svasdssvasds

จี้ทำประชามติ Entertainment Complex ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วม

จี้ทำประชามติ Entertainment Complex ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วม

จี้ทำประชามติ Entertainment Complex ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วม หากคิดว่าทุกฝ่ายได้ประโยชน์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจ

SHORT CUT

  • นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง มั่นใจว่าเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์จะเป็นตัวเปลี่ยนเกมเศรษฐกิจไทย
  • รศ.ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เตือนว่าโครงการเอนเตอร์เทนเมนต์คอมแพล็กซ์สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดทุจริตเชิงนโยบาย
  • รศ.ดร.ชิดตะวันยังชี้ว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้หาเสียงเรื่องกาสิโน และการดำเนินการอาจไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงเสนอให้รัฐบาลทำประชามติก่อน

จี้ทำประชามติ Entertainment Complex ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วม หากคิดว่าทุกฝ่ายได้ประโยชน์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวในงานเสวนากรุงเทพธุรกิจ Roundtable หัวข้อ Entertainment Complex Game Changer for Thailand วันนี้ ว่าในเรื่องของเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์รัฐบาลมีการขับเคลื่อนร่างกฎหมาย พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ... มาอย่างต่อเนื่องโดยมีการศึกษาเรื่องนี้ในคณะทำงานของสภาผู้แทนราษฎรมากว่า 2 ปี และได้นำเสนอร่างกฎหมายมายัง ครม.เพื่อนำเอากฎหมายที่มีการยกร่างมาปรับปรุงให้สมบูรณ์โดยล่าสุดนั้นได้มีการปรับปรุงร่างกฎหมายร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งมีการปรับปรุงร่างกฎหมายให้มีความรัดกุมมากขึ้นโดยอยู่ในขั้นตอนการนำเอาร่างกฎหมายที่มีการปรับปรุงแล้วกลับมาสู่การพิจารณาของ ครม.อีกครั้งในเร็วๆ นี้

จี้ทำประชามติ Entertainment Complex ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วม

จากนั้นจะมีการส่งเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อพิจารณาในวาระที่ 1 เพื่อให้มีการตั้งกรรมาธิการในการศึกษาและปรับปรุงกฎหมายโดยรัฐบาลพร้อมที่จะรับฟังข้อกฎหมายจากทุกภาคส่วนเพื่อให้กฎหมายมีความสมบูรณ์ที่สุด

นายจุลพันธ์ กล่าวว่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตลดลงเรื่อยๆจนเหลือเติบโตเฉลี่ยแค่ 2% เท่านั้น รัฐบาลเห็นว่าการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับนี้ไม่เพียงพอเพราะเมื่อเศรษฐกิจโตต่ำทุกคนก็จะลำบากรัฐบาลจึงต้องหาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ๆ โดยในเรื่องของการผลักดันนโยบายเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ถือเป็นโมเดลทางธุรกิจใหม่ที่ได้ผลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและประสบความสำเร็จ เช่น สิงคโปร์ ดูไบ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ที่กำลังจะสร้างขึ้นมาที่โอซากา ซึ่งแนวทางของนโยบายนี้ก็ตรงกับที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายไว้ในเรื่องของการสร้างสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ที่มนุษย์สร้างขึ้น (man made destination) โดยรูปแบบที่วางไว้ไม่ได้เป็นโมเดลเหมือนกับบางประเทศในอาเซียนที่มีแค่ตึกที่เป็นกาสิโนซึ่งไม่ประสบผลสำเร็จ

แต่ประเทศไทยได้มีการกำหนดกฎหมายว่าในการสร้างเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ซึ่งต้องมีกาสิโนในพื้นที่ไม่เกิน 10% ของพื้นที่ ส่วนที่เหลือต้องมีการสร้างกิจการอื่นๆอีกอย่างน้อย 4 อย่างในพื้นที่เดียวกันโดยคาดหวังเงินลงทุนระดับ 1 แสนล้านบาทต่อแห่ง  โดยเลือกกิจการจากบัญชีแนบท้ายที่มาลงทุนเพิ่ม เช่น การสร้างสวนสนุกระดับโลก สนามกีฬาขนาดใหญ่ คอนเสิร์ตฮอลล์ โรงแรมขนาดใหญ่ หรือร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์ ซึ่งจะตอบโจทย์เรื่องการสร้างเศรษฐกิจ จ้างงาน และพัฒนาพื้นที่ที่เป็นโซนการใช้เวลาร่วมกันของคนในครอบครัว

