่ยเพียง 2.5% เพราะรายได้เขาสูงมาก ส่วนคนที่อยู่กลางๆ ที่เงินไม่เยอะมากแต่ก็ซื้อของที่จ่าย Vat เยอะด้วยจึงกลายเป็นกลุ่มที่จ่ายมากที่สุด
ส่วนการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 20% เป็น 15% เพื่อดึงดูดการลงทุน ศิริกัญญามองว่า การที่บริษัทต่างชาติจะตัดสินใจลงทุนไม่ได้ดูเฉพาะอัตราภาษี "ถ้าภาษีถูกแต่ค่าไฟแพงเขาจะอยากมาไหม" หรือขั้นตอนการข้อใบอนุญาตวุ่นวายซับซ้อนจะมาไหม ส่วนที่บอกว่าใช้อัตราเดียวกับ OECD เหมือนรัฐบาลจะเข้าใจผิด เพราะเขากำหนดให้ 15% คือ ให้เก็บ "ไม่น้อยกว่า" 15% แต่เหมือนรัฐบาลตีความว่าให้เก็บสูงสุดได้ 15%
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากศิริกัญญาได้มีโอกาสเป็นรัฐบาล ต้องเผชิญความท้าทายเดียวกันทั้งการจัดเก็บรายได้ที่จะลดลงในอนาคตเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และการที่หนี้สาธารณะของประเทศกำลังจะชนเพดาน จะเพิ่มรายได้เข้ารัฐอย่างไร
ศิริกัญญา กล่าวว่า ต้องมีการปรับเปลี่ยนฝั่งรายจ่ายให้มีรูปแบบการใช้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนฝั่งรายได้จะต้องเก็บภาษี "คนที่ยังเก็บไม่ได้ตอนนี้" ให้ได้ก่อน ก่อนจะคิดเรื่องการเก็บภาษีตัวใหม่ๆ เช่น รายได้จากธุรกิจ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ต่างๆ ที่ยังไม่เข้าสู่ระบบภาษี และรายได้จากทรัพย์สิน เก็บภาษีจากค่าเช่าบ้าน คอนโดปล่อยเช่า เก็บได้ครบแล้วหรือไม่ ภาษีจากการขายหุ้นตกลงจะเอาหรือไม่เอา แล้วหลังจากนั้นค่อยคิดว่าจะเก็บภาษีอะไรเพิ่ม
เราคิดว่าไม่ต้องลดภาษีเงินได้นิติบุคคล มีแต่คิดว่าต้องเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำไป ปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ Fair ไม่ให้เกิดการหลบเลี่ยงไปจ่ายเป็นเงินปันผล เก็บภาษีความมั่งคั่งในฐานทรัพย์สิน ภาษีที่ดินแบบรวมแปลง ลดการหลบเลี่ยงภาษีที่ดิน เป็นต้น
"รัฐบาลแค่ทำแผนศึกษา แล้วลองโยนหินถามทางกับประชาชน เราต้องช่วยส่งเสียงว่ารัฐบาลยังคิดไม่ครบทุกมุมโดยเฉพาะความเป็นธรรม ดูเหมือนคุณจะคิดว่าสังคมมีแค่คนรวยกับคนจน แต่มันยังมีชนชั้นกลางที่ต้องคอยรับภาระภาษีทุกทางอยู่ เขาเสียภาษีอย่างซื่อตรงไม่เคยหลีกเลี่ยง ทำอย่างไรไม่ให้เขาแบกภาระมากเกินไป ท้ายสุดต้องคำนวณให้ดีกว่าการจัดเก็บภาษีจะไม่น้อยลงไปกว่าเดิม ถ้าไม่เป็นไปตามแผนที่คุณวางไว้"