ถ่านความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลเริ่มคุกรุ่นอีกครั้ง เมื่อ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยออกมาแสดงท่าทีชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม ที่รัฐบาลเพื่อไทยเสนอเข้าสู่สภา และอยู่ในช่วงรับฟังความคิดเห็น
ท่าทีเช่นนี้ สะท้อนจุดยืนของภูมิใจไทยอย่างชัดเจนอีกครั้ง ทั้งในฐานะพรรคอนุรักษ์นิยมที่มีที่นั่งมากที่สุดในสภา และฝ่ายค้านในรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย
SPRiNG ชวนมองท่าทีทั้งในทางการเมืองและกองทัพต่อกฎหมายฉบับนี้ แต่ละฝ่ายมองเรื่องนี้อย่างไร และมีความเป็นไปได้แค่ไหนที่กฎหมายต้านรัฐประหารฉบับนี้จะถูกนำมาใช้จริง
หากสรุปเนื้อหาของกฎหมายนี้คร่าวๆ คือ ให้อำนาจฝ่ายการเมืองในการแทรกแซงการแต่งตั้งบุคลากรเหล่าทัพ และให้อำนาจในการยับยั้งรัฐประหาร ซึ่งในมุมกองทัพเรียกได้ว่า ‘ล้วงลูก’ กันอย่างชัดเจน
หากจะย้อนที่มาที่ไปของกฎหมายนี้ ต้องเริ่มตั้งแต่ พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 ได้มีการแก้กฎหมายให้การแต่งตั้งนายพลต้องผ่าน ‘บอร์ด 7 เสือกลาโหม’ ซึ่งประกอบด้วย รมต.กลาโหม, รมช.กลาโหม, ผบ.ทสส., ผบ.ทบ., ผบ.ทอ., ผบ.ทร. และปลัดกลาโหม โดย 7 เสือจะเป็นผู้เคาะรายชื่อบัญชีแต่งตั้ง ก่อนส่งให้นายกฯ กราบบังคมทูลฯ ไม่เปิดช่องให้มีการทบทวนหรือแก้ไขรายชื่อ
หรือแปลว่ากฎหมายในปี 2551 ปิดช่องไม่ให้ฝ่ายการเมืองมีสิทธิออกความเห็นในการแต่งตั้งขุนศึกของกองทัพ และทำให้กองทัพปลอดการเมืองจนกลายเป็น ‘รัฐอิสระ’ มีอำนาจในการแต่งตั้งและตรวจสอบกำลังพลกันและกันเอง
ในมุมของพรรคเพื่อไทยเรียกว่าเข้าใจได้ เพราะพวกเขาคือพรรคที่ถูกรัฐประหารถึง 2 ครั้งซ้อน ครั้งแรกขณะ ‘นายใหญ่’ เดินทางไปประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ที่เมืองนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะที่อีกครั้งเกิดขึ้นในสมัย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วยน้ำมือของ ผบ.ทบ.ที่เคยเดินเคียงข้างเธอเอง
ขณะที่อีกมุม กฎหมายฉบับนี้คือการเรียกคืนคะแนนนิยมจากฝั่งเสรีนิยมในสังคมไทย เป็นการตะโกนออกไปว่าเพื่อไทยยังคงยึดมั่นในอุมดการณ์ประชาธิปไตยเหมือนเช่นที่ผ่านมา
ถึงแม้กฎหมายฉบับนี้จะไม่ผิดครรลองประชาธิปไตย แถมยังเป็นการทำให้กองทัพอยู่ใต้การเมือง อย่างที่อารยะประเทศควรจะเป็น แต่การเสนอกฎหมายที่หุนหันพลันแพล่น ก็ทำให้เกิดแรงเสียดทานและต่อต้านอย่างรุนแรง ทั้งจากฝากกองทัพและพรรคร่วมรัฐบาลสายอนุรักษ์นิยม เช่น พรรคภูมิใจไทยและพลังประชารัฐ
สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงตั้งคำถามกับท่าทีของเพื่อไทยว่า ได้มีการหารือกับกองทัพก่อนหรือไม่? เพราะท่าทีที่ออกมาคล้ายกระทำโดยพลการ และอาจไม่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้เลย
ขณะที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และที่ปรึกษาด้านความมั่นคงในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แสดงความเห็นว่า เรื่องนี้มีปัญหาทั้งสองฝ่าย
ฝ่ายกองทัพเองมีปัญหา เพราะกฎหมายปี 2551 ทำให้กองทัพกลายเป็น ‘รัฐอิสระ’ ขณะที่ฝ่ายการเมืองเอง ไม่ควรแสดงท่าทีล้วงลูกกองทัพเช่นนี้ เพราะหลายตำแหน่งในกองทัพต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และมีแต่ทหารที่รู้เรื่องดีที่สุด อำนาจที่ฝ่ายการเมืองควรมีคือการสั่งให้ทบทวนรายชื่อผู้ที่ถูกแต่งตั้ง ด้วยเหตุผลเช่น ชื่อเสียงบุคคลดังกล่าวไม่ดี ประเทศเพื่อนบ้านไม่ยอมรับ ไม่ใช่มีอำนาจในการเสนอตัวบุคคลเสียเอง
นี่คือการ ‘พบกันครึ่งทาง’ ในมุมของ พล.ท.ภราดร นายทหารอาชีพที่เชื่อถือได้คนนึง และพรรคเพื่อไทยก็เคยเชื่อมั่นเขามาแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าภายใน 3 เหล่าทัพมีการตั้งวงคุยเรื่องกฎหมายฉบับนี้กันอย่างหนัก และมีท่าทีชัดเจนออกมาว่าไม่เห็นด้วย ด้วยเหตุผล ดังนี้
- สิ่งที่เกิดขึ้นกับ ตร.เป็นภาพสะท้อนของการแทรกแซงภาคการเมืองจนระบบยับเยิน ยกตัวอย่าง พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล ที่ขึ้นตำแหน่งพรวดพลาดนำเพื่อนร่วมรุ่น ตร.