ซึ่งเมื่อมีการพัฒนาพื้นที่ในลักษณะนี้จะมีการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว และรายได้จากนักท่องเที่ยวมากขึ้น เหมือนกับที่สิงคโปร์ประสบผลสำเร็จสามารถเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวได้ 5-25% หลังจากสร้างเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ส่วนของไทยหวังว่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 40,000 บาทเป็น 60,000 บาทต่อคนต่อทริป ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น 5-10%

สำหรับการกำกับดูแลซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสำคัญตาม พ.ร.บ.ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการใน 2 ระดับได้แก่คณะกรรมการนโยบาย และคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายโดยคณะกรรมการนโยบายจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานซึ่งเท่ากับว่าเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบสูงสุดที่จะต้องขับเคลื่อนให้มีความรอบคอบ โปร่งใส ไม่มีปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่น การลงทุนจะไม่มีทุนสีเทาเข้ามาต้องมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด และเกณฑ์ในการลงทุนที่กำหนดไว้ว่าจะมีการกำหนดให้ลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาทก็จะต้องมีการดูกลุ่มลงทุนที่จะเข้ามาที่มีการตรวจสอบได้

“ในการกำกับดูแลเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานคณะกรรมการนโยบาย หมายความว่าการขับเคลื่อนในเรื่องนี้ต้องมีความโปร่งใส และไม่มีการคอร์รัปชั่น ผู้รับใบอนุญาตก็ต้องมีมาตรฐานระดับโลกกำกับดูแล ไม่ใช่เป็นทุนสีเทาที่จะเข้ามาหาประโยชน์ เรื่องนี้ต้องรัดกุม รอบคอบมากที่สุด”

นายจุลพันธ์กล่าวต่อว่าอย่างไรก็ตามนอกจากขั้นตอนทางกฎหมายการที่จะตัดสินใจว่าประเทศไทยจะมีการลงทุนเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์หรือไม่ นอกจากการทำกฎหมายในรัฐสภา 3 วาระ ยังต้องรอดูผลการศึกษาของคณะกรรมการที่เป็นงานแรกๆของคณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจรที่จะจัดตั้งขึ้นคือการประเมินความคุ้มค่าของการลงทุนที่แท้จริงซึ่งต้องดูว่าผลในการศึกษานั้นคุ้มค่าหรือไม่ซึ่งในส่วนนี้ต้องดูผลการประเมินหากไม่คุ้มค่าก็คงไม่มีการลงทุน แต่หากมีความคุ้มค่าก็มั่นใจว่ากลุ่มทุนระดับโลกจะเข้ามาลงทุนในไทยโดยรัฐบาลพร้อมสนับสนุน

ห่วงคอร์รัปชันส่งผลต่อเอนเตอร์เทนเมนต์คอมแพล็กซ์

รศ.ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า  มิติทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะดำเนินการเรื่องเอนเตอร์เทนเมนต์คอมแพล็กซ์หรือไม่ มี 2 ประเด็นที่ต้องให้ความสนใจ คือ 1.ต้องมีการทุจริตคอรัปชันในระดับที่ต่ำ เนื่องจากการทุจริตคอรัปชัเป็นรากเหง้าของการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพ

จี้ทำประชามติ Entertainment Complex ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วม

เศรษฐกิจทรุด สังคมถดถอย

เมื่อประเทศไม่มีกลไกภาครัฐสามารถกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ หมายความว่าการพนัน กาสิโนที่ควรควบคุมโดยภาครัฐอย่างเข้มงวด ก็จะเป็นการพนันรูปแบบเสรีในทางปฏิบัติ ทั้งหมดนี้จะมาซึ่งปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การฟอกเงิน จำนวนคนติดการพนันเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญอาชญกรรมร้ายแรง การลักภาพตัว การเรียค่าไถ่ ปัญหาการฆาตกรม การช่มขืม ทั้งหมดเป็นผลกระทบต่อเนื่องไปถึงปัญหาเศรษฐกิจ

