ปัจจุบัน คำว่า ‘สวนสัตว์มนุษย์ (Human Zoo)’ ถูกนำมาใช้เพื่อเปรียบเปรยพฤติกรรมที่มนุษย์คนหนึ่งด้อยค่ามนุษย์อีกคนหนึ่งที่มีสถานะต่ำกว่า เพื่อเหตุผลด้านความบันเทิง เช่น จุดไฟเผาเส้นผม ตลอดจนท้าให้กินของสกปรกหรือดื่มเหล้าจนหมดขวด เพื่อแลกกับเงินจำนวนหนึ่ง
ถึงแม้คำว่าสวนสัตว์มนุษย์จะกลายเป็นคำเปรียบเปรยไปแล้วในปัจจุบัน แต่ย้อนกลับไปไม่ถึง 70 ปีที่แล้ว ในเมืองบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม มีการจัดงานแสดงโชว์ ‘สวนสัตว์มนุษย์ (Human Zoo)’ เกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายของโลก
วันนี้ SPRiNG จึงอยากชวนมาย้อนเหตุการณ์วันนั้น เพื่อสะท้อนว่ามนุษย์สามารถโหดร้ายต่อมนุษย์ด้วยกันได้มากขนาดไหน และเราควรเรียนรู้อะไรบ้างจากประวัติศาสตร์
ไม่มีการบันทึกที่แน่นอน แต่นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อกันว่า หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดของสวนสัตว์มนุษย์มาจากภาพภาพวาดฝาผนังในสมัยอียิปต์โบราณ โดยภาพดังกล่าวเป็นภาพเหมือนของคนหลากสีผิวยืนติดกัน ทั้งผิวดำ, ขาว หรือน้ำตาล ที่กลายเป็นเชลยศึกและถูกพาตัวมาเดินโชว์รอบเมือง
ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่สุดของสวนสัตว์มนุษย์เกิดขึ้นควบคู่ไปในยุคล่าอาณานิคม เมื่อชาวตะวันตกเดินทางเข้าไปในดินแดนแอฟริกา แต่นอกจากบุกยึดดินแดน แย่งชิงทรัพยากร อีกสิ่งหนึ่งที่พวกเขาทำคือ การค้าทาส
การค้าทาสนั่นเองที่ต่อมากลายเป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงโชว์สวนสัตว์มนุษย์ คนแอฟริกัน, คนอินเดียนแดง หรือแม้แต่คนจีน ถูกนำมาแสดงโชว์ในกรงขังไม่ต่างจากสัตว์ในทั่วประเทศยุโรป ไม่ว่าเยอรมนี, สวิตเซอร์แลนด์, อังกฤษ, ฝรั่งเศส หรือออสเตรีย
แนวคิดที่สนับสนุนแนวคิดสวนสัตว์มนุษย์ตลอดศตวรรษที่ 19 และ 20 คือ วิทยาศาสตร์ของการเหยียดเชื้อชาติ คนตะวันตกในสมัยนั้นมองว่า คนเหล่านี้เป็นมนุษย์ด้อยกว่าตน และถูกนำไปศึกษาในฐานะตัวอย่าง เช่น ในงานนิทรรศการแห่งชาติที่เจนีวาในปี 1896 นักวิทยาศาสตร์ได้นำคนผิวสี 15 คนมาเปรียบเทียบสีผิวและขนาดกะโหลก เพื่อแสดงให้เห็นว่าขนาดกะโหลกมีผลต่อระดับอารยธรรมและความสามารถทางจิตใจ อันเป็นแนวคิดพื้นฐานของการเหยียดเชื้อชาติมาจนถึงปัจจุบัน
สวนสัตว์มนุษย์และวิทยาศาสตร์ของการเหยียดเชื้อชาติ จึงเป็นเหมือนคู่หูที่ทำให้วัฒนธรรมการเหยียดเชื้อชาติฝึกรากลึงลงไปในสังคมตะวันตก และกลายเป็นปัญหาที่ยาวนานเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2501 ประเทศเบลเยียมยังคงปกครองประเทศคองโก ดินแดนในทวีปแอฟริกาที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวเองถึง 80 เท่า คองโกมอบทรัพยากรมหาศาลให้เบลเยียม ขณะที่ชาวคองโกจำนวนมากถูกพามาสู่ทวีปยุโรป เพื่อค้าทาสและแสดงโชว์ในสวนสัตว์มนุษย์
ในปีนั้นเอง เบลเยียมเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo '58 หรือบรัสเซลส์เวิลด์แฟร์ งานที่ถูกใช้เพื่อสะท้อนความก้าวหน้าทางวิทยาการและความยิ่งใหญ่ของผู้จัด อย่างไรก็ตาม ณ ศูนย์กลางของงานได้มีการจัดแสดงนิทรรศกาล ‘Kongorama’ ซึ่งเป็นการโชว์สวนสัตว์มนุษย์ของชาวคองโก
ในพื้นที่ตรงนั้น ชาวคองโกจำนวน 598 คน ซึ่งรวมถึงชาย 273 คน หญิง 128 คน และเด็ก 197 คน ซึ่งทั้งหมดล้วนถูกพาตัวมาจากแอฟริกา ถูกสั่งให้สวมชุดพื้นเมืองและสวมบทบาทแสดงวิถีชีวิตประจำวันอยู่ในกระท่อมหญ้าแฝก พร้อมกับโชว์วิถีชีวิตในคองโก เช่น การทำเหมือง, เกษตรกรรม, การขนส่ง ตลอดจนแสดงพื้นเมืองชาวคองโกเอง
“บางคนก็ไม่มีปฏิกิริยา แต่บางคนก็โยนเงินหรือกล้วยข้ามรั้วไม้ไผ่เข้าไป” นักข่าวคนหนึ่งจดบันทึกเหตุการณ์ในวันนั้น
สุดท้ายสวนสัตว์มนุษย์ครั้งดังกล่าวก็ต้องปิดตัวลงก่อนงานจบ เพราะชาวคองโกจำนวนมากต่อต้านและเดินทางกลับ ก่อนที่อีก 2 ปีต่อมาประเทศคองโกจะได้รับเอกราช และปิดฉากการกดขี่สวนสัตว์มนุษย์อย่างเป็นทางการครั้งสุดท้ายบนโลก
อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน ‘สวนสัตว์มนุษย์’ ยังคงอยู่ เพียงแต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นอย่างอื่นที่ลดทอนคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แทน