- กองทัพมีสายบังคับบัญชาที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
- ทหารให้ความสำคัญเรื่อง “รุ่น”
- เป็นการลดทอนพระราชอำนาจหรือไม่ เพราะพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ‘จอมทัพไทย’
- ความเชื่อว่า ‘ขุนศึกต้องเลือกม้าเอง’ ถ้าคนอื่นเลือกมา ขี่ไม่เป็น อาจรบแพ้ได้
ท่าทีของ ‘เสี่ยหนู’ เป็นที่น่าจับตามองยิ่งนัก เพราะออกมาแสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับกฎหมายข้อนี้ ถึงแม้ท่าทีแบบนี้ ไม่อาจทำความเข้าใจได้ด้วยเลนส์ประชาธิปไตย แต่ในมุมของการเมืองแบบไทยๆ อาจพอทำความเข้าใจได้บ้าง
เพราะนอกจากพรรคภูมิใจไทยจะปักจุดยืน ‘อนุรักษ์นิยม’ อันดับ 1 และถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นคู่ต่อสู้ที่สมน้ำสมเนื้อกับพรรคการเมืองซีกเสรีนิยมในการเลือกตั้งครั้งหน้า ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยต่างก็มีภาพคัดง้างอำนาจกันให้เห็นอยู่เป็นระยะ
เช่น นโยบายกัญชาเสรี ที่เพื่อไทยย้ำแล้วย้ำอีกว่าไม่เห็นด้วยกับกัญชาเสรี ขณะที่ภูมิใจไทยผู้เป็นเจ้าของนโยบายยังยืนยันจะเดินหน้าต่อ
นโยบายเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่พรรคเพื่อไทยชูขึ้นเพื่อดึงเงินใต้ดินขึ้นมาบนดิน ทางพรรคภูมิใจไทยกลับตั้งโต๊ะแถลงว่าไม่เห็นด้วย โดยอ้างว่ายังไม่เห็นประโยชน์ที่มากพอต่อรัฐและประชาชน
หรือนโยบายจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เพื่อไทยเดินหน้าแก้กฎหมายประชาติ ปลดล็อกเสียงข้างมาก 2 ชั้น แต่เครือข่าย สว.สีน้ำเงินกลับเดินหน้าค้าน
และยังมากฎหมายจัดเรียบกลาโหมล่าสุดอีก ภาพของพรรคภูมิใจไทยจึงดูคล้าย ‘ฝ่ายค้าน’ ในซีกรัฐบาลอยู่บ่อยครั้ง จึงเป็นเรื่องน่าติดตามดูต่อไปว่า ความไม่ลงรอยครั้งนี้จะนำไปสู่รอยร้าวที่ชัดเจนขึ้นระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยอีกหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าก่อนหน้านี้ ครม.เคยตีตก ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ที่เสนอโดยพรรคประชาชนมาแล้ว ขณะที่ ภูมิธรรม เวชชชัย รองนายกฯ ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าการยื่นกฎหมายดังกล่าวเป็นเพียงจุดยืนเฉพาะบุคคล นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยยังมีภารกิจสำคัญในการนำตัวยิ่งลักษณ์กลับบ้านอีก
จึงไม่น่าตกใจถ้าท้ายที่สุดแล้ว ร่างกฎหมายต้านรัฐประหารฉบับเพื่อไทยจะเป็นเพียงหมากเพื่อเอาใจฐานเสียงฝั่งเสรีนิยม ก่อนหายไปในหลุมอากาศ ด้วยข้ออ้างว่าสังคมไทยยังไม่พร้อม..