“การศึกษาในต่างประเทศชี้ชัดว่าอาชญากรรมร้ายแรงที่เพิ่มขึ้นในอัตรา 1 รายต่อ 1 แสนประชากร จะทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง 1 % รวมถึง อาชญากรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากการมีพนันกาสิโน กรณีประเทศฟิลิปปินส์ จะลดการลงทุนจากต่างประเทศถึง 1,16-26 พันล้านเปโซ” รศ.ดร.ชิดตะวัน กล่าว    

ประชากรประเทศส่วนใหญ่มีศักยภาพ ต้องมีสัดส่วนประชากรที่มีรายได้น้อยค่อนข้างต่ำ เพราะผลการศึกษาต่างประเทศชี้ชัดว่ากลุ่มเป้าหมายกาสิโน ทั้งรูปแบบบ่อนกาสิโนที่ตั้งแสตนอโลน ตั้งในรีสอร์ท กลุ่มลูกค้าจะเป็นคนติดการพนันและกลุ่มมีรายได้น้อย ซึ่งประชากรไทยที่อยู่ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐปัจจุบันประมาณ 16 ล้านคน  คิดเป็น 20 %ของประชากรประเทศ

สำหรับประเทศไทยที่กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะมีหรือไม่มี ในเรื่องปัญหาทจุริตคอรัปชั่นไทยอยู่ในระดับวิกฤติ ล่าสุดอยู่อันดับ 107 ประเทศที่มีการคอรัปชันต่ำสุดกับประเทศตุรกีดีกว่าฟิลิปปินส์ แย่กว่าอินโดนีเซีย และเวียดนาม เพราะฉะนั้น เข้าใจว่าสส. รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชน เมื่อเปิดเอนเตอร์เทนเมนต์คอมแพล็กซ์ที่มีกาสิโนแล้ว ไม่อยากให้ประชาชนติดการพนันน แต่กลไกรัฐของไทยที่มีคอรัปชันรุนแรงจะสามารถบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพได้หรือไม่

ชี้ไม่ชอบธรรมต้องทำประชามติ

“พรรคเพื่อไทยไม่ได้มีการชูเรื่องมีกาสิโนไว้ในการหาเสียงเลือกตั้ง และในนโยบาย ก็อาจจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนุญ เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องระวัง เพราะประชาชนไม่อยากไปร้องต่อปปช.ว่าทำไม่ถูกต้อง เมื่อไม่ได้หาเสียงไว้แล้วจะทำก็จะต้องมีการทำประชามติก่อน น่าจะเป็นทางออกที่สวยงาม โดยเฉพาะรัฐบาลเป็นชุดที่เป็นรัฐบาลประชาธิปไตยด้วย” รศ.ดร.ชิดตะวันกล่าว 

ช่องโหว่ทุจริต

รศ.ดร.ชิดตะวัน กล่าวด้วยว่า  ตามกฎหมายที่เขียนไว้ ก็สุ่มเสี่ยงเกิดทุจริตเชิงนโยบายในอนาคต  อย่างเช่น เรื่องกำหฯนดาธรรมเนียใบอนุญาติเป็นไม่เกิน 5,000 ล้านบาท เป็นอัตราสูงสุดที่ไม่สูง ควรปรับแก้ให้เป็นขั้นต่ำ 5,000 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจว่ามีงบประมาณเพียงพอมาแก้ไขหรือเยียวยาผลกระทบ รวมถึง การกำหนดให้อำนาจคณะกรรมการนโยบายเสนออัตราภาษี โดยไม่มีการกำหนดประเภทภาษี และอัตราเปอร์เซ็นต์ ซึ่งในต่างประเทศพบว่ามีการลดหย่อนภาษี จนทำให้ประเทศมีรายได้ต่ำมาก

“กรุงเทพธุรกิจ” จัดเสวนาโต๊ะกลม “Entertainment Complex Game Changer for Thailand” วานนี้ (19 มี.ค.68) โดยมีตัวแทนรัฐบาล เอกชน นักวิชาการ และประชาสังคม ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร ที่รัฐบาลจะสร้าง Man-Made Destinations จุดดึงดูดการท่องเที่ยวแห่งใหม่ และมีการอนุญาตให้มีกิจการกาสิโน

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ความเห็นส่วนตัวในเชิงวิชาการคือ จะทำอย่างไรให้เรื่องนี้เกิดผลเสียน้อยที่สุด โดยเฉพาะการป้องกันคอร์รัปชัน ซึ่งจะแปรผันตามองค์ประกอบ ได้แก่ 1.การผูกขาด (Monopoly) หากมีการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจเฉพาะราย จะทำให้เกิดการผูกขาด และเกิดการเอารัดเอาเปรียบ

จี้ทำประชามติ Entertainment Complex ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วม

2.การใช้ดุลยพินิจของบุคคล (Discretionary) ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้มาจากการตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่มีอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญ รวมทั้งฝ่ายวิชาการที่จะเป็นผู้กำหนดสถานที่ตั้งเอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์

3.ความน่าเชื่อถือ (Accountability) ในการดำเนินโครงการ ซึ่งยังห่วงกังวลประเด็นการตั้งองค์กรอิสระ หรือคณะกรรมการอิสระ ที่แยกจากอำนาจของประชาชน ทั้งที่โดยหลักการจะต้องอยู่ภายใต้ความคิดเห็นของประชาชน มีคนนอกร่วมด้วย และต้องสามารถควบคุม ถอดถอนได้ รวมทั้งต้องรับผิดรับโทษต่อการกระทำ

นอกจากนี้ ในประเด็นเรื่องสถานที่ตั้งเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่จะไปอยู่ในเมืองท่องเที่ยวหลักนั้น ปัจจุบันภาคการท่องเที่ยวเริ่มเห็นสัญญาณการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวแล้ว (Over Tourism) ในบางพื้นที่ ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานเริ่มจะไม่พร้อมรองรับแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่เพิ่มเข้ามาอีก ดังนั้นหากจะเกิดการลงทุนสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ก็ควรที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ บนพื้นที่ซึ่งมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานไว้แล้วในแต่ละภูมิภาคที่เคยมีการลงทุนไว้แล้ว

ขณะเดียวกัน ทีดีอาร์ไอ เคยมีการทำรายงานข้อห่วงกังวลเรื่องนี้ซึ่งระบุว่า การป้องกันการฟอกเงินในกาสิโนจะต้องมีกลไกที่เข้มงวดการแข่งขันการให้ใบอนุญาตที่เป็นธรรม และสำหรับผู้ที่ให้ประโยชน์สูงสุดกับประเทศ นอกจากนี้ ร่างกฎหมายที่ยังมีช่องโหว่ และเปิดให้ใช้ดุลยพินิจมากจนเกินไป ในขณะที่คะแนนการเกิดทุจริตในประเทศก็ไม่ดีนัก

“เห็นด้วยกับนักวิชาการท่านอื่นๆ ว่า การเดินหน้าร่างกฎหมายฉบับนี้ควรมีการทำประชามติ อย่างน้อยที่สุดก็ต้องได้รับความเห็นของคนในพื้นที่ด้วย นอกจากนี้อยากเสนอให้มีการจัดทำรายงานอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรในประเด็นข้อห่วงกังวลต่างๆ และรัฐบาลจะมีการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร”

เตรียมเสนอ ครม.อีกรอบก่อนเข้าสภา

นายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กฎหมายเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ จะเสนอ ครม.เร็วๆ นี้ หลังแก้ไข และปรับปรุงร่างกฎหมายในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้กฎหมายรัดกุมมากขึ้น

จี้ทำประชามติ Entertainment Complex ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วม

สำหรับสาระสำคัญที่เพิ่มเข้ามา เช่น การกำหนดพื้นที่กาสิโน 10% การกำหนดเงื่อนไขคนไทยที่จะเล่นกาสิโนต้องมีเงินในบัญชีไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท การกำหนดพื้นที่ในเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ให้เป็นพื้นที่ในการจัดแสดงศิลปะวัฒนธรรม 10% และการห้ามโฆษณา

ทั้งนี้ หลังจากผ่าน ครม.แล้วจะหารือปรับแก้ในชั้นคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งเป็นตัวแทนภาคประชาชนและรัฐบาลที่จะทำงานร่วมกัน เพื่อให้กฎหมายตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากที่สุด ซึ่งคาดว่าขั้นตอนการจัดทำข้อกฎหมายที่จะออกมาเป็น พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรจะแล้วเสร็จภายในปี 2568

สำหรับกลไกในการบริหาร และกำกับดูแลเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์จะให้อำนาจกับคณะกรรมการใน 2 ระดับ ส่วนแรกจะเป็นคณะกรรมการนโยบายซึ่งมีหน้าที่ และอำนาจในการกำหนดนโยบายของสถานบันเทิงครบวงจร การกำหนดอัตราภาษีที่จะมีการเก็บจากผู้ประกอบการ ทั้งในส่วนของการบริหารจัดการการป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานบันเทิงครบวงจร 
รวมทั้งกำหนดจำนวนใบอนุญาต และพื้นที่การประกอบสถานบันเทิงครบวงจร รวมทั้งการขออนุญาต และเลิกประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ประเภทกิจการที่อาจดำเนินการได้ในสถานบันเทิง

คุมเข้มเงื่อนไขลงทุนสถานบันเทิงครบวงจร

นอกจากนี้กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารโดยมีผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการสถานบันเทิงครบวงจรที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นประธาน โดยคณะกรรมการบริหารจะมีอำนาจหน้าที่หลายอย่าง โดยที่สำคัญคือ การทำหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกในการรวบรวมใบอนุญาต (ไลเซนส์) ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการในเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ 

ทั้งนี้ เพราะการลงทุนของผู้ที่ได้ไลเซนส์จะลงทุนในธุรกิจที่เป็นกาสิโนก่อนสำนักงานฯ จะทำหน้าที่ในการเร่งรัดการออกใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องของกิจการอื่น เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และกิจการที่เกี่ยวข้องที่ต้องการมาลงทุน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน 

ขณะเดียวกันสำนักงานจะทำหน้าที่ในการควบคุมแผนเยียวยาสังคม และประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการเกิดขึ้นของเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ซึ่งจะทำหน้าที่ในส่วนนี้โดยไม่ต้องมีการตั้งหน่วยงานราชการใหม่ขึ้นมาดำเนินการ

ส่วนการกำหนดบุคคลที่เข้าไปเล่นในกาสิโน สามารถจะกำหนดเพิ่มได้เช่นไม่ให้คนที่เข้าไปเล่นเป็นบุคคลในครอบครัว หรือบางอาชีพเช่น นักการเมือง และข้าราชการระดับสูง เข้าไปเล่นในกาสิโนซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับที่สิงคโปร์ดำเนินการ

“รูปแบบของสิงคโปร์มีการกำหนดไม่ให้บุคคลบางอาชีพเข้าไปเล่นในกาสิโน เช่น นักการเมือง และข้าราชการระดับสูง ในไทยเมื่อเราทำกฎหมายเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เราอาจกำหนดกฎหมายในลักษณะนี้สำหรับในประเทศไทยเช่นกัน”

ตั้ง 5 เกณฑ์คัดเลือกผู้เข้ามาลงทุน

สำหรับในส่วนของการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ประกอบการมาลงทุนในเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์คณะกรรมการนโยบายฯได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ 5 ข้อ ได้แก่ 

1.มูลค่าการลงทุน

2.แผนงานในการจ้างงาน และพัฒนาทักษะแรงงานให้คนไทย

3.กิจการลงทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพนันซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งในเรื่องนี้จะเป็นข้อเสนอที่คณะกรรมการจะพิจารณาจากข้อเสนอตามที่เราต้องการให้เกิดการลงทุน เช่น สนามกีฬาขนาดใหญ่ คอนเสิร์ตฮอลล์ พิพิธภัณฑ์ระดับโลก ศูนย์แสดงสินค้า และนิทรรศการ เป็นต้น

4.แผนการเยียวยา แก้ปัญหาผลกระทบจากสังคม

5.มูลค่าใบอนุญาตที่จะมีการเสนอราคาให้กับรัฐบาล

“การทำเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์จะมีรายได้เข้ามามาก จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่ใช่การพนัน (non gambling)โดยในการคำนวณตัวเลขทางเศรษฐกิจ ที่กำหนดให้มีการลงทุนแห่งละแสนล้าน รัฐบาลคิดในเรื่องของมูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มลงทุน ทั้งในเรื่องเม็ดเงิน และเรื่องการจ้างงาน” นายศึกษิษฏ์ กล่าว

“สมาคมโรงแรม” แนะปักหมุดเดสติเนชั่นใหม่

นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ยังมีความไม่ชัดเจนหลายด้าน และมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมทั้งพื้นที่โครงการซึ่งอาจอยู่ในเมืองท่องเที่ยวหลักของไทย ได้แก่ กรุงเทพฯ จำนวน 2 แห่ง ภูเก็ต เชียงใหม่ และพัทยา

จี้ทำประชามติ Entertainment Complex ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วม

ทั้งนี้ในแง่การท่องเที่ยวหากจะแจ้งเกิดเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์นั้น น่าจะต้องเป็นจุดหมาย หรือเดสติเนชั่นใหม่ และควรจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนในแต่ละจังหวัดหรือพื้นที่นั้นๆ ว่าเห็นด้วยหรือไม่
ทั้งนี้ จะเห็นว่าการลงทุนใน 5 พื้นที่ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก สร้างรายได้สูง และมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ในปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐาน และทรัพยากรบางอย่างอาจไม่เพียงพอกับความต้องการของนักท่องเที่ยวแล้ว เช่น ภูเก็ต และพัทยา อย่างในช่วงหน้าร้อนระบบน้ำเกิดปัญหาไม่เพียงพอกับนักท่องเที่ยวที่เข้ามา

ดังนั้น ภาครัฐจึงควรเลือกใช้แนวทางหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ แห่งที่ 6 เพื่อให้เป็นเดสติเนชั่นแห่งใหม่ และอยู่ในทำเลไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เพื่อทำให้การเดินทางสะดวก และเชื่อมต่อระบบขนส่งที่หลากหลาย

“ในเชิงท่องเที่ยวเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์เป็นการรวบรวมความหลากหลาย รองรับกลุ่มครอบครัวที่เข้ามาซึ่งจุดหรือพื้นที่ใกล้โครงการจะได้รับประโยชน์อย่างมาก และโดยส่วนตัวสนใจเมืองลาสเวกัสสหรัฐ พัฒนาจากเมืองทะเลทรายสร้างเอนเทอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์จนเกิดความเจริญ ทำให้เมืองสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว”

ขอกฎหมายชัดเจนหวั่นช่องโหว่แหล่งฟอกเงิน

ดังนั้นสิ่งสำคัญของประเทศไทยคือ การวางกรอบกฎหมายให้ชัดเจนในทุกมิติ รวมทั้งการปักหมุดลงทุนบนพื้นที่แห่งใหม่ ซึ่งสามารถจัดทำเป็นเขตประกอบการพิเศษ เพื่อให้ใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจ ยกตัวอย่างที่ชัดเจนในต่างประเทศที่มีการสร้าง Man-made Destination อย่างยูนิเวอร์แซล มีลงทุนโครงการนอกเมืองทั้งสิ้น

นอกจากนี้ภาครัฐต้องวางกรอบกฎหมายปิดช่องโหว่ที่สร้างความวิตกกังวลให้คนในประเทศ โดยที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎหมายของไทยค่อนข้างเป็นปัญหา โดยดูจากการประกอบธุรกิจโรงแรมของประเทศไทย ยังมีโรงแรมผิดกฎหมายเปิดให้บริการจำนวนมาก ดังนั้น หากประเทศไทย ไม่มีกรอบกฎหมายชัดเจน จึงอาจเกิดช่องโหว่กลายเป็นแหล่งของการฟอกเงินของกลุ่มทุนสีเทา

“ยังไม่มีความชัดเจนของกรอบกฎหมายในเรื่องคุณสมบัติของผู้เข้าไปใช้บริการ และข้อกำหนดเรื่องการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เช่น หากมีปัญหาเรื่อง การผ่อนชำระเงินกับสถาบันการเงิน หรือ คุณสมบัติของผู้บริหารระดับสูงสุดของสถาบันต่างๆ เข้าใช้บริการได้หรือไม่”

อย่างไรก็ตาม หากลงทุนสร้างเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์โดยไม่มีกาสิโนนั้น มองว่า ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากประเทศต้องการโครงการลงทุนในรูปแบบใหม่ และเม็ดเงินลงทุนใหม่เข้ามาในประเทศ

กฎหมายไม่ชัดเจนหลายประเด็น

นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า ร่างกฎหมายกำหนดให้กาสิโนปล่อยวงเงินให้ผู้เล่น และไม่ชัดในเงื่อนไข รวมถึงการดูแลผลกระทบเขียนไว้อ่อนมาก ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลลดผลกระทบ รวมทั้งไม่มีกองทุน และไม่มีโครงสร้างการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น และไม่ชัดเจนเรื่องจุดที่จะตั้งเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ซึ่งจะต้องรับฟังเสียงความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ 

จี้ทำประชามติ Entertainment Complex ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วม

“กฎหมายเขียนไว้หลวมมาก ถ้าสุดท้ายทำแล้วล้มเหลว นักท่องเที่ยวไม่มา และไม่มาตลอด ในระยะยาวต้องผ่อนปรนกติกาลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นให้คนในประเทศเล่น และการบังคับใช้กฎหมายที่เจ้าหน้าที่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ที่สุดจะเป็นการเปิดพื้นที่การพนันอย่างเข้มให้คนในประเทศเล่นด้วยความหย่อนยานทางนโยบาย ก็ทำให้คนในประเทศติดพนันมากขึ้น”

หากรัฐบาลจะทำเรื่องนี้ กฎหมายต้องรัดกุมมากกว่านี้ รัฐบาลควรกลับไปทำเรื่องนี้ใหม่ ศึกษาให้ชัดเจน เสนอแผนเป็นรูปธรรมให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น จึงไม่เห็นด้วยที่จะเดินต่อตามร่างกฎหมายฉบับปัจจุบันที่มีจุดอ่อนจำนวนมาก ถ้ารัฐบาลใจกว้างสามารถตัดสินใจทำประชามติได้ทันที หรือถ้าไม่ทำ ขอให้รอประชาชนที่กำลังรวบรวม 50,000 รายชื่อที่จะขอให้มีการทำประชามติ อย่าทำเหมือนไม่รอประชาชนจากการที่จะเร่งสปีดเรื่องนี้ 

เสนอกลับแก้ พ.ร.บ.การพนัน

นายธนากร กล่าวว่า การจะมีกาสิโนเป็นเรื่องใหญ่ และรัฐบาลจะทำการพนันออนไลน์ถูกกฎหมายด้วย นี่คือแฝดนรก ตีคู่มาด้วยกันน่าหวาดเสียวมาก หากจะเสนอเรื่องนี้ การคิดทำกาสิโน คือ พื้นที่เล่นพนันอย่างเข้มข้น จึงควรไปแก้พ.ร.บ.การพนันที่ใช้มา 90 ปี ให้แข็งแรง ทันสมัย รองรับนโยบายพนันที่การเมืองอยากทำ โดยกำหนดโครงสร้าง หรือหน่วยงานควบคุมกำกับดูแลให้เข้มแข็ง สามารถออกพ.ร.บ.กาสิโน พ.ร.บ.พนันออนไลน์ ให้เป็น พ.ร.บ.ย่อย อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การพนันได้ 

“ไม่แน่ใจว่าการออกกฎหมายเรื่องนี้ ต้องการให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่ แต่การกำกับดูแลไม่เข้มแข็ง จะทำให้กลายเป็นพื้นที่กฎหมายถูกยกเว้นหลายฉบับ และพื้นที่พิเศษเฉพาะกลุ่มคนพิเศษ”

อ้างอิง

กรุงเทพธุรกิจ 1 / กรุงเทพธุรกิจ 2 / กรุงเทพธุรกิจ 3 / กรุงเทพธุรกิจ 4 /

 

related